พลิกปวศ.อ่างทอง! พบครั้งแรก ‘สุสานยุคหินใหม่ 3 พันปี’ คณาจารย์ผนึกกำลังลงพื้นที่

พลิกปวศ.อ่างทอง! พบครั้งแรกสุสาน ยุคหินใหม่ 3 พันปี คณาจารย์ผนึกกำลังลงพื้นที่

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่บ้านเลขที่ 2 หมู่ 5 ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง นายสมเกียรติ บริบูรณ์ อายุ 54 ปี เจ้าของบ้าน เปิดเผยถึงการค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากบนที่ดินจำนวน 17 ไร่ 2 งาน จากการขุดหน้าดินเพื่อนำไปขาย รวมถึงการให้เช่าพื้นที่เพื่อทำนา ตนจึงเก็บรวมรวมไว้ในห้องพระที่บ้านพัก อาทิ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ และสัตว์ , ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ทั้งที่สภาพสมบูรณ์ และชิ้นส่วนที่แตกหัก เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดิน ก้นกลมทาน้ำดินสีแดง ผิวขัดมัน , ชิ้นส่วนภาชนะลวดลายขูดขีด , หินดุ สำหรับทำภาชนะดินเผา, เครื่องมือหินขัด, ชิ้นส่วนหอกสัมฤทธิ์, ลูกปัดทำจากกระดูกปลาขนาดใหญ่ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีจากสถาบันต่างๆ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจ อาทิ รศ.ดร. รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร , ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม อาจารย์สาขาวิชาพัฒนาสังคมเมือง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร รวมถึงชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

รศ.ดร.รัศมี กล่าวว่า จากการสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้นและพิจารณาโบราณวัตถุที่พบ บ่งชี้ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์รวมถึงอาจเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ตรงกับยุคหินใหม่ เทียบเคียงกับแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรี และแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ดังนั้นจึงเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญสำหรับชาวอ่างทอง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน

อย่างไรก็ตามที่นี่พบภาชนะดินเผาที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากบ้านเก่า และหนองราชวัตร ซึ่งยิ่งทำให้เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ น่าศึกษาอย่างมาก เพราะอาจเป็นลักษณะเฉพาะของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนตัวคิดว่าถึงแม้จะรู้อายุเบื้องต้น สิ่งที่ควรทำต่อไปคือกันพื้นที่และขุดค้นตามหลักวิชาการ

Advertisement

“ถ้าตรงนี้เป็นแหล่งสำคัญ จะเป็นหัวใจระหว่างพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างลพบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งมีชุมชนสำคัญ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประวัติศาสตร์อ่างทองย้อนกลับไปก่อนยุคอยุธยา นี่คือเหตุผลว่าทำไมแหล่งนี้จึงสำคัญมากๆ ของที่เจอ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากกระดูกสัตว์และสำริด ชี้ว่าอย่างน้อยที่นี่มี 2 สมัย คือ สมัยหินใหม่ และสำริด ซึ่งที่ผ่ายมาไม่เคยพบในพื้นที่แถบนี้มาก่อน เมืองโบราณใกล้สุดของแถบนี้ คือ เมืองโบราณคูเมือง ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นเมืองสมัยทวารวดี โดยชั้นล่างสุดเป็นสมัยหินใหม่ เพราะฉะนั้น หากมีการสำรวจเพิ่มเติม แถวนี้อาจมีชุมชนโบราณอีกมาก” รศ.ดร.รัศมีกล่าว

นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกของจังหวัดอ่างทองที่มีการพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รู้สึกยินดีมากที่คณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆร่วมสังเกตการณ์ ตนอยากขอให้กรมศิลปากร ส่งนักโบราณคดีลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อศึกษาขุดค้น โดยอาจมีการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เนื่องจากเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีค่าของประเทศ นอกจากนี้อาจเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต เนื่องจากตั้งอยู่ริมถนน เดินทางเข้าถึงง่ายและเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่นๆได้สะดวก ทางจังหวัดพร้อมทำงานร่วมกันและหาแนวทางร่วมมือในการพัฒนาในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน

นายศุทธิภพ จันทราภาขจี นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เบื้องต้นได้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบถึงการลงพื้นที่ในวันนี้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ตนเคยมาสำรวจแล้ว 2 ครั้ง เชื่อว่าเป็นแหล่งฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากโบราณวัตถุซึ่งเจ้าของที่ดินเก็บรวบรวมไว้ ตนก็เคยเดินสำรวจพบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์เช่นกัน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image