ศาล-คุมประพฤติหารือ’เมนูความดี’ให้บริการสังคมตามทักษะ ความสามารถแทน’ค่าปรับ’ นำร่อง 10 ศาล

‘เมทินี’รองปธ.ศาลฎีกาคุย’คุมประพฤติ’ถึง’เมนูความดี’ขับเคลื่อนนโยบายยกระดับทำงานบริการสังคมเเทนค่าปรับให้มีประสิทธิภาพ เกี่ยวความผิดที่ทำ เหมาะความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่แค่กวาดถนนให้พ้นๆไป ผุด10ศาลนำร่องขยายเครือข่ายงาน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ศาลฎีกา นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ประธานที่ปรึกษาคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน,นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติได้ประชุมหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการใช้มาตรการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับให้แพร่หลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อดำเนินงานตามดำรินาย ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ภายใต้โครงการ “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น”

โดยทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาร่วมกันถึงการขยายภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่างๆรองรับการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับของจำเลยตามคำสั่งศาลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับทักษะความสามารถของจำเลยแต่ละคนโดยสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศจะได้ประสานกับศาลยุติธรรมในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้จำเลยไม่ต้องถูกกักขังเพียง เพราะไม่มีเงินชำระค่าปรับทั้งยังส่งผลให้จำเลยสำนึกในความผิดของตนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อเป็นการพัฒนามาตรการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นศาลยุติธรรมและกรมคุมประพฤติจะร่วมมือกันจัดโครงการนำร่องเพื่อแสวงหารูปแบบการใช้มาตรการที่สมบูรณ์และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ

นางเมทินีได้เปิดเผยความคืบหน้าภายหลังประชุมว่า ได้ประสานความร่วมมือกับทางกรมคุมประพฤติซึ่งจะมีสำนักงานคุมประพฤติอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งกรมคุมประพฤติจะมีการหาเครือข่ายในเรื่องมาตรการที่จะทำงานบริการสังคมเเทนโทษค่าปรับเเบบมีประสิทธิภาพ และมีความหลากหลาย สิ่งนี้จะทำให้จำเลยที่จะต้องทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับเลือกงานได้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความชำนาญ อย่างเช่นถ้ามีการหาเครือข่ายในโรงพยาบาล และสามารถส่งผู้ถูกโทษค่าปรับ อย่างคดีเมาเเล้วขับชนคนบาดเจ็บไปทำงาน ก็จะทำให้ผู้กระทำผิดได้เห็นสภาพของคนเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ อาจทำให้มีความสำนึกขึ้นมาได้

Advertisement

หรือบางกรณีผู้ที่กระทำผิดอาจจะมีความสามารถทางด้านภาษาหรือแปลเอกสาร ก็อาจไปทำงานบริการสังคมที่ถนัดได้ หรืออาจเก่งด้านดนตรีเล่านิทานก็อาจไปทำงานตามบ้านพักคนชราหรือบ้านพักเด็ก หรือความผิดเกี่ยวกับสิ่งเเวดล้อมก็ไปทำกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับปลูกป่า ไม่ใช่แต่เพียงว่าทำความผิดอะไรก็จะต้องไปกวาดถนนซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะความชำนาญเสมอไป

นางเมทินีกล่าวว่า ถ้าคนกระทำผิดได้ทำงานบริการสังคม เกี่ยวกับความผิดที่ตัวเองทำหรือได้ใช้ความสามารถที่ตัวเองถนัดจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยจากที่มีการคุยกับกรมคุมประพฤติพบว่า ทางกรมฯในเขตกรุงเทพฯมีเครือข่ายที่จะให้ผู้ทำงานบริการสังคมไปทำงานอยู่หลายอย่าง เเต่ในต่างจังหวัดยังมีไม่มากพอต่อความต้องการหรือทักษะของจำเลยได้มากเพียงพอ การที่เราทำความร่วมมือประชุมทั้งนี้ก็เพื่อที่จะหาเครือข่ายหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยนายวิตถวัลย์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เเละคณะได้จัดทำเมนูความดี โดยเเบ่งเป็นประเภทงานในลักษณะต่างๆเพื่อให้จำเลยสามารถเลือกงานที่ถนัด เเละศาลก็จะใช้ดุลพินิจได้ในการมีคำสั่งในเรื่องการทำงานสาธารณประโยชน์ได้กว้างมากขึ้น เรื่องนี้กรมคุมประพฤติได้ให้สำนักงานเเต่ละจังหวัดทำรายการในเเต่ละจังหวัดถึงเครือข่ายงานที่จะส่งจำเลยไปทำ เเค่จะมีลักษณะงานมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพในแต่ละจังหวัด เเละก็รายงานให้ทางศาลทราบ หากเมื่อมีจำเลยร้องขอทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับศาลก็จะดูรายการตามที่กรมคุมประพฤติส่งมาแล้วสอบถามจำเลย หากจำเลยยินยอมและศาลเห็นว่าเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่จำเลยจะได้รู้สึกในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมศาลก็จะมีคำสั่ง กรมคุมประพฤติก็จะมีหน้าที่ดูแลและรายงานให้ศาลทราบว่ามีการทำงานบริการสังคมครบตามคำสั่งศาลแล้วหรือไม่

นางเมทินีกล่าวว่า ตอนนี้ได้วาง 10 ศาลต้นเเบบซึ่งเป็นศาลขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทางคดี มีทั้งคดียาเสพติด คดีหมิ่นประมาท คดีอื่นๆ คือ กรุงเทพมหานครที่ศาลอาญา ,ศาลในเขตสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ,ศาลจังหวัดนนทบุรีภาค 2 ,ศาลจังหวัดชลบุรีภาค 3 ,ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีภาค 4 ,ที่ศาลจังหวัดอุดรธานีภาค 5 ,ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ภาค 6 ,ที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกภาค 7 ,ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ,ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและที่ ศาลจังหวัดสงขลา และกรมคุมประพฤติจะทำแบบตัวชี้วัดเพื่อเก็บข้อมูลสถิติเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหนและได้ตอบสนองความต้องการของทั้งศาลและจำเลยจนครบถ้วนและได้ประโยชน์รอบด้านแล้วหรือไม่

Advertisement

“เราไม่ได้อยากให้เขาทำงานไปกวาดถนนเพื่อให้พ้นๆไป เราอยากให้มีงานที่มีความสร้างสรรค์เกิดผลงานในทางความเป็นจริงเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเรายังอยากให้งานที่ทำนั้นมีผลในเรื่องของการกล่อมเกลา อย่างคนที่ขับรถประมาททำคนบาดเจ็บเขาได้ไปเห็นสภาพในโรงพยาบาล นอกจากตัวเขาจะไม่ต้องไปทุกคุมบังจำกัดสิทธิเสรีภาพแล้วตัวเขาจะได้มีโอกาสเเสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเเละได้ตะหนักรู้ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อการกระทำความผิด และมีสติในการกระทำที่จะคิดถึงส่วนรวมไม่กระทำความผิดซ้ำ มันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่ใช่แค่เขาไม่ถูกคุมขังอย่างเดียว “ รองประธานศาลฎีกากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image