หน้า2 : คิดใหม่‘นิวนอร์มอล’ ฟื้นศก.-ปลุกชีพ‘ท่องเที่ยว’

หมายเหตุ ความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย ในงานเสวนา เรสคิว ฟอรั่ม ทัวริสึม (Rescue Forum : Tourism) “ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตการท่องเที่ยว” เพื่อร่วมกันรีสตาร์ตการท่องเที่ยวไทย ณ ห้องประชุมอาคารข่าวสด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ
รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ความพยายามของทุกหน่วยงานที่จะฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมา ณ ขณะนี้ ต้องบอกว่า 1.การหวังพึ่งการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเวลานี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากความจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด สิ่งที่จะมาทดแทนได้ในยามนี้คงเป็นเรื่องของไทยเที่ยวไทย แต่ก็ไม่สามารถใช้รายได้จากหมวดของนักท่องเที่ยวไทยมาครอบคลุมรายได้ที่สูญเสียไปได้ เพราะแม้กระทั่งในภาวะปกติรายได้ของนักท่องเที่ยวไทยก็มีเพียง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด กล่าวคือ รายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี เกิดจากไทยเที่ยวไทยเพียง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้น จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี หากช่วยกันฟื้น ทุกองคาพยพมาช่วยกันเราก็คงจะมีสถานการณ์กระเตื้องขึ้นในลักษณะผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น แต่ภาพที่จะกลับมาสู่ตัวเลขเดิมที่คุ้นเคย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าจะกลับมาได้เมื่อไหร่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีความซับซ้อนมหาศาล ประเทศที่แน่ก็ยังพลาดพลั้งได้

Advertisement

สิ่งที่ ททท.พยายามมากที่สุด ณ ตอนนี้ ในฐานะหน่วยงานที่ทำด้านการตลาดและขับเคลื่อนอุปสงค์ ปัจจุบันบทบาทของ ททท.ทำอะไรไม่ได้มาก สิ่งที่พยายามทำต่อจากนี้ คือ ไปทำงานกับฝั่งภาคเอกชน (Supply-side) ดังนั้น นอกจากฟังความต้องการของฝั่งภาคเอกชนที่เจ็บปวด ททท.ได้ส่งบุคลากรเดินสายไปทำเวิร์กช็อปขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าภูเก็ต หรือสมุย ก็ได้รับฟังคำเรียกร้องจากภาคเอกชนในทิศทางเดียวกัน คือสิ่งที่จะนำไปสู่การเยียวยายังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) แม้รัฐบาลจะมีนโยบายที่ดีมาก มีการหาเงินก้อนมหาศาลเพื่ออัดฉีดเข้าไปให้เกิดการเยียวยา แต่ก็ยังมีประเด็นปัญหาอยู่ ททท.พยายามที่จะประสานงานทุกรูปแบบ

อีกประการคือ ถ้าเราผ่านจุดนี้ไปได้ สิ่งที่จะต้องเผชิญใหม่ คือ 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวไปทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่เป้าหมาย ทั้งยุโรป อเมริกา ก็ยังไม่ทราบว่าประเทศเหล่านี้จะคุมการแพร่ระบาดได้ดีเพียงใด เราจะไม่เห็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป-อเมริกันเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างชัดเจน หรือแม้แต่ในตลาดระยะใกล้ (short-haul markets) ททท.ได้เซตสถานการณ์ว่าน่าจะกลับมาได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี ก็ต้องเรียนว่าเราไม่แน่ใจ เนื่องจากเปอร์เซ็นต์ความเคลื่อนไหวของโควิด-19 มีความผันผวนอย่างมาก การรับมือกับวิกฤต เรียกว่าปรับแผนกันทุกสัปดาห์ สิ่งที่ควรจะนิ่ง ควรจะจบแล้วเดินต่อไปก็ทำไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้เราจะทำได้ดี แต่ประเทศคู่ค้าอาจทำไม่ดี จึงเรียนว่า การหวังพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างประเทศในชั่วโมงนี้จนถึงปลายปี ค่อนข้างลำบากอย่างมาก หัวใจจึงอยู่ที่คนไทย

