อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยฝากการบ้าน 9 ข้อให้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่

อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยฝากการบ้าน 9 ข้อให้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอนโยบายทางการเงินเร่งด่วนภายใต้ส่งออกทรุดตัว แนวทางการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ฝากการบ้านและข้อเสนอแนะ 9 ข้อให้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 กรกฎาคม  นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง การทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของภาคส่งออกจะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก การผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้ที่กำลังสิ้นสุดลงประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยอาจต้องต่ออายุไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน (จนถึงเดือนเมษายน 2564)

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินช่วยเหลือ SMEs ในการเลื่อนการชำระหนี้จะกระทบต่อสถาบันการเงินบางแห่งที่มีอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่สูงนัก และ ธปท ควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มทุน หรือ มีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วย การที่หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เป็นสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจ ที่ต้องตระหนักว่า โครงการและมาตรการต่างๆภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้สี่แสนล้านบาทนั้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่รอบคอบ มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ต้องมุ่งเป้าไปที่การขยายการจ้างงานขนาดใหญ่และการช่วยเหลือกิจการต่างๆไม่ให้ปิดกิจการเพิ่มเติม

Advertisement

ขณะนี้ เราอย่าไปคาดหวังว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเร็ว ภาคการท่องเทียวจะไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปรกติไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ธุุรกิจการท่องเที่ยวและการจ้างงานในกิจการท่องเที่ยวต้องมีการปรับโครงสร้างให้ไปทำงานอย่างอื่นแทนไม่น้อยกว่า 30-40% เพราะอุปทานและห้องพักในโรงแรมที่มีอยู่ในขณะนี้ล้นเกินความต้องการมาก และ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่ไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี การสร้างสนามบินแห่งใหม่ การขยายสนามบินนานาชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ ควรนำงบประมาณไปทำในเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือความเดือนร้อนของประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมากกว่า

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า กระแสเงินระยะสั้นเก็งกำไรยังคงไหลเข้าตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชียและไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นแม้นการส่งออกจะหดตัวอย่างรุนแรง อัตราการหดตัวของการส่งออกในเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับติดลบ -22.5% (หากหักทองคำ ส่งออกติดลบถึง -27.8%) เป็นอัตราการหดตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์หดตัวติดลบถึง -62.6% ปัญหาการหดตัวของการส่งออกเกิดขึ้นจากทั้งอุปสงค์และความต้องการในตลาดโลกดิ่งลงอย่างชัดเจน เสริมด้วย การชะงักงันของอุปทานภาคการผลิต Supply Chain Disruption ปัญหาชะงักงันของอุุปทานภาคการผลิตที่ทำให้ส่งออกไทยติดลบน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้วหลังจากทุกประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์แล้ว

อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของอุุปสงค์โลกอย่างชัดเจนยังไม่ถึงจุดต่ำสุดและกว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังปัญหาผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าชำระสินค้าได้ หรือ ชำระเงินล่าช้ามาก ภาวะดังกล่าวเกิดจากปัญหาการขาดทุนการขาดสภาพคล่องและประสบภาวะล้มละลายของกิจการจำนวนมาก 5 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ซื้อต่างประเทศ (ผู้นำเข้าผ่านระบบประกันการส่งออกของ Exim Bank) เพิ่มขึ้น 195% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 617 ล้านบาท

Advertisement

จากการคาดการณ์ของบริษัทการค้าระหว่างประเทศหลายแห่งพบว่า มีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศล้มละลายทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 20-30% คิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ และ ตัวเลขนี้ ตนคิดว่ายังเป็นการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น หากเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐฯรอบใหม่ ปัญหาจะหนักกว่านี้ ส่วนการขยายระยะเวลาการชำระสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนั้น เป็นดัชนีชี้ว่า ในครี่งปีหลังปีนี้ จะมีการผิดนัดชำระหนี้เงินค่าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงขอเตือนให้ผู้ส่งออกไทยทำประกันความเสี่ยงไว้ด้วย

