จร.ลุยสร้างรับรู้ประโยชน์ “อาร์เซ็ป”เผย15ชาติดันลงนามพ.ย.นี้  สมาชิกซีพีทีพีพีถก 5 ส.ค.ไร้ชื่อไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงบประมาณปี 2564 โดยยังคงเดินหน้าภารกิจการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในกรอบการเจรจาที่ดำเนินการอยู่ อาทิ  ไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา ความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (บิมสเทค)  รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาเซียน+6(อาร์เซ็ป)ซึ่งในเดือนกรกฎาคม เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจผลการเจรจาอาร์เซ็ปให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับ และคาดว่า สมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ยกเว้นอินเดีย) จะขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ครบ 20 บท[1] และประเด็นปลีกย่อยการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนที่ยังค้างอยู่

เบื้องต้นจัดสัมมนาทั้งแบบออนไลน์ และจัดสัมมนาแบบเชิญผู้เข้าร่วมมาฟังและซักถามในห้องสัมมนาแบบพบปะกันจริงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อปูความเข้าใจในเรื่องอาร์เซ็ป สาระสำคัญของการเจรจาอาร์เซ็ป การเตรียมเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการเจรจา การให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบการค้าในอาร์เซ็ป เช่น กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น จากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร SMEs และภาคประชาสังคม ร่วมเป็น โดยจะรวบรวมและเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอร่างความตกลงอาร์เซ็ปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงเดือนตุลาคมนี้  เพื่อขอความเห็นชอบการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ที่จะมีขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ   ถึงแม้อินเดียจะยังไม่เข้าร่วมความตกลงอาร์เซ็ป แต่ในภาพรวมอาร์เซ็ป (15 ประเทศ) ยังถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

นางอรมน กล่าวว่า นอกจากนี้จะขอจัดสรรงบเพื่อการศึกษาและเตรียมพร้อมในกรอบที่อาจดำเนินการเจรจาในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย(EAEU) อาเซียน-สหภาพยุโรป ไทย-สหภาพยุโรป  ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป(EFTA) ไทย-บังคลาเทศ ไทย-ยูเค ไทย-ฮ่องกง   และซีพีทีพีพี ซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมาธิการอยู่ระหว่างดูรายละเอียด ส่วนกรมฯ จะติดตามผลการประชุมของสมาชิกซีพีทีพีพี 11 ประเทศ ที่ได้นัดประชุมในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ว่าจะมีประเทศใดที่เสนอขอเข้าเจรจาบ้าง และสมาชิกซีพีทีพีพี มีข้อสรุปในประเด็นใดบ้าง  ขณะที่เดียวกันในปีหน้าก็จะมีการทบทวนการเพิ่มเปิดเสรีการค้า บริการ และกฎระเบียบต่างๆในเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ รวม 13 สัญญา

“ จากหลายประเทศคลายล็อกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และหลายประเทศสามารถดูแลได้ดี ก็จะเริ่มเปิดการเจรจาในประเทศคงค้าง แม้ไม่มีการเดินทางไปพบปะกันโดยตรง แต่ก็จะมีการประชุมทางไกล เพื่อให้การค้าระหว่างกันเดินหน้าต่อไป ไทยก็จะใช้โอกาสนี้ทำการศึกษาและเปิดรับฟังความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนเพื่อใช้ในการเจรจาทบทวนในกรอบที่ไทยเปิดเสรีอยู่แล้ว หรือ ที่มีเป้าหมายจะหารือกันต่อไป ส่วนประเด็นที่เป็นความกังวลหรืออุปสรรค รัฐบาลก็เห็นชอบท่าจะจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อช่วยลดความเดือดร้อนจากเปิดเสรี ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างพรบ.กองทุนหมุนเวียนและให้เอกชนแสดงความคิดเห็น ที่จะเริ่มจัดสัมมนาในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเปิดเสรีการค้าทำให้การค้าไทยขยายตัวได้มาก หลายประเทศสร้างรายได้จากส่งออกถึง 60% ของการค้าทั้งระบบ “นางอรมน กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น่าจะชัดเจนมากขึ้น ว่าไทยจะไม่ได้เสนอชื่อต่อซีพีทีพีพีในการขอเข้าเจรจากับสมาชิกซีพีทีพีพี 11 ประเทศ หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมสมาชิกซีพีทีพีพีออกไป 60 วัน เนื่องจากกรอบเดิมจะครบกำหนดแล้วต้นเดือนก.ค.นี้ และ 60 วันก็จะเลยวันที่สมาชิกซีพีทีพี นัดถกกันในวันที่ 5 สิงหาคมนี้  นั่นหมายถึงไทยจะมีโอกาสยื่นครั้งต่อไปในปี 2564

สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป 20 บท ได้แก่ 1. บทนำและคำนิยามทั่วไป 2.การค้าสินค้า 3. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงภาคผนวกว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า4. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6. มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง 7.การเยียวยาทางการค้า 8. การค้าบริการ รวมถึงภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ 9. การเคลื่อนย้ายชั่วคราวของบุคคลธรรมดา 10. การลงทุน 11.ทรัพย์สินทางปัญญา 12. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์13. การแข่งขันทางการค้า 14.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 15. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ 16. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 17.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น   18. บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน 19.การระงับข้อพิพาท และ 20.บทสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image