‘เปิดโกดัง’ ฟังเสวนา อุดมการณ์ พลวัต สัญลักษณ์ ‘ปฏิวัติสู่ประชา-ธิปไตย’

‘เปิดโกดัง’ ฟังเสวนา

อุดมการณ์ พลวัต สัญลักษณ์

‘ปฏิวัติสู่ประชา-ธิปไตย’

เปิดโกดังไปแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน สำหรับ สำนักพิมพ์มติชน ที่ชวนร้องว้าววไปกับความ Wonder ณ มติชนอคาเดมี กับงาน ‘เปิดโกดัง Book Wonder’ž ซึ่งมีนักอ่านเดินเท้าเข้าร่วมคึกคักตั้งแต่เช้าจรดค่ำภายใต้มาตรการคัดกรองและป้องปรามการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าพื้นที่ ให้บริการเจลล้างมือ รวมถึง ‘แจกบัตรคิว’ž ให้เข้าจับจ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 50 คน ซึ่งผู้ร่วมงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยนั่งรออย่างใจจดจ่อพร้อมเล็งเล่มที่หมายตาไม่ให้พลาด

Advertisement

นอกจากหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การเมือง การต่างประเทศ นิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมแปล และอีกมากมาย ไฮไลต์ ยังมีชุด หนังสือหายาก ผลงาน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชุดหนังสือหายากของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร, หนังสือในโปรโมชั่นพิเศษ ชุด 3 หนังสือการเมืองเล่มใหม่ ประจำ
เดือนมิถุนายน โดยลดราคาสูงสุดถึง 75% รวมถึงหนังสือราคาพิเศษเริ่มต้นเพียง 10 บาท

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงบ่ายของวันปฐมฤกษ์เบิกโกดัง ยังมีเสวนาน่าฟัง ‘ปฏิวัติสู่ประชา-ธิปไตย’ž เนื่องในการเปิดตัวหนังสือ ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร, ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร และ When We Vote 3 เล่มการเมืองไทย-อาเซียน ณ ร้านเบรนเวค คาเฟ่ สาขามติชนอคาเดมี
โดยมีพิธีดังอย่าง ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ดำเนินรายการ

รัก-ชัง ข้างหลังภาพž
ตามรอย (อุดมการณ์) อาทิตย์อุทัยž

Advertisement

เปิดประเด็นที่ ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งสวมเฟซชิลด์มาร่วมวงสนทนาในฐานะผู้เขียน คำนิยมž (อีกแล้ว) ในเล่ม ตามรอยอาทิตย์อุทัย ผลงาน ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง

ก่อนไปถึงประเด็นอื่นใด เจ้าพ่อคำนำ เล่าจุดเริ่มต้นการก้าวสู่ยุทธจักรคำนำว่าจรดปากกาเขียนคำนำครั้งแรกในชีวิตจากการชักชวนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เขียนไปเขียนมาเงยหน้ามาอีกที ก็กลายเป็นงานถนัดถึงขนาดมีหนังสือรวมเล่มคำนำเป็นของตัวเองแล้ว แม้จะขายไม่ค่อยดี (ฮา)

และต่อคำถามที่ว่า คุณูปการใดของ ตามรอยอาทิตย์อุทัย ที่คนไทยต้องอ่าน

“ใครจะไปเที่ยวญี่ปุ่นควรอ่านŽ”

เป็นคำตอบที่ ดร.ศิโรตม์ พร้อมด้วยสักขีพยานที่รายล้อมวงสนทนาต้องขอฟังซ้ำ เพราะด้วยความเข้มข้น แน่นหนักของหลักฐานซึ่งผ่านการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลถึง 10 ปีเต็มของ ผศ.ดร.ณัฐพล เหตุใดนักประวัติศาสตร์อาวุโสจึงคอมเมนต์เป็นท่องเที่ยวเสียได้


