เงินเฟ้อพื้นฐานลบครั้งแรก128เดือน ตามแรงเหวี่ยงโควิด-กำลังซื้อฝืด พณ.หั่นคาดการณ์ลบ1.1%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลบ 1.57 % แต่ปรับตัวดีขึ้นจากลบ 3.44% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเงินเฟ้อติดลบลดลงเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้วและแนวโน้มจากนี้เริ่มฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน(เงินเฟ้อพื้นฐาน)ติดลบ 0.05 % ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในปีรอบ 10 ปี 8 เดือน ซึ่งปัจจัยหลักส่งผลต่อเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน คือ รัฐออกมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงราคาพลังงานและอาหารสดยังต่ำกว่าปีก่อน และการใช้จ่ายในภาคบริการและท่องเที่ยวลดลงมาก จึงทำให้เฉลี่ย 6 เดือนแรกปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปลบ 1.13 % แต่ เงินเฟ้อพื้นฐานยังบวก 0.32 %

“แม้เงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องราคาสินค้าเดือนมิถุนายนที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อเพิ่้มขึ้นถึง 193 รายการ อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูป ค่าเช่าบ้าน เนื้อสุกร ขณะที่สินค้าราคาลดลงมี 151 รายการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงาน ค่าไฟ ค่าประปาที่รัฐช่วยเหลือ อีก 78 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง ในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ควรเกิดเงินเฟ้อสูงเพราะจะเป็นภาระประชาชน ราคาสินค้านั้นไม่น่ากังวลเท่าภาคบริการและการท่องเที่ยวที่หายไปจะกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อ ที่รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือซึ่งประเมินว่ากว่าจะฟื้นตัวต่างชาติกลับมาอีกครั้งก็ปลายปีไปแล้ว “นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังเชื่อว่ายังมีโอกาสติดลบต่อเนื่อง เพราะฐานเงินเฟ้อปีก่อนสูงจากราคาน้ำมันและอาหารราคาสูงขึ้นมาก และการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อความระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ก็จะมีการฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ถูกจำกัดในช่วงก่อนหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ทั้งการค้าปลีก การคมนาคม-ขนส่ง และการท่องเที่ยว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชนซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อน่าจะสามารถกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ดูจากดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิถุนายนเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 2 แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติ 50 สะท้อนความกังวลประชาชนยังสูง

” ช่วงที่เหลือปีนี้ต้องติดตามปัจจัยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่น่าจะเริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวสูงกว่าไตรมาส 2 จากข้อตกลงของกลุ่ม OPEC ภัยแล้งคงเป็นประเด็นส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร แต่ก็มีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจในสถานการณ์ไม่ปกติที่ยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มต่ำกว่าศูนย์ และเฉลี่ยทั้งปีติดลบ กระทรวงพาณิชย์จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2563ใหม่ จากเดิมลบ 1.0 ถึงลบ 0.2 หรือค่ากลางลบ 0.6% เป็นกรอบลบ 1.5 ถึง ลบ 0.7หรือค่ากลางลบ 1.1% บนสมมุติฐานจีดีพีลบ 8.6 % ถึงลบ 7.6% น้ำมันโลก 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าบาท 30-5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image