2.พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางต่อจากนี้ จะเปลี่ยนไปอย่างมาก ททท.พยายามคิดสูตรเพื่อรับมือพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ที่ 2.1 คนจะลดการเดินทาง 2.2 คนจะลดค่าใช้จ่าย 2.3 คนจะเลือกท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มกับคนที่ไว้ใจ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน ก็ไม่คิดว่าเราจะเห็นภาพของรสบัสขนาดใหญ่ มีทัวร์ไกด์ออกมาถือธงนำนักท่องเที่ยว เดินเข้าชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อีกต่อไป ดังนั้น ในเชิงการขับเคลื่อนอุปสงค์ เป็นภารกิจโดยตรงของ ททท.นั้น ต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจน ได้ออกสูตรการทำงานอย่างง่าย คือ เบสต์ (BEST) เริ่มจาก บี-บุ๊กกิ้ง (B-Booking) นักท่องเที่ยว จากนี้ไป เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เราจะไม่มีทางเห็นนักท่องเที่ยวเดินวอล์กอินเข้าร้าน แต่จะต้องมีการจองล่วงหน้าก่อนเสมอ โรงแรมและสายการบินทำได้ดี แต่ร้านอาหารและสถานประกอบการต่างๆ มีความจำเป็นต้องเซตระบบการจองขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาคือใคร กลุ่มใดและมีโปรไฟล์อย่างไร

Advertisement

อี-เอ็นไวรอนเมนต์ (E-Environment) ขณะที่เรากำลังเวิร์กฟรอมโฮม ธรรมชาติก็เวิร์กฟรอมฮาร์ต เราเห็นธรรมชาติกลับมาดีมาก ดังนั้น การเดินทางในลักษณะท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องสื่อสารกับนักท่องเที่ยวว่า การกลับมาต้องไม่ก่อมลภาวะ ให้ความเจ็บปวดช่วงที่เรามีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน เป็นบทเรียน เพราะเมื่อคนไทยอั้น รัฐบาลปลดล็อก ก็มีกระแสประชาชนเดินทางไปเที่ยวที่หาดบางแสน จะเห็นขยะมหาศาลกองอยู่ที่ชายหาด เป็นภาพที่ไม่ดี จึงต้องเป็นบทเรียนที่ดี จะทำให้เกิดพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่

เอส-เซฟตี้ (S-Safety) ต่อจากนี้ไป นักท่องเที่ยวจะตระหนักอย่างมากในเรื่องของ ไปที่ไหน ทานอะไร พักอย่างไร ความปลอดภัยต้องเป็นตัวนำ โควิด-19 แม้ว่าจะสร้างความเจ็บปวดและผลกระทบมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย แต่เราก็ได้เรียนรู้และนำไปสู่การปรับตัวที่ดี ททท.ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะต้องมี รองอธิบดีกรมการแพทย์ มาเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญ เพราะต้องฟังว่า สธ.จะมีทิศทาง มีแนวทางจัดการอย่างไร กลุ่มธุรกิจไมซ์ (MICE) ก็ยังหาทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนไม่ได้ ว่าต้องจัดการประชุมในระดับใหญ่เรือนพันอย่างไร ยังมองไม่ออก เป็นอีกกลุ่มที่ทำรายได้ อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่สำคัญเช่นกัน

ที-เทคโนโลยี (T-Technology) นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่จะเดินทางเข้ามาหลังจากนี้ จะต้องเดินทางด้วยการใช้สมาร์ทโฟน และเทคโนโลยี หมายความว่าเมื่อเข้าไปต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไทยชนะ หรืออื่นๆ ดังนั้น ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งของผู้ประกอบการ ลองเอาแนวคิด “BEST” ที่ ททท.เข้าไปติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภค มาปรับตัว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

ดร.ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น
ประธานมูลนิธิพัฒนาป่าตอง

ป่าตองคล้ายกับพัทยา และชลบุรี ที่น่าสนใจคือ เป็นตำบลเดียวที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดใน จ.ภูเก็ต และอาจจะมากที่สุดในประเทศ ตำบลเดียวติดเชื้อถึง 86-91 ราย ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ทำรายได้
มหาศาลกว่า 7 แสนบาทต่อปีต่อคน ทุกอย่างดีหมด แต่เวลามีปัญหาโควิด-19 ทุกคนถูกไล่ออกจากภูเก็ต คนไปภูเก็ตกลัวคนภูเก็ต นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ภูเก็ตมีความเก็บกด ลำบากยากเข็ญ ดิ้นรนและเปิดกว้าง สร้างภาษีให้กับประเทศนี้มหาศาล แต่เสียดายที่เมื่อเกิดปัญหากลับมองเราเป็นตัวเชื้อโรค และแม้วันนี้ภาครัฐจะมีนโยบายใด ก็ลืมภูเก็ต เพราะนโยบายที่ออกมาไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อภูเก็ต

