‘อ่างพวง’ น้ำเกิน เติมน้ำขาด แผนเล็กๆ แก้ภัยแล้งได้กว้างใหญ่

อ่างพวง
น้ำเกิน เติมน้ำขาด
แผนเล็กๆ แก้ภัยแล้งได้กว้างใหญ่

แม้หลายพื้นที่ทั่วประเทศจะมีข่าวเรื่องของฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมขัง น้ำรอระบายอยู่หลายแห่ง แต่โดยภาพรวมสถานการณ์น้ำล่าสุดภายในประเทศนั้น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ระบุว่า ความต้องการน้ำโดยภาพรวมของประเทศไทย ทั้งน้ำอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศ ในฤดูแล้งปี 2564 จำนวน 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่เวลานี้ เรามีปริมาณน้ำกักเก็บใน 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสัก และเขื่อนแควน้อยฯ มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้อยู่ทั้งสิ้น 921 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เราจึงต้องการน้ำกักเก็บอีก 11,079 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจะเพียงพอสำหรับความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งหน้า ปี 2564 โดยตอนนี้เรายังมีเวลาเหลือสำหรับฤดูฝนอยู่อีก 120 วัน หรือราว 4 เดือน และเรายังมีความหวังอยู่ว่าในอนาคตอันใกล้ก่อนฤดูฝนจะสิ้นสุด จะมีพายุลูกใหญ่ผ่านเข้ามาเพื่อเติมเต็มน้ำในเขื่อนให้ได้

ภาดล ถาวรกฤชรัตน์

Advertisement

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า นอกเหนือจากน้ำในอ่างหลัก หรือเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว กรมทรัพยากรน้ำได้เข้าไปทำระบบการกระจายน้ำจากอ่างใหญ่ที่มีน้ำเหลือใช้ไปให้กับอ่างเล็กๆ ที่น้ำไม่พอใช้ หรือระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ หรืออ่างพวง เพื่อกระจายน้ำให้ประชาชนใช้ให้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

”กรมทรัพยากรน้ำได้น้อมนำแนวพระราชดำริการแก้ปัญหาภัยแล้งของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยใช้อ่างพวง หรือระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำมาใช้ พื้นที่ตรงไหนส่วนไหนที่มีศักยภาพว่าทำได้ก็จะเข้าไปดำเนินการทันทีŽ” นายภาดลกล่าว

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวว่า การทำงานของอ่างพวงมีหลักการอยู่ว่า น้ำเกิน เติมน้ำขาด โดยให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบนสามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กที่อยู่ตอนล่างได้ จากการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำในแต่ละอ่างเก็บน้ำเข้าหากัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นประชาชน สามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ จะต้องมีแผนงานในการใช้จ่ายน้ำของแต่ละปี หรือฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อให้มีน้ำในการบริหารได้ตลอดทั้งปี

Advertisement

 

“ในหลายพื้นที่เราก็จะมีแหล่งน้ำหลักหรือน้ำขนาดใหญ่อยู่แล้ว ก็ใช้วิธีต่อท่อทำเป็นโครงข่ายเอาน้ำไปเติมยังบ่อน้ำที่น้ำแห้ง หรือน้ำไม่พอใช้ น้ำหลักๆ 1 แห่ง เราสามารถกระจายน้ำไปให้น้ำขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงได้หลายแห่งด้วยกัน ความไกลของบ่อที่จะรับน้ำจากแหล่งน้ำหลัก สามารถทำได้ตั้งแต่ 10 กิโลเมตรขึ้นไป โดยแต่ละบ่อที่รับน้ำไปแล้วแก้ปัญหาภัยแล้งได้นับพันไร่ ซึ่งบางบ่อ บางพื้นที่มีประชาชน เกษตรกรใช้น้ำร่วมกัน 2-3 ตำบล ระบบการกระจายน้ำก็แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น หากพื้นที่ไหนแหล่งน้ำหลักอยู่ที่สูงก็ใช้ระบบแรงโน้มถ่วงของโลก หรือพื้นที่ไหนอยู่ไกลมากก็ใช้เครื่องสูบน้ำระบบโซลาร์เซลล์เข้าช่วย ตอนนี้เรามีอ่างพวงอยู่ประมาณ 800 อ่างทั่วประเทศ จากที่ดำเนินการมาแล้ว 7 แห่ง ที่ จ.พิจิตร ลพบุรี ราชบุรี แพร่ อุตรดิตถ์ และ จ.สุโขทัย โดยในปี 2564 นั้น กรมทรัพยากรน้ำมีแผนที่จะดำเนินการทำอ่างพวงต่ออีก 10 แห่ง โดยใช้งบประมาณหลักประจำปีและงบเงินกู้ ซึ่งคาดว่าสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชนได้ดีระดับหนึ่ง”Ž นายภาดลกล่าว

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวด้วยว่า การจัดหาแหล่งน้ำและแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบสำหรับช่วยเหลือประชาชนและแก้ปัญหาภัยแล้ง นอกจากอ่างพวงแล้วยังมีโครงการแก้มลิง โดยการขุดลอกหนองน้ำ แหล่งน้ำ ที่เสื่อมโทรม ตื้นเขิน ให้สามารถรับน้ำนองในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ใช้น้ำน้อย ส่งเสริมการเกษตรแบบอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งนำพืชผลการเกษตรมาบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงแบ่งขายเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน ภายหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จด้วย

“เรายังนำเอานวัตกรรมใหม่มาใช้สำหรับลดค่าใช้จ่ายในการส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก โดยใช้เทคโนโลยีการเก็บสำรองน้ำในถังทรงแคปซูล ความจุน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความทนทานต่อแดด ลม ฝน และทนแรงดันสูง สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่ เพื่อส่งน้ำและกระจายน้ำไปยังพื้นที่แปลงเพาะปลูกให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง โดยประยุกต์นวัตกรรมการออกแบบให้ตอบรับกับความต้องการของผู้ใช้งาน ผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า BIM หรือ Building Information Modeling โมเดลสามมิติที่สร้างงานก่อสร้างเสมือนจริง จึงสามารถวางแผนการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ ลดต้นทุนการก่อสร้างให้น้อยที่สุด โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ทำข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมาในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในช่วงออกแบบได้เป็นอย่างดีแล้วนั้น ข้อมูล BIM ผนวกกับข้อมูลด้าน GIS นี้ยังสามารถใช้ในการบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน และยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายอื่น รวมทั้งการติดตามการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย”Ž นายภาดลกล่าว

ถึงแม้จะมีทั้งเครื่องมือ วิธีการ รวมไปถึงสารพัดนวัตกรรมสำหรับนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำน้อยไม่พอใช้ ปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว แต่ในที่สุดสิ่งที่ประชาชนทุกคน ทั้งคนในเมือง นอกเมือง จะต้องร่วมกันปฏิบัติ ในที่สุดแล้วก็คือการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่านั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image