เปิดไทม์ไลน์หนุ่มพม่าป่วยโควิดจากไทย เคยทำงานโรงงานแม่กลอง ตรวจไม่พบใครติดเชื้อ

สสจ.สมุทรสงครามเผยไทม์ไลม์แรงงานเมียนมาติดเชื้อโควิดจากไทยและเคยทำงานในสมุทรสงคราม ยันไม่ได้ติดเชื้อจากสมุทรสงคราม

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม  นพ.สันทิต บุณยะส่ง นพ.สสจ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ กรณีประเทศไทยได้รับแจ้งข้อมูลจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในวันที่ 6 กรกฎาคม โดยมีการอ้างว่าผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากประเทศไทย จากการตรวจสอบข้อมูลการทำงานของผู้ป่วยรายนี้ ปรากฏว่าจากทะเบียนผู้ประกันตนพบว่า บริษัทของนายจ้าง เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยผู้ป่วยรายนี้ พักอยู่ใน อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี และเดินทางตามลำพังด้วยรถจักรยานยนต์ เพื่อมาทำงานในโรงงานใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และผู้ป่วยรายนี้ทำงานในโรงงานแห่งนี้จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2563 และตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 ไม่ได้มาทำงานเนื่องจากใบอนุญาตทำงานหมดอายุ ขณะที่วันที่ 11 -22 มิถุนายน 2563 ผู้ป่วยรายนี้ พักอยู่ตามลำพัง ที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี จากนั้นวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ผู้ป่วยรายนี้ได้เดินทางไปยังด่านแม่สอด จ.ตาก และออกจากประเทศไทย ในช่วง 09.00 – 10.00 น.ของวันที่ 24 มิถุนายน 2563

นพ.สันทิต เปิดเผยว่า การดำเนินงานสอบสวนโรคของงานระบาดวิทยา สสจ.สมุทรสงคราม ได้รับแจ้งข้อมูลจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 จึงได้ออกปฏิบัติการสอบสวนโรคทันที โดยจากสอบสวนข้อมูลย้อนกลับไปในช่วงตั้งแต่ 1 – 10 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วยเคยทำงานในโรงงาน ไม่พบว่ามีคนงานรายใดในโรงงานแห่งนี้ มีอาการเข้าข่ายโรคโควิด-19 อีกทั้งโรงงานแห่งนี้มีมาตรการตรวจคัดกรองคนงานที่มาทำงานอย่างเข้มงวดทุกคน มีการวัดอุณหภูมิ หากเกิน 37.5 องศาเชลเซียส จะให้กลับบ้าน และระหว่างปฏิบัติงานหรืออยู่ในโรงงาน คนงานจะต้องสวมหน้ากากผ้าทุกคน นอกจากนี้ในโรงอาหารจะมีฉากกันระหว่างคนงานที่มารับประทานอาหารด้วย นอกจากนี้จากการตรวจสอบข้อมูลหลังจากที่ผู้ป่วยไม่ได้มาทำงานในโรงงานแล้ว โดยตรวจสอบระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2563 (เป็นระยะเวลา 25 วัน ซึ่งเกินระยะฟักตัวของโรค) ไม่พบคนงานในโรงงานแห่งนี้ รายใดที่มีอาการเข้าข่ายป่วยโรคโควิด19

“สรุปได้ว่าในช่วงที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ป่วยชาวเมียนมารายนี้ ไม่ได้รับเชื้อจากโรงงานในจังหวัดสมุทรสงคราม อย่างไรก็ตามที่ สสจ.สมุทรสงคราม ร่วมกับ รพ.อัมพวา และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 5 ยังได้เฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง โดยการตรวจเชื้อในคนงานของโรงงานดังกล่าว จำนวน 500 ราย (เป็นคนงานต่างด้าว 300 ราย คนไทย 200 ราย) ในวันที่ 10 และ 11 กรกฎาคม 2563 หากผลปรากฏอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป” นพ.สันทิต กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image