กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.85-31.20 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.13 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4.4 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 900 ล้านบาท
โดยมองสาเหตุจาก ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐฯ และแนวโน้มที่บางรัฐอาจต้องดำเนินมาตรการล็อคดาวน์รอบใหม่ แม้ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปออกมาสดใสเกินคาด ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายนดีกว่าที่ตลาดคาดไว้และเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 11.1% จาก 13.3% ในเดือนพฤษภาคม
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่าเศรษฐกิจยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่เฟดเปิดเผยรายงานผลการประชุม และระบุว่าเฟดสนับสนุนการส่งสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายล่วงหน้าแบบชัดเจน (Forward Guidance) ให้แก่สาธารณชน ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการซื้อพันธบัตร โดยเฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเฟดจะยังไม่ถอนมาตรการกระตุ้นในเร็วๆ นี้ เรามองว่าในภาวะที่ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวดีกว่าที่นักลงทุนคาดไว้และเฟดยังคงให้คำมั่นเรื่องการสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดการเงินอย่างเต็มที่อาจทำให้การปรับฐานของสินทรัพย์เสี่ยงล่าช้าออกไปและจำกัดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์
สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนมิถุนายนลดลง 1.57% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงน้อยกว่าเดือนก่อนหน้า ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่าเกิดจากมาตรการบางส่วนของภาครัฐโดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาสิ้นสุดลง รวมทั้งราคาสินค้าหมวดพลังงานและอาหารสดแม้จะลดลงต่อเนื่องแต่ลดลงในอัตราที่ช้าลง ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงาน ลดลง 0.05% จากช่วงเดียวกันปี 2562 ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน
ทั้งนี้ มีมุมมองว่าแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแต่เงินเฟ้อพื้นฐานที่ทรุดลงสะท้อนปัญหาด้านกำลังซื้อ โดยประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและการคลังจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจและคุณภาพการฟื้นตัวในระยะถัดไป