เพราะเราทำได้! ผู้พิการทุกคนล้วนมีฝัน 2 นางงาม ผู้พิการแอลจีบีที (คลิป)

เพราะเราทำได้! ผู้พิการทุกคนล้วนมีฝัน 2 นางงาม ผู้พิการแอลจีบีที (คลิป)

เพราะไม่ว่าจะเพศใด หรือวัยใด ทุกคนเท่าเทียมกัน เพียงแต่สามารถเข้าถึงโอกาสในสังคมได้ และถือเป็นอีกก้าวของวงการนางงามไทย ที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้พิการที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มีตำแหน่ง เป็นกระบอกเสียงให้กับคนทั่วประเทศได้ตระหนักว่า “พวกเขาทำได้” บนเวที MISSTER DEAF GAY THAILAND

“แมรี่-ธนเทพ ศากยโรจน์” วัย 31 ปี นับเป็นคนข้ามเพศหูหนวกคนแรกที่ดำรงตำแหน่ง มิสเตอร์เดฟ เกย์ ไทยแลนด์ ประเภททีมมิสหรือแต่งหญิงที่จะทำหน้าที่แสดงความสามารถและศักยภาพของคนพิการ และเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อคนพิการ

ธนเทพได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า หูหนวกตั้งแต่กำเนิด ทำให้ชีวิตตอนเด็กพบกับปัญหาและอุปสรรคไม่น้อย เพราะไม่เคยได้ยินเสียงของคนในครอบครัวเลย พูดก็ไม่ได้ แต่ก็ใช้หัวใจสู้ จนกระทั่งได้เข้าเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา ได้เรียนการใช้ภาษามือสื่อสาร เขียน อ่าน ภาษาไทย และได้เข้าเรียนในวิทยาลัยอาชีพ พร้อมๆ กันกับการเป็นนักกีฬาแบดมินตัน ที่คว้ารางวัลต่างๆ มามากกว่า 17 เหรียญ กระทั่งเรียนจบปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ด้านการออกแบบอุตสาหกรรม ปัจจุบันเป็นพนักงานจัดดอกไม้ในโรงแรมแห่งหนึ่ง

ตั้งแต่วัยเด็ก ธนเทพก็มีความฝันที่จะเป็นนางงาม คอยติดตามการประกวดต่างๆ เสมอ แต่ก็ได้แต่คิดว่าไม่มีเวทีไหนที่เปิดโอกาสให้กับคนหูหนวก หลายครั้งที่สมัครเข้าประกวดเวทีของวิทยาลัยอย่างนางนพมาศ ถูกปฏิเสธบ้างก็มี เธอได้แต่บอกตัวเองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่แค่เฉพาะกับเราที่โดน จนกระทั่งได้เข้ามาประกวดเวทีนี้

Advertisement

“หลายครั้ง คนบอกกับเราเสมอว่า เราเป็นคนหน้าตาดีนะ สวย ลองมาประกวดไหม แต่ก็ไม่ค่อยมีเวทีไหนเปิด จนกระทั่งมีเวทีนี้ ก็คิดว่าถึงเวลาแล้ว เราอยากจะแสดงความสามารถของเราให้คนอื่นได้เห็น และจิตใจของเราก็คือผู้หญิง เมื่อเข้าประกวดก็พยายามเรียนรู้จากทีมพี่เลี้ยง ฝึกเข้าหาสังคม ก็ภูมิใจมากที่ได้รับตำแหน่งนี้ เหมือนเราได้ทำให้ฝันเป็นจริง”

“จริงๆ แล้ว คนพิการหรือคนหูหนวกนั้น สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป ขาดก็แต่เพียงโอกาส ทั้งเรื่องการศึกษา และอาชีพ นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำตามความฝัน ซึ่งคนพิการทุกคนก็มีความฝัน เมื่อได้ตำแหน่งนี้ ก็อยากจะเป็นกระบอกเสียงให้คนพิการ ลุกขึ้นมาตามฝัน บอกทุกคนว่าเรามีศักยภาพที่จะทำได้”

พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า อยากให้สังคมเข้าใจว่า ไม่ว่าจะพิการหรือไม่เราก็อยู่ร่วมกัน พูดคุยกันได้ เพราะเราเป็นเพื่อนกัน

