สกู๊ป น.1 : “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ปักธงรถไฟฟ้าทั่วประเทศ

งานสัมมนา ”มติชน ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงานŽ” ซึ่งจัดในวันพฤหัสฯที่ 23 กรกฎาคม ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) มีเป้าหมาย สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ต่อโครงการของภาครัฐและเอกชน ที่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลต่อวงจรเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้จากตัวโครงการโดยตรง เพื่อประโยชน์ของประชาชน จากระดับฐานรากขึ้นไป

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน”Ž ในฐานะหนึ่งในวิทยากรงานสัมมนา “มติชน ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงานŽ” ซึ่งจัดในวันพฤหัสฯ ที่ 23 กรกฎาคม ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

ข้อมูลของ รฟม.กับงานก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ผ่านมา

รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (48.0 กม.) (สายสีน้ำเงิน ช่วงท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสอง) เปิดให้บริการระยะแรก เมื่อ 3 ก.ค.47 เปิดช่วงเตาปูน-บางซื่อ เมื่อ 11 ส.ค.60 เปิดช่วงหัวลำโพง-บางแค เมื่อ 29 ก.ย. 2562 เปิดครบทั้งเส้นทางเมื่อ 30 มี.ค. 2563

Advertisement

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (23.0 กม.) (สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน) เปิดให้บริการ เมื่อ 6 ส.ค. 2559

รฟม.กับความคืบหน้าล่าสุดแผนสร้างรถไฟฟ้าใน กทม.-เมืองภูมิภาคนั้น

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาฯ และปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. ตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2570

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เริ่มก่อสร้างเมื่อ 2 พ.ค. 2560 ผลงานแล้วเสร็จ 64.21% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567

รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ครม.ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว โดยคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในปี 2564 และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 มีกำหนดจะประกาศเชิญชวนระหว่างวันที่ 3-24 ก.ค. 2563 และเริ่มขายเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) ระหว่างวันที่ 10-24 ก.ค. 2563

รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นระบบโมโนเรล อยู่ระหว่างงานก่อสร้าง เริ่มดำเนินงานเมื่อ 29 มิ.ย. 2561 ผลงานแล้วเสร็จ 57.53% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564 ส่วนต่อขยายเมืองทองธานี อยู่ระหว่าง รฟม. กำลังนำเสนอ ครม. เพื่อให้เห็นชอบในการดำเนินการต่อไป

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นระบบโมโนเรล เริ่มดำเนินงานเมื่อ 29 มิ.ย. 2561 ผลงานแล้วเสร็จ 58% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564 ส่วนต่อขยายของสายสีเหลือง มีโครงการจะต่อขยายจากแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปถึงแยกรัชโยธิน อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทาน

สายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) (22.1 กม.) อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ เพื่อเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ

สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (14.8 กม.) กทม. เปิดเดินรถ 1 สถานี จากสถานีแบริ่ง-สำโรง เมื่อ 3 เม.ย. 2560 และได้เปิดเดินรถครบทั้งเส้นทางแล้ว เมื่อ 6 ธ.ค. 2561

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รฟม. รับผิดชอบด้านการก่อสร้างงานโยธา ได้ทยอยส่งมอบงานให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยได้เปิดให้บริการ 5 สถานี ช่วงสถานีหมอชิต-สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 และจะเปิดเพิ่มอีก 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรมป่าไม้ สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่ 11 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ในวันที่ 5 มิ.ย. 2563 จากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการตลอดทั้งสายภายในปี 2563

โครงการรถไฟฟ้าเมืองหลักภูมิภาค

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ รฟม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบการดำเนินโครงการและรูปแบบการลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทางประมาณ 15.8 กม. (ทางวิ่งระดับดินประมาณ 9.3 กม. ทางวิ่งใต้ดินประมาณ 6.5 กม.) สถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีบนดิน 9 สถานี สถานีใต้ดิน 7 สถานี ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม แล้วเสร็จ 96% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 แล้วเสร็จ 85% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี อยู่ระหว่างการตรา พ.ร.ฎ.ให้อำนาจ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571

รฟม.กับบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมและสร้างรายได้ รวมถึงการจ้างงาน

สำหรับธุรกิจการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม.นั้น โครงการหนึ่งๆ มีมูลค่าการลงทุนสูง อยู่ในหลัก 50,000-100,000 ล้านบาท เรามีการจ้างงานในท้องถิ่น และ รฟม. ยังได้กำหนดให้โครงการ ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่อง (Supply chain) ได้ โดยตลอดการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าโครงการหนึ่งๆ จะสามารถขับเคลื่อน Supply chain ได้มากถึง 3-4 รอบของมูลค่าโครงการ อันส่งผลต่อเนื่องไปถึงค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2564 ที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตโควิด-19 นี้ ธุรกิจการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. จะมีส่วนช่วยประคองค่าจีดีพีให้ติดลบน้อยลง และยังมีโอกาสทำให้ค่านี้เพิ่มขึ้นได้ในปีหน้าและปีถัดๆ ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image