“ในประวัติศาสตร์ย่อมมีทั้งรักทั้งชัง ควรอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อให้รู้ ‘ข้างหลังภาพž’ เซลฟี่ของตนเองเวลาเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น” Žคือคำอธิบายที่ตามมา ก่อนกล่าวชื่นชมว่า ผศ.ดร.ณัฐพลศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้งมาก เป็นหนังสือวิชาการที่คนทั่วไปสามารถอ่านได้ เหมาะแก่การอ่านก่อนเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ‘หลังการล่มสลายของวิกฤตไวรัสโควิด-19ž’

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์บอกว่า เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ พบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศในเอเชียที่คนไทยสยามชื่นชมมาก ตั้งแต่ในยุคที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งชนชั้นนำในช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยทำคำกราบบังคมทูลว่าควรมีการปฏิรูปการปกครองแบบญี่ปุ่น ต่อมาในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรก็สนับสนุนให้ปัญญาชนหลายรายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา

“คนไทยสยามประทับใจญี่ปุ่นมาก มีญี่ปุ่นเป็นแม่แบบในหลายๆ ด้าน ย้อนไปในอดีต ไทยอยู่ในกระแสของโลก สมัยหนึ่งที่อินเดียเป็นมหาอำนาจ ก็เกิดภารตภิวัฒน์ อีกด้านคือจีน เกิดจีนาภิวัฒน์ พอฝรั่งขึ้นมาก็เป็นอัสดงคตภิวัฒน์ในยุคควีนวิกตอเรีย ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 จากนั้นเมื่อญี่ปุ่นผงาดขึ้นมา ไทยสยามก็ได้อิทธิพลญี่ปุ่น ตั้งแต่ยุค 2475 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแสญี่ปุ่นแรงมาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2485 การทูตไทยเป็นตัววัดว่าใครเป็นมหาอำนาจของโลก ใครมีอำนาจเราก็ไปอิงกับเขาŽ”

อดีตอธิการรั้วแม่โดมยังเชื่อว่า ไม่มีประเทศใดในโลกจะมีนิยายอย่าง ‘คู่กรรม’ž ซึ่งเป็นเลิฟสตอรี่ที่เกิดไม่ได้ในประเทศอื่น นอกจากคนไทยชอบญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็ชอบคนไทยมาก แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าใประวัติศาสตร์ย่อมมีทั้งรักทั้งชัง การเรียนรู้ข้างหลังภาพจึงสำคัญ

นอกจากนี้ ยังเปิดใจว่า ชีวิตที่ผ่านมาเกือบ 80 ปี ค้นพบว่าที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 คือ แมกนา คาร์ตาž ของไทยไม่ใช่ศิลาจารึกหลักใดในประวัติศาสตร์

สถาปัตย์คณะราษฎร สัญลักษณ์การเมืองร่วมสมัย
สปอตไลต์หลังรัฐประหาร 49


“สถาปัตยกรรมเป็นเหรียญอีกด้านของการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นโดยรัฐŽ”

คือคำกล่าวของ รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เจ้าของผลงานพิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ‘ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ž อีกหนึ่งวิทยากรร่วมสนทนา ซึ่งดร.ศิโรตม์ย้ำหลายรอบว่าเป็นวงเสวนาเปิดตัวหนังสือ ไม่ใช่เสวนาทางการเมืองแต่อย่างใด ก่อนตามมาด้วยมุขพ็อกเก็ตบุ๊กส์เที่ยวถนนราชดำเนินและเช็คอินโลเกชั่นสถาปัตย์คณะราษฎร ดังเช่นเที่ยวแดนอาทิตย์อุทัยเรียกเสียงฮาอีกระลอก

ก่อนหลุดจากถนนราชดำเนินไปออกทะเล รศ.ดร.ชาตรีเล่าว่า ตนรวบรวมข้อมูลเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ต่อมาพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2551 โดยศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ในครั้งนั้นยังคิดว่าจะขายได้หรือไม่ เพราะคนไม่ค่อยรู้จักคณะราษฎร โดยศิลปะและสถาปัตยกรรมในกลุ่มนี้ในวงการรวมถึงตำราเรียนจะเรียกว่า ‘สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ž’ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองร่วมสมัยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ มีการเพิ่มเติมบทความจำนวน 4 ชิ้น อธิบายชะตากรรมของศิลปะสถาปัตยกรรมในกลุ่มนี้ว่าเป็นอย่างไร

