เปิดแผน 1.1 ล้าน ล. “พลังงานสร้างชาติ”

เปิดแผน1.1ล้านล. พลังงานสร้างชาติž

กว่า 3 เดือนที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้สร้างผลกระทบกระเทือนเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 เหลือเพียง -8%

แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยจะลดลงเกือบ 100% แต่ผลกระทบต่อเนื่องยังมีอยู่ กระทั่ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังยอมรับว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ส่งผลให้คนไทยตกงานถึง 2 ล้านคนและกลุ่มนี้ต้องกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ถือเป็นโจทย์สำคัญที่หน่วยงานต่างๆ ต้องรับมือและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ล่าสุด สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการด่วนให้ ปลัดกระทรวงพลังงาน ข้าราชการ ผู้บริหารจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เครื่องมือด้านพลังงาน ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก็สำเร็จเกิดแผนที่เรียกว่า พลังงานสร้างชาติŽ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเร่งด่วนช่วง 3 ปี (2563-65) คาดการณ์มูลค่าลงทุนกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

แผนดังกล่าวแบ่งเป็น 5 คอนเซ็ปต์หลัก คือ พลังไฟฟ้าสร้างเศรษฐกิจ พลังงานทดแทนเพื่อทุกคน สร้างพลังชุมชน พลังเทคโนโลยีนวัตกรรม และเสริมพลังปิโตรเลียม

Advertisement

จากรายละเอียดตามแผน แบ่งการทำงานเป็น 3 ด้านหลัก คือ 1.ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 ดำเนินการแล้วในช่วงที่ผ่านมา วงเงินช่วยเหลือ 4.05 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจรเพื่อบริหารมาตรการลดค่าไฟฟ้า เช่น ลดค่าไฟฟ้าอัตรา 3%, ยกเว้นเก็บอัตราไฟฟ้าขั้นต่ำขยายถึงกันยายน 2563 ตรึงราคาแก๊สหุงต้ม 3,600 ล้านบาท ช่วยเหลือส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) รถสาธารณะ 600 ล้านบาท, แจกแอลกอฮอล์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ 90 ล้านบาท ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 50 สตางค์(สต.) ต่อลิตร มูลค่า 1,200 ล้านบาท ลดราคาน้ำมันอ้างอิงหน้าโรงกลั่น 50 สต.ต่อลิตร

2.เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงานระยะเวลา 3 ปี รวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2563 (ระยะเร่งด่วน) วงเงิน 2.03 แสนล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 4.57 แสนล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 4.57 แสนล้านบาท คาดว่าปีนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน

การลงทุนตลอด 3 ปี อาทิ เปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ประมาณ 8.29 แสนล้านบาท เริ่มดำเนินการแอลเอ็นจี ฮับ เร่งคลังแอลเอ็นจี ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท การขยายท่อน้ำมันตามโครงข่ายการพัฒนาพื้นฐาน สร้างคลังและอุปกรณ์น้ำมัน การยกระดับมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท เริ่มการลงทุนพัฒนากริด โมเดิร์นไนเซชั่น จัดตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานทดแทน ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และลงทุนพัฒนากริด คอนเนคทิวิตี้ขายไฟให้กัมพูชา เมียนมา เริ่มลงทุนการเชื่อมต่อสายส่งตามแผนการเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท

3.กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน โดย กฟผ.จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าและท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย

นอกจากนี้ กระทรวงพลังานได้เห็นชอบการจัดตั้งบริษัท Innovation Holding ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น 40%, บริษัท ราช กรุ๊ป ถือหุ้น 30% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้น 30% เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology ผลักดันการพัฒนา E-Transportation โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบและเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งได้ในปีนี้ทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 300 ล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.จะจัดลิฟวิ่ง คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต เพลส และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับบลู การ์ด

ขณะเดียวกันจะกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนผ่านโรงไฟฟ้าชุมชน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนแบบควิกวิน 100 เมกะวัตต์ วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ และเตรียมผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป 600 เมกะวัตต์ในระยะถัดไป รวมทั้งผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านประชาชน (โซลาร์ประชาชน) ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 50 เมกะวัตต์ การนำบล็อกเชนมาคุมบี 100 เพื่อผลักดันราคาปาล์มน้ำมันให้มีราคาสูงขึ้นระดับ 4-4.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นต่อแผนพลังงานสร้างชาติว่า การลงทุนช่วง 3 ปี มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่ดี มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการลงทุนช่วงที่เหลือของปีนี้ที่มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท เพราะเป็นการลงทุนที่มีแผนงานชัดเจน เน้นสร้างความมั่นคง และยังมีหลายโครงการที่เข้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงพลังงานพิจารณาช่วยเหลือลดรายจ่ายประชาชน และผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟ ก๊าซ และน้ำมัน จะยิ่งช่วยลดต้นทุน ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลง ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงที่โควิดส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน

เป็นอีกนโยบายแห่งความหวังที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างไทยให้มั่นคงอีกครั้ง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image