‘คุณหญิงกัลยา’ แถลงผลงาน 1 ปี ชูแนวทาง ‘ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน’ มุ่งปฏิรูปการศึกษา

‘คุณหญิงกัลยา’ แถลงผลงาน 1 ปี ชูแนวทาง ‘ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน’ มุ่งปฏิรูปการศึกษา

เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ก้าวสู่ปีที่ 2 ชูแนวทาง ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน ว่า วันที่ 18 กรกฏาคมตนจะดำรงตำแหน่งครบรอบ 1 ปี โดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่องคือ โค้ดดิ้ง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย และอาชีวะเกษตร

คุณหญิลกัลยา กล่าวต่อว่า นับจากนี้ไปการศึกษาไทยจะเผชิญความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตนจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ภายใต้แนวทาง 1. “ทันสมัย” โดยเฉพาะนโยบายเรื่อง โค้ดดิ้ง ที่ออกแบบเนื้อหาหลักสูตร ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อสนับสนุนเด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ถือเป็นการปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชน และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน จนขยายผลออกไปในวงกว้าง และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการจัดอบรมครูออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อม มีครูสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมกว่าสองแสนคน ภายใต้สโลแกน “ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล Coding for All… All for Coding” ซึ่งปัจจุบัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อขับเคลื่อนงาน

“ดิฉันให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียน โดยการพัฒนาทักษะ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยตามความเหมาะสม ทั้งเด็กปกติและกลุ่มเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งทักษะที่สำคัญจำเป็น และควรเน้นเป็นอย่างยิ่ง คือ การคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น โค้ดดิ้งเป็นทักษะการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยสร้างความมีตรรกะและแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

คุณกัลยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการยกระดับคุณภาพวิทยาศาสตร์ไทย โดยได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) ในด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา พัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพสูงทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก รวมไปถึงการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อพัฒนา การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย การเตรียมความพร้อมเพื่อการทดสอบ PISA 2022 โดยใช้แนวทางการพัฒนาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อการยกระดับ ผลการสอบ PISA ของประเทศไทย

Advertisement

รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวต่ออีกว่า แนวทางที่ 2 คือ “เท่าเทียม” การศึกษาไทย จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ในด้านจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ มีโรงเรียนเฉพาะความพิการ 48 โรง นักเรียน 12,388 คน มีศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่ง นักเรียน 26,339 คน และสำหรับเด็กด้อยโอกาส มีโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 51 แห่ง นักเรียน 33,528 คน ในด้านการส่งเสริม สนับสนุนนั้น มีการจัดการศึกษา แบบเรียนรวมทั่วประเทศ 24,216 แห่ง นักเรียน 432,590 คน และมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ

“แนวทางที่ 3 คือ “ยั่งยืน” ยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอด ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน หรือ STI เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็น Digital Agri College”คุณหญิงกัลยา กล่าว

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า รวมถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวษท. จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะใช้กลไกของสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นฟันเฟือง ซึ่งตนได้ผลักดันให้ สกศ.เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

Advertisement

“ทั้งหมดเป็นผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการทำงานใน 1 ปีที่ผ่านมา และในปีที่ 2 ดิฉันจะทุ่มเททำงาน ต่อยอดและร่วมกับทุกภาคส่วนพัฒนาการศึกษา เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดี ของประเทศ แม้จะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนบ้างในบางเรื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้อง “คุณหญิงกัลยา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image