แมรี่-ธนเทพ ศากยโรจน์

นอกจาก มิสเตอร์ เดฟ เกย์ ไทยแลนด์ แล้ว เวทียังเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกมาโชว์ศักยภาพ ในโครงการ I can do it โดยผู้ชนะได้แก่ นางงามผู้บกพร่องทางสายตา “แป้ง” กฤติยาพร เกตุกำพล วัย 24 ปี นักศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ชั้นปีที่ 4 ที่นำความสามารถอย่างการร้องเพลงไทยเดิม คว้ารางวัลนี้มาครอง

แป้ง พิการทางสายตามาตั้งแต่เกิด ที่ครอบครัวบอกว่าเป็นเพราะคุณแม่ตกเลือด ทำให้คลอดก่อนกำหนด และหมอน่าจะลืมปิดตาให้ขณะอยู่ในตู้อบ ทำให้ตาบอด แรกทีเดียวพ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าเธอมองไม่เห็น ก็สงสัยว่าทำไมไม่มองอะไรเลย พาไปรักษาหลายต่อหลายที่ ก่อนจะรู้ว่าตาบอด

ชีวิตวัยเด็กในรั้วของโรงเรียนที่มีผู้พิการหลายด้าน มีบ้างที่ถูกรังแก ต้องร้องไห้กลับมา จนอายุได้ 7 ขวบ จึงได้มาเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ที่นี่เองที่ได้เรียนทั้งอักษรเบรล การใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเอง และค้นพบว่าชื่นชอบในการร้องเพลง

“เราชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก เวลาไปร้องให้ใครฟังเขาก็ว่าเราเสียงดี บอกว่าหาเงินได้นะ ก็เลยชอบ ยังไม่ได้ถึงการร้องเพลงเป็นอาชีพอะไร ก็มีร้องเพลงในงานโรงเรียนบ้าง จนคิดว่าอยากจะมาทางนี้ ได้เรียนต่อด้านขับร้องในระดับมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่คิดว่าจะไปแข่งขันในรายการต่างๆ เพราะก็คิดว่าการตลาดก็คงอยากได้คนที่มองกล้องได้ เต้นได้ไวๆ อย่างไรเราก็คงไปไม่ถึงฝั่งฝัน”

กฤติยาพรเผยว่า ชีวิตของการเป็นคนตาบอด แม้ไม่ได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้คิดว่าเป็นปมด้อย แต่บางครั้งก็เศร้าว่าทำไมถึงทำอะไรไม่ได้เหมือนคนปกติ แต่ก็กลับมาคิดว่าเราต้องสู้ต่อไป ต้องเป็นกำลังใจให้ตัวเองก่อน เห็นคุณค่าของตัวเอง นอกจากเป็นเสน่ห์แล้วก็ยังหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้มีความคิดที่ดี ที่จะช่วยคนอื่นต่อ ทำให้เรามีความสุข

ในแง่ของการเป็น “แอลจีบีที” แป้ง บอกว่าก็มีบ้าง ที่ถูกคำพูดบางอย่างกระทบจิตใจ

“เคยมี ที่มีคนมาบอกเราว่าหาผู้ชายให้ดีกว่าไหม ผู้ชายก็ยังมีนะ แต่เราก็พยายามให้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป นั่นเป็นความคิดเขาไม่ใช่ความคิดเรา เรารักและเห็นคุณค่าในตัวเองก็พอแล้ว เราเป็นเรา จะไปที่ไหนก็ได้ เป็นตัวเองอย่างมีความสุข”

เมื่อได้รับตำแหน่งนี้ แป้งก็อยากเป็นกระบอกเสียง ปลุกให้ทุกคนลุกขึ้นมา Do it ได้อย่างที่สามารถ โดยว่าเรามีความฝัน อยากเรียนให้จบ หางานทำ ดูแลพ่อแม่ได้ ที่สำคัญคืออยากผลักดันเรื่องความเท่าเทียมกันสำหรับผู้พิการและแอลจีบีที โดยเฉพาะกับเรื่องคู่ชีวิต ที่ให้มีสิทธิเหมือนชายหญิง และว่า “หากไม่ตกที่รุ่นเรา ก็อาจจะมาถึงในรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นกำลังใจให้เขา เพราะความเป็นคนสำคัญที่สุด”

“ไม่ว่าเป็นใคร ก็ควรได้รับความเท่าเทียมกัน นี่คือเรื่องที่เราอยากจะทำ และอยากเป็นกำลังใจให้กันและกัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากได้รับกำลังใจทั้งนั้น” กฤติยาพรทิ้งท้าย

“แป้ง” กฤติยาพร เกตุกำพล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image