นายอนุสรณ์ กล่าวถึง อุปสงค์ภายในประเทศหรือตลาดโลกอาจเกิดภาวะ Pending Demand ในเดือน ก.ค. และ ในเดือน ส.ค. เป็นภาวะฟื้นตัวของอุปสงค์ชั่วคราวจากความต้องการที่ถูกปิดกั้นเอาไว้ในช่วงปิดเมือง และ การเพิ่มขึ้นของ Pending Demand ไม่ได้เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใดๆทั้งสิ้นตราบเท่าที่คนจำนวนมากยังว่างงานและไม่มีรายได้ที่มั่นคง

การนำเข้าที่ติดลบสูงถึง -34.4% จึงทำให้การค้ายังคงเกินดุล 2,694 ล้านดอลลาร์ แต่เป็นการเกินดุลที่ไม่พึงปรารถนา เพราะการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรอุปกรณ์หดตัวหนักมากสะท้อนการลงทุนที่ซบเซาในอนาคต ส่วนการเกินดุุลการค้าแบบนี้เมื่อผสมเข้ากับเงินระยะสั้นไหลเข้าเก็งกำไรจึงไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อเศรษฐกิจมากนัก และ ยิ่งซ้ำเติมให้ภาคส่งออกอ่อนแอลงไปอีกจากการแข่งขันด้านราคาที่ด้อยลงอย่างรวดเร็วจากการแข็งค่าของเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องกล้าตัดสินใจเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้ามาในระบบเพิ่มเติม เป็นการชะลอการแข็งค่าเงินบาทพร้อมกับเสริมสภาพคล่องให้กับภาคการเงินและภาคธุรกิจไปในตัว บริหารอัตราแลกเปลี่ยนในเชิงรุกเพื่อให้ “เงินบาท” อ่อนค่าลง และ อาจต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในการประชุมของ กนง. ครั้งต่อไป และ ควรเพิ่มปริมาณเงิน Soft Loans และกำกับดูแล กำชับให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าเร็วกว่านี้ เนื่องจากยังมีกิจการขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลางจำนวนมากยังไม่สามรถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้

การที่ลูกหนี้ของสถาบันทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหรือผู้ฝากเงิน ไม่มั่นใจต่อ ฐานะของกิจการโดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็ก การเคลื่อนตัวจาก “ภาคการเงิน” ที่มีเสถียรภาพ สู่ ภาคการเงิน “เปราะบาง” เกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และ มีแนวโน้มเกิดภาวะหนี้เสียและวิกฤตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน เรามีความจำเป็นต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบ “countercyclical” หรือ แบบต่อต้านภาวะเศรษฐกิจหดตัว มากขึ้นอีก ผลักดันให้เกิดระบบ Smart Banking and Financial Market System อย่างทั่วถึง มีนโยบายแก้ปัญหา Shadow Banking และการเงินนอกระบบ การกำกับดููแลและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การบ้าน 9 ข้อให้ ว่าที่ผู้ว่าการ ธปท คนใหม่ อีกครั้งว่า ตอนนี้มีการปิดรับสมัครผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ไปแล้ว จึงขอฝากการบ้านพร้อมข้อเสนอให้ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ที่จะสัมภาษณ์กับคณะกรรมการสรรหาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการบ้าน 9 ข้อที่ขอฝากไว้พิจารณาดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง แม้ประเทศไทยจะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงอันเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ต้องไม่ประมาทเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกไม่เหมือนเดิม เศรษฐกิจไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกจากต่างประเทศน้อยกว่าเดิมอย่างชัดเจน และ พึ่งตระหนักว่าเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งเป็นเงินระยะสั้นที่พร้อมไหลออกตลอดหากประเทศไทยมีปัญหา การรักษามูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของแบงก์ชาติและท่านผู้ว่าคนใหม่ต้องทำให้มีความเพียงพอต่อการรองรับความผันผัวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก รักษาอำนาจซื้อในตลาดโลกของระบบเศรษฐกิจไทย และต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศให้เพียงพอต่อสภาพคล่องภายในเมื่อจำเป็นเพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ การปฏิรูประบบการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่ เนื่องจาก เงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยนจะผันผวนอย่างมากและด้อยค่าลงรวมทั้งความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลเหล่านี้จะลดลง ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สะสมเอาไว้จะด้อยค่าลง ควรเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองของประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทยควรนำเอาการศึกษาที่ทำไว้แล้วเรื่อง “การจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง” มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และ ควรศึกษาเพิ่มเติมถึงการใช้ Digital Currency ในทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้ง การจัดตั้งกองทุนและทำ Swap Agreement กับประเทศในเอเชียเพิ่มเติม

