สถานีคิดเลขที่12 : ตอบโจทย์ โดย นฤตย์ เสกธีระ

ผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 วาระ 1 ผ่านพ้นไป

ผลการลงมติฝ่ายรัฐบาลสนับสนุน ส่วนฝ่ายค้านไม่สนับสนุน

เหตุที่พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่สนับสนุน เพราะมองว่า การจัดทำงบประมาณปี 2564 ไม่ตอบโจทย์การรับมือวิกฤตโควิด-19

นั่งฟังการอภิปรายในสภาสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามี ส.ส.หลายคนอภิปรายได้เห็นภาพ

Advertisement

โดยเฉพาะ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

อภิปรายได้ตอบโจทย์ที่ว่า งบปี 2564 ไม่ตอบโจทย์การรับมือโควิด-19 อย่างไร

สรุปเนื้อหาการอภิปรายคร่าวๆ คือ ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตที่ดิ่งลึก คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือคนรากหญ้า

Advertisement

การส่งออกติดลบ หมายถึง คนงานโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกำลังจะตกงาน

การลงทุนติดลบ หมายถึง คนที่ว่างงาน คนที่เพิ่งจบการศึกษา จะหางานได้ยากขึ้น

นักท่องเที่ยวหายไป 30 กว่าล้านคนจากที่เคยมาเที่ยว 40 ล้านคน หมายถึง เอสเอ็มอีขาดรายได้และกำลังจะปิดตัวลง

โจทย์ที่ต้องถาม คือ งบประมาณ วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท จะช่วยให้คนไทยได้อย่างไร

จะจ้างงานคนที่ตกงาน จะมีสวัสดิการสังคมแก่คนที่ไม่มีงานทำ จะเยียวยา จะฟื้นฟู เอสเอ็มอี และอื่นๆ ได้อย่างไร ฯลฯ

แม้ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่า มีแผนฟื้นฟูที่จะจ้างงาน 4 แสนคน แต่เมื่อเทียบกับคาดการณ์ที่ว่าคนตกงาน 8 ล้านคน

การจ้างงานดังกล่าวยังไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ แม้รัฐบาลจะทบทวนการจัดทำงบประมาณปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ไป 2 ครั้ง

ผลที่ได้คือการเกลี่ยงบ 4 หมื่นล้านเศษไปใส่ไว้ในงบกลาง เพื่อรับมือโควิด-19

ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับการรับมือโควิด-19

อาทิ การเน้นเรื่องความมั่นคงของทหาร มากกว่าสุขภาพประชาชน

แม้ว่าปัจจุบันความมั่นคงของประเทศ คือ ความมั่นคงทางวัคซีน ยารักษา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอรับวิกฤต

แต่งบปี 2564 ยังเพิ่มงบในส่วนกลาโหม งบจัดซื้ออาวุธ และความมั่นคงฝ่ายทหาร

ส่วนงบสาธารณสุข เช่น งบบัตรทองที่ต้องรองรับกับคนว่างงานอีกเป็นล้าน งบความมั่นคงทางวัคซีนที่ต้องผลิตเพื่อยับยั้งโควิด-19 กลับต้องไปลุ้นว่าจะได้หรือไม่

ไม่มีงบฟื้นฟูเอสเอ็มอี ในขณะที่ประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน

ไม่มีงบการสร้างงานเศรษฐกิจฐานราก

แผนงานอุตสาหกรรมในอนาคต ยังคงมีแต่งบอบรมสัมมนา จ้างที่ปรึกษา

รวมถึงการไม่ยอมให้เลือกตั้งท้องถิ่น ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐาน

เช่นเดียวกับการกำหนดวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ใช้ 4 แสนล้านบาทเท่าๆ กับตอนฟื้นฟูจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้หนักยิ่งกว่า

งบประมาณปี 2564 จึงไม่ตอบโจทย์

เหตุผลที่มองว่า งบประมาณปี 2564 ไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่ได้นำเอาโควิด-19 มาเป็นเป้าหมายในการแก้ไข

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ประเทศชาติไม่เติบโต

“โควิด” ก็จะกลายเป็น “ข้ออ้าง” ว่าเป็นสาเหตุของความล้มเหลว

ฟังมาถึงตรงนี้ทำให้เข้าใจ ทำไมพรรคฝ่ายค้านมองว่าการจัดทำงบประมาณปี 64 จึงไม่ตอบโจทย์รับมือโควิด-19

ส่วนรัฐบาลจะกลับไปทำตามคำแนะนำฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ไม่ทราบได้

ทราบแต่ว่า ประชุมสภาคราวนี้พรรคฝ่ายค้านอภิปรายได้ตอบโจทย์ของตัวเองแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image