“ถ้าย้อนไปในการพิมพ์ครั้งแรก สถาปัตยกรรมคณะราษฎรยังไม่ได้เป็นสนามต่อสู้ทางการเมือง แต่ตึกกลุ่มนั้นคนรู้จักมานาน ในฐานะสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สถาปนิกยุคแรกที่ไปเรียนจบจากเมืองนอกกลับมาสร้าง ในตำราเรียนก็ยังเรียกว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เดิมความสนใจของผมเองในตอนนั้นก็ยังไม่เกี่ยวกับคณะราษฎร แต่พอค้นคว้าเอกสารชั้นต้น ก็เจอแต่คณะราษฎร เจอเรื่องหลวงวิจิตรวาทการให้ไอเดียต่างๆ เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่มบทความที่เขียนอธิบายถึงในประเด็นหลังรัฐประหาร 2549 ซึ่งทำให้ศิลปะสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้ถูกดึงเข้าสู่สปอตไลต์ทางการเมือง จึงเกิดปรากฏการณ์ต่างๆŽ”

นักวิชาการท่านนี้ ได้ไขปมปริศนาว่าเหตุใดขณะนี้คณะราษฎร
จึงถูกปลุกคืนชีพในการเมืองร่วมสมัย แทนที่ ‘เดือนตุลา’ž

“ผมมองว่ารัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ 2 ประการ 1.ทำให้ประวัติศาสตร์คนเดือนตุลาและพฤษภาค่อยๆ เลือนหายออกจากการเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะแกนนำของเหตุการณ์กลับเข้าไปเห็นชอบกับรัฐประหาร 2549 ชี้ว่าไม่มีความคงเส้นคงวาของอุดมการณ์ 2.คนต้านรัฐประหาร 2549 ต้องการโมเดลใหม่ที่ขยับออกจาก 14 ตุลา จึงย้อนไปหาคณะราษฎร ในขณะที่ก่อนหน้านั้นเวลาคนจะเรียกร้องอะไรก็ย้อนไปถึงแค่เดือนตุลาเท่านั้นŽ รศ.ดร.ชาตรีเล่ายาว ไม่มีสะดุด

แน่นอนไม่พลาดประเด็น ‘หมุดคณะราษฎร’ž ซึ่งเจ้าตัวชวนย้อนมองภาพในอดีตก่อนรัฐประหาร 49 ว่าเวลาจัดงานรำลึก ก็มีเพียงกลุ่มเล็กๆ และเป็นแนวรำลึกความหลัง แต่หลังรัฐประหารกลายเป็นการรำลึกโดยมีนัยยะทางการเมือง

When We Vote พลวัตประชาธิปไตย
เพื่อนบ้านž ชิดใกล้ที่ไม่คุ้นเคย

มาถึง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรตี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เขียน ‘When We Vote พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียนž’ ผู้ได้รับฉายาอย่างไม่เป็นทางการว่า โอปป้าแห่งวงการรัฐศาสตร์ž

เริ่มต้นด้วยการบอกว่า ผลงานของตนเที่ยวได้ถึง 3 ประเทศ ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น หรือสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในประเทศไทย พูดง่ายๆ ว่า งานนี้มีปล่อยมุขข่มเบาๆ เรียกเสียงหัวเราะครื้นเครงภายใต้หน้ากากอนามัย ก่อนเข้าสู่โหมดจริงจัง อย่างแรงบันดาลใจในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ที่มาจากการพูดคุยกับนักวิชาการประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความรู้ในการเมืองไทยดีมาก รู้จักตัวละคร นักการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดง ทักษิณ และกองทัพ จนทำให้รู้สึกทึ่ง ในขณะที่เมื่อคุยเรื่องการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน นักวิชาการไทยเงียบ!