ข้อสอง ต้องศึกษามาตรการสกัดกั้นกระแสเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจำนวนมากจะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของไทยและเอเชีย หากไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอจะก่อให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ข้อสาม ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารกองทุน BSF (Corporate Bond Stabilization Funds หรือ กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้) ด้วยความรัดกุม ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเงินสาธารณะ ที่ผ่านมา ธปท ได้กำหนดอัตราผลตอบแทนที่คำนึงถึงความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงของ “เงินสาธารณะ” ได้ดีพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้จึงอยู่ที่ความสามารถในการกำกับดูแลของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบอร์ดแบงก์ชาติ การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายกองทุน BSF ต่อคณะกรรมการลงทุนและระบบการกลั่นกรองขั้นต้นจาก บลจ กรุงไทย แต่ผู้ที่มีความสำคัญจะต้องรับผิดชอบไม่ให้เกิดการแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ คือ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ และ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องยึดถือธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

ข้อสี่ ธนาคารกลางต้องทบทวนการดำเนินนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมทางการเงิน หันมาใช้นโยบายการเงินแบบเชิงรุกมากขึ้นและมาตรการการเงินขยายตัวมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นเพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาการว่างงานในระดับโลกและไทย

ข้อห้า ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ควรมีบทบาทร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการฟอกเงินในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของการทุจริตคอร์รัปชันและพฤติกรรมการฟอกเงินที่เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคมไทย เทคโนโลยีบล็อคเชนที่นำมาใช้ในระบบการเงินจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารกำกับดูแล ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปรกติอันเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตคอร์รัปชันได้ง่ายขึ้น วิธีการดัดหลังผู้กระทำการทุจริตแล้วเก็บเงินสดไว้ที่บ้าน คือ การดำเนินการยกเลิกธนบัตรบางรุ่นเพื่อให้นำมาแลกคืน

ขอให้ ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติลองไปศึกษาวิธีการของรัฐบาลและธนาคารกลางอินเดียในการยกเลิกการใช้ธนบัตรเพื่อปราบปรามการทุจริตเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว

ข้อหก ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้ผู้ว่าคนใหม่ได้ฟื้นฟูเกียรติภูมิของ ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง “สำนักงานธนาคารชาติไทย” ซึ่งต่อมาก็คือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ด้วย เพราะที่ผ่านมาได้มีความพยายามลดบทบาทของรัฐบุรุษผู้นี้ที่มีต่อการจัดตั้งแบงก์ชาติ นอกจากนี้ควรกล่าวยกย่องสามัญชนอีกท่านหนึ่ง คือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เจ้าของหนังสือ “ทรัพย์ศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรก และ ผู้เสนอแนวคิดการจัดตั้งธนาคารกลางตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ข้อเจ็ด ประเทศไทยควรพัฒนาสู่สังคมไร้เงินสด ขณะเดียวกัน หากธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิมพ์ธนบัตรในอนาคตรุ่นใหม่ ควรพิมพ์ให้มีความหลากหลายสวยงาม มีเหตุการณ์สำคัญของประเทศทางด้านต่างๆเพื่อให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวสยาม ขอเสนอให้ ผู้ว่า ธปท คนใหม่ ควรใช้ “พันธบัตร” ของไทยแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นประเทศไทยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของมากขึ้นและควรมีภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ข้อแปด ขอให้ศึกษาถึงข้อดีข้อเสียและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้ “เงินบาท” เป็นเงินสกุลหลักในอินโดจีน พม่าและในขั้นต่อไปในอาเซียน

ข้อเก้า พัฒนาระบบการเงิน ระบบธนาคาร ระบบการชำระเงิน และ การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินซึ่งได้มาตรฐานสากลอยู่แล้วให้ยกระดับขึ้นไปอยู่แถวหน้าของเอเชียเพื่อพัฒนา “กรุงเทพ” ไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียในระดับเดียวกับสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image