‘พช.’ ประกาศความสำเร็จ ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงอาหาร 12.5 ล้านครัวเรือน เผย 18 จว.ปลูกครบ 100 % เดินหน้าต่อเฟส 2 เข้มข้น
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พช.ได้ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ โดยประกาศเป็นปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน ในช่วงวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 มีครัวเรือนเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 12.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่ามีพี่น้องประชาชนทั่วประเทศร่วมปลูกผักสวนครัวถึง 12,573,072 ครัวเรือน คิดเป็น 96.89% ยิ่งไปกว่านั้นมีถึง 18 จังหวัดจากทุกภาคปลูกครบ 100% ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ตาก อุบลราชธานี พัทลุง สุโขทัย อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สกลนคร ชัยภูมิ ตราด บึงกาฬ เพชรบุรี มุกดาหาร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา และภูเก็ต
“จากผลตอบรับแผนปฏิบัติการ 90 วันในเฟสแรก มีครัวเรือนจากทั่วประเทศเข้าร่วม แสดงให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนที่ร่วมปลูกผักสวนครัวได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้มีผักกินเองในบ้านโดยที่ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก ประหยัดรายจ่าย เท่ากับเพิ่มรายได้ คิดง่ายๆ ว่า จำนวน 12 ล้านครัวเรือนประหยัดเงินจากการซื้อผักครัวเรือนละ 50 บาท เท่ากับประหยัดเงินได้ 600 ล้านบาท/วัน 18,000 ล้านบาท/เดือน รวมแล้วประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านบาท/ปี หากมีมากก็แบ่งปันกันระหว่างเพื่อนบ้าน ระหว่างคนในชุมชน และเมื่อเป็นผักที่ปลูกเองก็จะระมัดระวังเรื่องสารเคมีต่างๆ กลายเป็นพืชผักปลอดภัยที่เสริมสร้างสุขภาพร่างกายอีกด้วย”นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ผลสำเร็จของเฟสแรก พช.จึงมองไปข้างหน้าที่จะต่อยอดให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนโดยจะขับเคลื่อนกิจกรรมปลูกผักต่อด้วยการดำเนินงาน “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน ดำเนินการขับเคลื่อนระหว่าง 1 กรกฎาคม – 5 ธันวาคม 2563 โดยยังคงยึดหลักการดำเนินการในระยะที่ 1 คือ จะพัฒนาใครเขาต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ผู้นำต้องทำก่อน ผนึกกำลัง ตั้งระบบ ทำให้ครบวงจร ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน และสร้างเครือข่ายขยายผล เป็นแนวทางขับเคลื่อนที่เข้มแข็งและประสบผลสำเร็จแล้ว สำหรับเป้าหมายในเฟส 2 จะยิ่งเข้มข้นกว่าเฟสแรก เพราะต้องการให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงในทุกชุมชน เริ่มจาก “ความต่อเนื่องคือพลัง” ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ปลูกอยู่แล้วให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และปลูกพืชผักเพิ่มเติมจากเดิม รวม 10 ชนิด “ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม” ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เช่น มะนาว กล้วย มะละกอ เป็นต้น เพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม “ชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนสีเขียว “จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม” ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผักอาหารรักษ์สุขภาพ อาหารรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นบ้าน นำไปสู่ “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” เกิดชุมชนเกื้อกูล สามารถดูแล ช่วยเหลือ และแบ่งปันจัดตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์หรือต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ
อธิบดีพช.กล่าวว่า จากพลังของพี่น้องประชาชนที่สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขความสำเร็จของเฟสแรก พช.จึงได้ตั้งเป้าหมายของเฟสสองเอาไว้ที่ร้อยละ 90 ของครัวเรือนในหมู่บ้านปลูกพืชผักสวนครัวอย่างน้อยคนละ 10 ชนิด มีกลุ่มผลิตหรือแปรรูปหรือจำหน่ายพืชผักอย่างน้อยตำบลละ 1 กลุ่ม รวมไปถึงร้อยละ 90 ของครัวเรือนที่ปลูกพืชผักทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีกิจกรรมเชิงนวัตกรรมและศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์ทุกตำบล การขับเคลื่อนครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงในทุกชุมชนทั่วประเทศ ทำให้พี่น้องประชาชนมีพืชผักปลอดภัยไว้กินเอง และแบ่งปัน รวมถึงขยายผลต่อยอดสร้างรายได้ และสิ่งสำคัญคือเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในประเทศไทย