สะพานแห่งกาลเวลา : กฎ ‘20-20-20’ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สะพานแห่งกาลเวลา : กฎ ‘20-20-20’ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ทุกคนตระหนักกันดีว่า ดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเรา ที่น่าสนใจก็คือ

อะไรก็ตามที่เกิดกับดวงตา แม้มักไม่ค่อยเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้ชีวิตขาดประสบการณ์สำคัญ 1 ใน 3 ทางไป นั่นคือการมองเห็น

แต่ถึงจะรู้ เรามักใช้สายตาอย่างไม่ใส่ใจอยู่เป็นประจำ ใช้อย่างไม่บันยะบันยังกันเลยทีเดียว

Advertisement

วิถีชีวิตยุคใหม่ ทำให้เราต้องใช้สายตาในทางลบมากขึ้น นั่นคือ การจับจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์อยู่นานๆ ทั้งเพื่อการทำงาน และเพื่อความบันเทิง หรือผ่อนคลาย

คนที่ทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เมื่อหมดภาระหน้าที่ แทนที่จะให้สายตาได้พักผ่อน กลับต้องมานั่งจ้องหน้าจอต่ออีก กับการหาข้าวของที่ถูกใจจากเว็บ เล่นเกม ดูซีรีส์เกาหลี หรือ อ่านอีบุ๊ก หรืออื่นๆ

หน้าจอเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดภาพ เพื่อสร้างภาพเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้แสงสว่าง บริเวณหน้าจอที่เราจ้องอยู่จึงสว่างกว่าพื้นที่แวดล้อมไม่มากก็น้อย

Advertisement

บางหน้าจอยังก่อให้เกิดการแผ่รังสี พิสูจน์ได้ง่ายๆ ด้วยการลองปิดหน้าจอลงแล้วยื่นมือเข้าไปใกล้ๆ เราสามารถรู้สึกได้ถึงไฟฟ้าสถิตย์ที่เกิดขึ้นตามมา ยิ่งเกิดมากยิ่งมีการแผ่รังสีมาก

นอกจากนั้นแล้วยังมีแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อตาอีกด้วย

อันตรายจากการใช้สายตาทำนองนี้ ขนานเบาคือเกิดภาวะตาลาย หรือเบลอ ชั่วคราว เกิดการระคายเคือง ขนานหนักก็คืออาจเกิดอาการปวดตา แสบตา ตาแดง แห้ง เห็นภาพซ้อน ตาล้า และหาจุดโฟกัสไม่ได้

จักษุแพทย์เรียกอาการเหล่านี้รวมๆ กันว่า โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์ หรือซีวีเอส

ประเมินกันว่า คนที่ทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ (และจออื่นๆ) มีโอกาสเป็นซีวีเอส 50-90 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งมีปัญหาเกี่ยวกับสายตาแต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว เช่น สายตาสั้น หรือสายตายาว หรือเอียง หรือทุกอย่างรวมกัน โอกาสเกิดซีวีเอสยิ่งมากขึ้นตามลำดับครับ

นี่คือเหตุผลที่ว่า การไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยปีละครั้งสองครั้งก็ยังดี

พร้อมกันนั้นก็ควรหาทางป้องกันหรือลดความเสียหายหรืออันตรายต่อดวงตาลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผู้เชี่ยวชาญแนะให้ใช้กฎ 20-20-20 ครับ

สถาบันวิชาการด้านจักษุวิทยาอเมริกัน (เอเอโอ) และสมาคมทัศนมาตรศาสตร์อเมริกัน (เอโอเอ) ยืนยันว่า กฎ 20-20-20 ที่ว่านี้สามารถช่วย “ลด” อันตรายจากการใช้ตาจ้องจอหนักๆ นานๆ ได้ครับ

กฎที่ว่านี้กำหนดให้ทำดังนี้

ทุกๆ 20 นาที ที่จ้องจอคอมพิวเตอร์หรือจออื่นใดต้องละสายตาออกจากหน้าจอ 20 วินาที เพื่อจ้องมองอะไรก็ได้ที่อยู่ห่างออกไปจากดวงตาราว 20 ฟุต (ราว 6 เมตร)

เอาความสูงของตัวเราเป็นเกณฑ์ก็ได้ ระยะ 20 ฟุต จะอยู่ระหว่าง 4-5 เท่าตัวของความสูงของเรา

กฎนี้ป้องกันอาการตาล้า แสบ แห้ง หรือบางคนที่น้ำตาคลออยู่ตลอดได้ดีครับ

บางคนอาจคิดว่า 20-20-20 อาจบ่อยไป ปัญหาคือการต่อเนื่อง ไหลลื่นของการทำงานเกิดการสะดุดบ่อยๆ

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า ถ้าเกิดปัญหาการทำงานสะดุด ก็อาจขยายเป็น 40-40-40 ก็พอจะได้

บางคนเลือกที่จะทำตามกฎ 20-20-20 ในช่วงครึ่งวันแรก หรือครึ่งวันหลัง อีกครึ่งหนึ่งก็ลดลงเป็น 40-40-40

หรือจะเลือกค่อยๆ เพิ่มเวลาก่อนเบรกในแต่ละครั้งเข้าไป เมื่อตาสามารถโฟกัสได้ดีขึ้นก็น่าจะได้ครับ

การเลือกลดความจ้าของหน้าจอลง หรือเลือกใช้โหมดปรับหน้าจอตามการใช้งานกลางวันและกลางคืนก็ช่วยได้นิดหน่อย

ตำแหน่งวางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ควรจะอยู่ห่างจากหน้าเรา ระหว่าง 24-26 นิ้ว กำลังเหมาะ ควรอยู่ต่ำกว่าระดับตาเล็กน้อย คือควรให้เราลดตาลงมองครับ ไม่ใช่จ้องตรงไปข้างหน้าหรือต้องเงยขึ้นมองหน้าจอ เหล่านี้จะทำให้ไม่ต้องเพ่งสายตามากเกินไป

ที่แน่ๆ ก็คือ ลดการใช้งานดวงตาลงให้อยู่ในระดับที่สมดุล เพื่อจะให้มันอยู่กับเราไปนานๆ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image