ภาครัฐไม่เป็นประโยชน์ใดๆ กับภูเก็ตในเชิงนัยสำคัญมานานกว่า 100 ปีแล้ว ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่น่าเอ็นดู น่าสงสาร ทำรายได้ต่อจีดีพี 209,000 ล้านบาท ทำรายได้กว่า 400,000 ล้านบาทต่อปี มีไฟลต์บินมาภูเก็ตเป็นจำนวนมาก แต่ดูงบประมาณพัฒนาภูเก็ต ถ้าคนภูเก็ตได้ทราบจะรู้ถึงความเจ็บช้ำนี้ว่าอยู่มานานมาก

ภูเก็ตมีข้อเสนอเดียว คือ ต้องการปกครองตนเองในรูปแบบพิเศษ เพราะเงินภูเก็ตหาได้ สิ่งที่หาไม่ได้คือความเป็นตัวตน ความมีศักดิ์ศรีในตัวตน หลายเรื่องที่ภูเก็ตเสียสละไปมากโดยที่ไม่ได้รับอะไรกลับคืนอย่างเป็นธรรม เราอยากได้ความเป็นธรรมกับคนภูเก็ต ทรัพยากรเราเสียสละไปมาก แต่งบประมาณเอาไปใช้เรื่องไฟเสีย น้ำขาด ถนนหนทาง ที่จอดรถ ถนนน้อยรถติด คนท้องถิ่นย้ายไปที่อื่น วัฒนธรรมใน จ.ภูเก็ต กลับสูญหาย จัดงานวัดกลายเป็นมีแรงงานพม่าจำนวนมาก หลายส่วนที่เป็นความประทับใจ อย่างงานกินเจ อีกหน่อยคนภูเก็ตจะไปน้อย เหตุผลเพราะแพ้ทุน แพ้ทาง ไม่มีนโยบายอะไรที่จะทำให้คนภูเก็ต อยู่ที่ จ.ภูเก็ต มีแต่นายทุนถล่มกันเข้ามา ความเจ็บช้ำจึงมีมหาศาลมาก

คำตอบสุดท้ายที่เราอยากได้ คือ การจัดการตนเอง หรือการปกครองรูปแบบใดก็ได้ ที่เราสามารถจัดการตนเองให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อไหร่ที่ภาครัฐจากส่วนกลางเข้าไปข้องเกี่ยว มีเรื่องของใบอนุญาตบ้าง ต้องมีข้อแม้ มีแต่เงื่อนไข สมัยปฏิวัติ 2557 มีการไปรื้อหน้าหาด รื้อความเป็นท้องถิ่น รื้อความเป็นตัวตนของชาวภูเก็ต สิ่งที่เราเคยได้อย่างนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ชาวสแกนดิเนเวียน กลับกลายเป็นจีนและอินเดียมาแทน ได้แต่ตัวเลข แต่ผิดรูปผิดแบบ ผิดหลักการ ทำอย่างกับว่าคนภูเก็ตไม่ใช่คนในประเทศนี้

คนภูเก็ตถ้าให้โหวตพรุ่งนี้ แน่นอนว่าเขาต้องการจัดการตนเองอย่างเต็มร้อย สิ่งที่อยากได้มากที่สุดคือ อย่าให้รัฐราชการจากส่วนกลางเข้าไปยุ่งมาก ยิ่งยุ่งมากยิ่งล้าหลัง ยิ่งยุ่งมากยิ่งถอยหลัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ความจริงภูเก็ตเปิดสนามบินเองได้ โดยปิดเกาะแล้วเปิดโรงแรมโลคอล เพื่อกักตัว 14 วัน แล้วไม่ให้คนออกไปจากเกาะ เที่ยวที่นี่ จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะนโยบายส่วนใหญ่ที่ออกมา หากไม่เปิดสนามบินภูเก็ต ส่วนใหญ่ไปไม่รอด

จีดีพีกว่า 2 แสนล้าน เฉลี่ยต่อหัว 32,000 บาท อยู่ดีๆ เหลือ 5,000 บาท ต่อให้ 10,000 ก็อยู่ไม่รอด ทั้งค่าน้ำค่าไฟ จังหวัดอื่นๆ อาจอยู่ได้ แต่ไม่ใช่สำหรับภูเก็ต กลับใช้นโยบายรัฐราชการ ใช้นโยบายทะเบียนบ้าน แจกถุงยังชีพ แจกเงิน 5,000 บาท ไม่เป็นไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ต้องคิดใหม่กับภูเก็ต ต้องคิดใหม่กับเมืองป่าตอง

