‘เฉลิมชัย’ ปลุกเศรษฐกิจกระบี่ เล็งสร้างโมเดลเมืองแห่งแพะของโลก

‘เฉลิมชัย’ ปลุกเศรษฐกิจกระบี่ เล็งสร้างโมเดลเมืองแห่งแพะของโลก

นายฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดกระบี่ ว่า ในการเดินทางมาจังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ เพื่อมาติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายการส่งเสริมพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกร ที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรนำไปสู่การอยู่ดีกินดี โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างผลผลิตคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาด เกิดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงแพะ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญและมีการเลี้ยงกันมาในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรอย่างครบวงจรมาอย่างต่อเนื่อง จนมีเกษตรผู้เลี้ยงแพะที่ประสบความสำเร็จมีรายได้มั่นคงอย่างยั่งยืน ดังเช่น ความสำเร็ของศรีผ่องฟาร์ม (Sriphong Farm) ที่บ้านน้ำจาน ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ ซึ่งเป็นฟาร์มมาตรฐานเลี้ยงแพะขนาด 2,800 แม่ และได้รับการพัฒนาจนปัจจุบันสามารถยกระดับเป็นฟาร์มมาตรฐานปลอดโรคแท้งติดต่อ ระดับ B อีกทั้งยังมีบทบาทที่สำคัญ ในการเป็นฟาร์มสาธิตมาตรฐานเลี้ยงแพะในภาคใต้ เป็นแหล่งผลิตพ่อแม่พันธุ์และแพะขุนเข้าสู่ระบบการผลิตแพะของจังหวัดกระบี่ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รับซื้อและแปรรูปน้ำนมแพะ

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ที่น่าภูมิใจอีกประการ คือ จังหวัดกระบี่ได้ตั้งเป้าให้ภายในปี 2572 จะสามารถผลิตแพะป้อนตลาดทั้งภายในจังหวัด ในภายประเทศ และส่งออก รวมทั้งตลาดทั่วไปและฮาลาลด้วย โดยคาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 240,000 ตัวต่อปี หรือมูลค่ารวม 1,920 ล้านบาท และผลิตนมแพะโรงเรียน 4 ล้านถุงต่อปี มูลค่ารวม 80 ล้านบาท ถือว่าเป็นการสร้างรายสร้าง และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ให้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น

“สำหรับการส่งเสริมของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณ ควบคู่กับการวิจัยพัฒนา เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ และเพื่อให้การเลี้ยงแพะของจังหวัดกระบี่เป็นต้นแบบในการเลี้ยงแพะแบบยั่งยืนและครบวงจรต่อไป”นายเฉลิมชัยกล่าว

สำหรับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงแพะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น มีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป และการจัดการด้านการตลาด สำหรับปริมาณแพะในประเทศ จากสถิติในปี 2550 มีแพะที่เลี้ยงรวม 444,774 ตัว เกษตรกร 38,653 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้มีการสำรวจพบว่า มีแพะรวม 832,533 ตัว เกษตรกร 65,850 ครัวเรือน โดยในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีแพะเพิ่มขึ้น 387,759 ตัว เกษตรกรเพิ่มขึ้น 27,197 ราย พร้อมกันนี้ยังมีแผนงานโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะ โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ ตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบัน มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะจำนวน 501 กลุ่ม ชมรมแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด เครือข่ายระดับเขต 9 เขต

Advertisement

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีแนวทางปรับเปลี่ยนอาชีพการเกษตรที่
ผลผลิตมีปัญหาด้านการตลาด ได้แก่การทำนา การทำสวน ให้ปรับเปลี่ยนเป็นเลี้ยงแพะเป็นอาชีพมากขึ้น จากการประมาณการพบว่าจำนวนแพะที่ใช้บริโภคในประเทศ ประมาณปีละ 377,000 ตัว โดยมีการส่งออกแพะไปยังตลาดมาเลเชีย ประมาณ 100,000 ตัว/ปี ตลาดลาว และเวียดนาม ประมาณ 40,000 ตัว/ปี นอกจากนั้น มีการนำเข้าแพะจากประเทศพม่า จำนวน 39,231 ตัว/ปี ซึ่งสรุปภาพรวมการผลิตแพะในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image