‘ป้ามล’ หารือ รมว.พม. ยื่นข้อเสนอทำงานเชิงรุก ช่วยเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ (คลิป)

‘ป้ามล’ หารือ รมว.พม. ยื่นข้อเสนอทำงานเชิงรุก ช่วยเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ (คลิป)

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 30 มิถุนายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วย นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิฯ และทีมนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เข้าพบนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. เพื่อหารือกรณีเด็กและเยาวชนถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงรุก มากกว่าตั้งรับ

นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ ได้รับข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานให้กับกระทรวงมาก จากองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านนี้มานาน ซึ่ง สิ่งสำคัญในการทำงานที่สุด ก็คือการทำงานร่วมกับผู้อื่น พม.มีภารกิจในการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในทุกมิติ วันนี้ได้ตกลงกันว่า เราจะเป็นเพื่อนที่ไร้พรมแดนสำหรับเหยื่อทั้งประเทศ องค์กรทุกภาคส่วน ก็จะผนึกกำลังกันเพื่อความถูกต้อง ทำงานเชิงรุกเข้าไปถึงโรงเรียนและชุมชน ได้วางแผนงาน 3 เดือน 6 เดือน เพื่อให้คนที่ยังไม่เป็นเหยื่อได้รู้สึกว่าเขามีเพื่อน หากประสบภัยจะมีอาวุธทั้งปัญญา จิตใจ อารมณ์ และควบคุมสถานการณ์ได้และเขาจะไม่เป็นเหยื่อ คนที่เป็นเหยื่อไปแล้วต้อง ก็ต้องมีความเข้มแข็งที่จะต่อสู้สร้างเกราะป้องกันให้กับรุ่นน้องว่าต้องไม่เป็นเหยื่อต่อไป บ้านทุกแห่งเป็นที่พักพิงและทำงานเชิงรุก

ขณะที่ นางทิชา ณ นคร กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับพม.ในเคสใหญ่ๆ พบว่าพม. เป็นด่านแรก เป็นจุดเริ่มต้นในการทวงคืนยุติธรรมให้กับเด็กๆ สิ่งสำคัญคือหลังจากที่เด็กย้ายเข้ามาบ้านพักแล้ว จะทำอย่างไรให้เด็กรู้ว่าไม่ใช่แค่หนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่ต้องนำไปสู่การทวงคืนความยุติธรรม และทำให้คนที่ละเมิดเด็กรู้ว่าเด็กไม่ได้มีไว้รังแก ต้องคุ้มครองเด็กได้จริง ให้บ้านพักเด็กทุกหลังรับมือให้ได้ เพราะนี่เป็นปัญหาที่ยังไม่จบ แต่ซ่อนอยู่ใต้พรม พม.ไม่ควรจะตั้งรับเพียงอย่างเดียว ซึ่งวันนี้ทางรัฐมนตรีก็รับปากและให้ความร่วมมืออย่างดี มอบหมายให้กับหน่วยงานต่างๆ และตั้งคณะทำงานต่อไป จากกรณีที่เราไปทำกระบวนการหลังจากเด็กถูกทำร้ายไปแล้ว ทั้ง คดีที่แม่ฮ่องสอน หรือ เกาะแรด พังงา วันนี้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจที่สำคัญ ผ่านจดหมายที่เขียนถึงน้องที่มุกดาหาร ให้ต่อสู้ต่อไป

นางทิชา เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศกรณีมุกดาหาร กำลังอยู่ในขั้นตอนของการย้ายไปสู่บ้านพักเพื่อเข้าคุ้มครองพยานของกระทรวงยุติธรรม

Advertisement

ทั้งนี้ มูลนิธิได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1. ให้เร่งยกระดับการทำงานเชิงป้องกันปัญหาและความรุนแรงทางเพศเป็นการทำงานเชิงรุก และให้พม.เป็นเจ้าภาพบูรณาการในหน่วยงานต่างๆ ในการสอดส่อง คัดกรอง เฝ้าระวัง

2. ให้กระทรวงฯ มีนโยบาย สนับสนุนการเรียนรู้และปฏิบัติงานร่วมกัน ข้ามองค์กรหรือศาสตร์ ให้เอกชน หรือผู้มีความรู้ได้ร่วมออกแบบและพัฒนาระบบการทำงานแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ

และ  3. ให้กระทรวงเร่งออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กในกรณีความรุนแรงทางเพศ ที่เด็กเป็นผู้เสียหาย

นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image