ตอนหาเสียง เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาส ลดอำนาจรัฐส่วนกลางเต็มไปหมด ซึ่งดี แต่ป่าตองเห็นอย่างเดียวคือ แค่ตี 4 ก็เป็นเรื่องเป็นราว ทั้งที่ไม่รู้จักถนนบางลา วอล์กกิ้งสตรีทที่ดีที่สุดในโลก มีสถานบันเทิงอันดับที่ 21 ของโลก มีความปลอดภัย มีกล้องวงจรปิด สะอาดที่สุด แต่ไปขอตี 4 ไม่ได้ ทั้งที่มีการทดลองตี 4 มามากกว่า 25 ปี ปีละ 365 วัน สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

กฎหมายเหล่านี้สร้างขึ้นมาเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ใครได้ผลประโยชน์ แค่บางกลุ่ม บางก้อน ยิ่งทำให้ภูเก็ตล้าหลัง คำตอบสุดท้าย จึงต้องการจัดการตนเอง ถ้าเมื่อไหร่จัดการตนเองได้ จะมีความทัดเทียมกับหลายเมือง ทัดเทียมกับกรุงเทพมหานคร ภูเก็ตไม่จำเป็นต้องมีรถไฟฟ้า หรือมีรถราง แต่สิ่งที่อยากได้เบื้องต้น คือ เยียวยาคนรากหญ้า 15,000 บาท เอาไปก่อน แล้วจะไปสู้กับผู้ประกอบการให้ได้อีกวันละ 200-500 ก็ทำไปเถิด เพราะถ้าไม่ตายก็ยังมีโอกาส

อีกเรื่องคือภาคเอกชน ไม่ว่าจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่ แต่เราคือคนไทยเหมือนกัน บางคนไม่ได้เกิดมามีศักยภาพที่พร้อมเท่ากับคนมีใบอนุญาต โควิด-19 ร้องใบอนุญาตไม่มีประโยชน์ ร้องได้คำเดียวคือเราต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน โอบอ้อมอารี ให้ทุกคนได้ประโยชน์จากภาครัฐ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย เพราะคนตัวเล็กพังเมื่อไหร่เราจะไปไม่รอด และจะกลายเป็น
กลียุค ฉะนั้น เวลาออกนโยบายภาครัฐ พยายามอย่าใช้ข้ออ้างกลียุคเช่นนี้ อยากขอร้องให้มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ส่วนตัวยินดี ให้ทุกคนมีมาตรการลงทะเบียนและไปจ่ายภาษี เช่นนี้เห็นด้วย แต่ในช่วงเวลานี้คงต้องขอกันด้วยความเห็นใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ฝากถึงรัฐบาลว่า มีแต่คนสติไม่ดีเท่านั้นที่ทำอะไรเหมือนเดิม แล้วอยากจะได้ผลลัพธ์แบบใหม่ ถ้าเรื่องงบประมาณยังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ก็ไปดูที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดไว้ ว่าเราปกติดีหรือไม่ ปัญหาโควิด-19 ในโลกใบนี้ เปลี่ยนไปแล้ว นี่คือรอบ 1,000 ปี แต่ถ้าคุณยังเอางบประมาณเหมือนเดิม คิดแบบเดิม ทำเหมือนเดิม ไม่คืนอำนาจให้ประชาชน ไม่กระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ ในรอบนี้ถ้าไม่ล้างไพ่ประเทศไทยให้เรียบร้อย โควิด-20 หรือ 21 ก็รออยู่ ถ้าไม่แก้ไขตอนนี้ก็คงลำบาก

ในส่วนของหลักการ แทรเวล บับเบิล สำหรับภูเก็ตก็เป็นไปได้ แต่อันดับแรก อยากเสนอเรื่องวีซ่าภูเก็ตก่อน ถ้าต้องกักตัว 14 วัน ก็ประกาศให้ 1 ปี เพราะไม่มั่นใจว่าวีซ่า ออน อาร์ไรวัล จะสร้างเงินได้มากน้อยแค่ไหน มาอยู่ภูเก็ตกักตัว 14 วัน ทำได้โดยการติดต่อโรงแรมที่จะกักตัว ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นโซน อาจจะมี โซนแดง เหลือง เขียว แต่ต้องจัดการตนเองอย่างละเอียด ไม่ใช่ตัดเสื้อไซซ์เดียว กฎหมายเดียว แล้วไปจัดการทั้งหมด

ภูเก็ตทำได้ พูดง่ายๆ ว่า มีนโยบายปิดประเทศก็ปิดไป แต่เปิดเกาะให้คนมาอยู่ จะออกนอกเกาะไม่ได้ถ้าไม่หมดโควิด ดังนั้น จึงต้องลงทุนเรื่องสาธารณูปโภคและสาธารณสุขให้ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image