คาดโทษไป จ.ระยอง ไม่รายงานตัว กทม.ปรับ 2 หมื่น

คาดโทษไป จ.ระยอง ไม่รายงานตัว กทม.ปรับ 2 หมื่น

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เปิดเผยว่า ขอให้ประชาชนที่มีเชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้เดินทางไปจังหวัดระยองและได้เข้าพักในโรงแรมดี วารี ดีว่า เซ็นทรัลระยองในช่วงระหว่างวัน 8-11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หรือผู้ที่เดินทางไปยังศูนย์การค้าแพชชั่น ช็อปปิ้ง เดสติเนชั่น (ห้างฯ แหลมทอง) จ.ระยอง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 แจ้งประสานที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (Emergency Operation Center :EOC) โทรศัพท์หมายเลข 09-4386-0051 หรือศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โทร 1646 หรือติดต่อโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตใกล้บ้าน หากไม่แจ้งหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามความในมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 สำหรับบุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่พิสูจน์ได้ว่ารับรู้การเดินทางของบุคคลใดไปยังจังหวัดระยองตามรายละเอียดข้างต้น และไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ตามที่กล่าวมาจะมีความผิดและได้รับโทษเช่นเดียวกัน

สืบเนื่องจากกรณีที่ปรากฏข่าวลูกเรือเครื่องบินทหารชาวอียิปต์เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อปฏิบัติภารกิจทางการทหารและตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยลูกเรือรายดังกล่าวเข้าพักที่โรงแรมดี วารี ดีว่า เซ็นทรัลระยอง เมื่อวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2563 และได้เดินทางไปศูนย์การค้าแพชชั่น ช้อปปิ้ง เดสติเนชั่น (ห้างฯ แหลมทอง) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รอบใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม กทม.จึงขอให้ผู้ที่เดินทางไป จ.ระยอง ในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ไม่ให้เกิดการระบาดแพร่ขยายในวงกว้างต่อไป

 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 31 กำหนดว่า ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ให้บุคคลดังต่อไปนี้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่ 1.เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน หรือแพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาล ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นในบ้าน 2.ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นในสถานพยาบาล

Advertisement

 

3.ผู้ทำการชันสูตรหรือผู้รับผิดชอบในสถานที่ที่ได้มีการชันสูตร ในกรณีที่ได้มีการชันสูตรทางการแพทย์หรือทางการสัตวแพทย์ตรวจพบว่ามีหรืออาจมีเชื้ออันเป็นเหตุของโรคติดต่ออันตราย และ 4.เจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้นในสถานที่นั้น ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตใกล้บ้าน นอกจากนี้มาตรา 50 ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image