ไทยไร้ “โควิด-ASF” โอกาสทองผู้เลี้ยงหมู ราคาตลาดโลกพุ่ง วอน พณ. อย่าจำกัดส่งออก-คุมราคา ช่วยพ้นวังวน “หลายปีแย่ แค่บางปีดี”

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม แหล่งข่าวจากวงการเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผยว่าจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ที่กระจายไปทั่วเอเชีย ส่งผลให้ราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น จากการที่หมูเริ่มขาดแคลน ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะส่งออกหมูไปต่างประเทศและยังเป็นโอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยลืมตาอ้าปากได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากปัญหาหมูล้นตลาดเมื่อปี 2560 ทำให้เกษตรกรเข้าสู่วังวนที่ว่า “หลายปีแย่ แค่บางปีดี” ราคาหมูตกต่ำหลายปี แต่ราคาดีแค่บางปี เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 200,000 ราย ต้องประสบปัญหาราคาขึ้นลงตามวงจรราคาสุกร และปีที่ผ่านมาหลายประเทศเกิดโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ทำให้เลี้ยงหมูต้องเฝ้าระวังป้องกันโรคนี้อย่างเข้มงวด จนทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปลอดโรค ASF

“ปัจจุบันหมูไทยเป็นที่ต้องการของทั่วโลก แต่กลับปรากฏว่ามีการควบคุมราคาหมู และจำกัดการส่งออก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศเสียโอกาส จึงขอความเห็นใจจากผู้เกี่ยวข้องอย่าควบคุมราคาหรือจำกัดการส่งออก ขอให้เกษตรกรมีโอกาสทำกำไร มาชดเชยขาดทุนที่สะสมมานาน”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าว ปัจจุบันถือเป็นโอกาสของหมูไทย ขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้างให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยได้ลืมตาอ้าปากก่อนที่คนเลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจากไปอย่างที่เป็นมา และต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีอาชีพเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นได้ แม้ต้องทนรับราคาตกต่ำมา 3 ปีก็ต้องยอมเพราะทั้งชีวิตก็ทำอยู่แค่อาชีพเดียว ขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้

Advertisement

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก และยังเป็นประเทศที่ปลอดจากโรค ASF ส่งผลให้หมูไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมหมูไทยที่จะส่งออกไปทั่วโลก แต่กระทรวงพาณิชย์ถูกกดดัน เนื่องจากต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศเดือดร้อน อย่างไรก็ตามจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและภาคการส่งออก โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภคในประเทศ

ด้าน น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่จีน หรือเวียดนาม เป็นผลมาจากความต้องการบริโภคยังมีต่อเนื่อง การที่ราคาหมูส่งออกเพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออก ต้องให้โอกาสผู้เลี้ยงได้รับประโยชน์จากการที่หมูมีราคาสูงขึ้น

Advertisement

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลจะใช้มาตรการจำกัดการส่งออกหมู เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ ก็ควรต้องพิจารณาด้วยว่าส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศควรจะต้องเพิ่มหรือขยายการส่งออกได้หรือไม่ เพราะในภาพของอุตสาหกรรมต้องมองอีกแง่ว่า เราส่งออกหมูได้มากขึ้นนั้นเพราะสินค้าเกษตรเรามีมาตรฐานมากขึ้นเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image