“เรารู้เรื่องการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านน้อย คนไทยอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ในประเทศเพื่อนบ้านมีหนังสือภาษาอินโด มาเลย์ ฟิลิปปินส์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทยเยอะมาก ผมพยายามหาหนังสือการเมืองอาเซียนภาษาไทยพบว่าเล่มสุดท้ายที่เขียนในภาพรวม คือผลงานของ อาจารย์สีดา สอนศรี และคณะเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ผมเคยมีอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งบอกให้ไปอ่านการเมืองฟิลิปปินส์แล้วจะเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งจริง และหลายอย่างก็เทียบเคียงกับอินโดนีเซียและมาเลเซียได้ ช่วงก่อนปี 2540 มีการเทียบไทยกับฟิลิปปินส์ ว่าเป็นคู่แฝดทางการเมือง กล่าวคือ มีระบบอุปถัมภ์แน่นหนา มีการซื้อเสียง พรรคการเมืองอ่อนแอแต่หลังการปฏิรูปการเมืองใน พ.ศ.2540 คนบอกว่าการเมืองไทยเป็นโมเดล นักวิชาการฟิลิปปินส์อิจฉาเราได้ 6-7 ปี แต่ตอนนี้ไม่อิจฉาแล้ว เพราะเราย้อนยุคไปก่อนปี 40 (หัวเราะ)Ž”

ผศ.ดร.ประจักษ์ยังเพิ่มเติมว่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศนี้มีพลวัตน่าสนใจ มีแง่มุมที่นำมาเรียนรู้ได้ มาเลเซียน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเกิดสึนามิทางการเมือง มีการปฏิวัติผ่านคูหาเลือกตั้ง เป็นโมเดลที่น่าสนใจ คนคิดว่าการเมืองในระบบไม่มีน้ำยา แต่มาเลเซียชี้ให้เห็นว่าทำได้ ถ้าฝ่ายค้านผนึกภาคประชาสังคม

“หนังสือเล่มนี้ไม่ดูการเลือกตั้งแค่เทคนิควิธีการ แต่ดูพลวัตสังคม การเปลี่ยนแปลง ทำไมประชาธิปไตยมีพลวัต การเลือกตั้งก็เหมือนสนามแข่งขัน”Ž

ไม่เพียงเท่านั้น ยังตบมุขปิดท้ายอย่างมีสาระ เทียบเคียงความอดทนระหว่าง แฟนหงส์ž กับชาวมาเลย์ ว่าประชาชนชาวมาเลเซียสู้เพื่อประชาธิปไตย มีความอดทนมายาวนานกว่าแฟนลิเวอร์พูล

“แฟนลิเวอร์พูลอดทน มีความภักดีต่อทีมของเราสูง 30 ปี หรือ 3 ทศวรรษ แต่มาเลเซียอดทนรอการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาอย่างยาวนานกว่า คือรอมานานถึง 60 ปี กว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองแบบพรรคเดียวผูกขาดได้ หรือถ้าไม่ต้องย้อนไป 60 ปี นับเฉพาะขบวนการที่มีการปฏิรูปทางการเมืองที่มีอันวาร์ อิบราฮิม มีคนรุ่นใหม่ที่มาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็เป็นเวลาประมาณ 20 ปี กว่าจะมาพลิกในการเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้น มันเป็นบทเรียนว่าเวลาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมที่มีการคุมอำนาจมาอย่างยาวนาน มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ในเวลาอันสั้น เพราะต้องไปรื้อถอนหลายอย่าง ต้องใช้ความอดทน ซึ่งชาวมาเลเซียก็ทำสำเร็จ จนกระทั่งปีล่าสุด ในแง่ดัชนีเสรีภาพสื่อ กลายเป็นว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่เมื่อก่อนสถานการณ์เลวร้ายมากในด้านการปราบปราม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ พอเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจะเห็นว่าดัชนีหลายๆ อย่างดีขึ้น”Ž ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว โดยไม่ลืมบอกว่า นอกจากประชาธิปไตยใน 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีการเขียนถึงพลวัตประชาธิปไตยในไทยอีก 1 บทด้วย

เป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ดีๆ ที่ มติชนž เสิร์ฟเป็นอาหารสมองให้ย้อนมองอดีต พินิจปัจจุบัน คาดการณ์อนาคตของโลกและสังคมไทยในห้วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงในทุกวินาที

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image