“วัน อยู่บำรุง” กังขาตั้งงบฯ สำรองฉุกเฉินเกินแสนล้านทุกปี ผลพวงรปห.

แฟ้มภาพ

“วัน อยู่บำรุง” กังขาตั้งงบฯ สำรองฉุกเฉินเกินแสนล้านทุกปี ผลพวงรปห.

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 30 มิถุนายน นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) ไลฟ์อภิปรายงบประมาณนอกสภาผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า การเขียนงบประมาณปี 2564 รัฐบาลกำหนดว่าต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก เพราะไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก และพิสูจน์กันแล้วว่าไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดได้เลย ดังนั้น ตนขอตั้งชื่องบฯฉบับนี้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณฉบับ แอ็ปนอมัล ที่แปลว่าผิดปกติ จำเป็นต้องปรับปรุงเร่งด่วน เพราะไปยึดเอาแนวทางของยุทธศาสตร์ 20 ปีมาเขียนงบประมาณ

ซึ่งต้นไม้ที่มีพิษผลของมันย่อมเป็นพิษด้วย เมื่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่เหมาะกับประเทศไทย พ.ร.บ.งบประมาณที่เกิดจากการยึดแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่เหมาะด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ได้ตั้งงบฯรายจ่ายประจำไว้ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งงบฯของปีหน้าจะแย่ มีรายได้ น้อยกว่ารายจ่ายจึงต้องงบฯขาดดุล แต่งบฯ 64 ขาดดุลสูงกว่า 6.2 แสนล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

โดยเพิ่มจากงบฯ 63 ถึงร้อยละ 32.8 ซึ่งเยอะมาก ขณะที่งบฯปี 63 ตั้งงบฯขาดดุลเพิ่มจากปี 62 เพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น ขณะที่รัฐบาลมีหนี้รวมกว่า 6.6 ล้านล้านบาท เทียบประชากรไทยจำนวน 66 ล้านคนเท่ากับเรามีหนี้คนละแสนบาทแล้ว ส่วนงบกลางก็ตั้งสูงถึงกว่า 6 แสนล้านบาท ปี 63 มีงบฯกลาง 5 แนว่าล้านบาท รัฐบาลก็ใช้จ่ายมือเติบจนหมดโดยที่ชาวบ้านแทบไม่รู้ว่าเอาไปใช้อะไรบ้าง แล้วงบฯกลางปี 64 ถือเป็นงบฯกลางที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปีด้วย ส่วนเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำนวน 9.9 หมื่นล้านบาทนั้น

ตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นงบฯที่ใช้กับความไม่แน่นอนในอนาคต รัฐสภาไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ดังนั้น ตนขอเสนอว่า ไม่ควรตั้งเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินมากเกินไป รัฐบาลควรใช้วิธีการเพิ่มงบฯตามวิธีปกติ เช่น การเสนอพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมต่อรัฐสภา เพราะวิธีนี้จะทำให้เกิดความโปร่งใส

Advertisement

พี่น้องประชาชนที่เสียภาษีจะได้รับทราบรายละเอียด ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า เงินสำรองจ่ายนี้ ตั้งแต่มีรัฐบาลที่เป็นพวงของคณะรัฐประหารการตั้งงบฯนี้สูงมาก จำนวนกว่าแสนล้านบาททุกปี ทั้งที่รัฐบาลก่อนๆหน้านี้ ไม่เคยตั้งสูงขนาดนี้

“การจัดทำงบฯควรสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข และเศรษฐกิจเป็นหลัก ควรปรับลดงบฯในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง และชะลอโครงการบางโครงการออกไปได้ รวมถึงควรปลับลดงบฯของกระทรวงที่ได้มากจนเกินไป เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมที่เอาเงินไปซื้อยุทธโธปกรณ์ที่อยากถามว่าจะเอาไปรบกับใคร” นายวัน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image