กรมจัดหางานเตือนภัย “คนไทย” ไปทำงานตปท. สาย-นายหน้าเถื่อนระบาด ย้ำ! ตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน

กรมจัดหางานเตือนภัย “คนไทย” ไปทำงานตปท. สาย-นายหน้าเถื่อนระบาด ย้ำ! ตรวจสอบก่อนจ่ายเงิน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้พบพฤติกรรมการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาจัดหางาน และอาศัยความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด – 19 ในการชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ให้จ่ายเงินเกินจริง และอ้างว่าสามารถพาไปทำงานได้ รวมทั้ง อ้างว่าทำงานในหน่วยงานของรัฐหรือเป็นบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยมีการประชุมพิจารณาลงโทษทางทะเบียนและดำเนินคดีอาญาบริษัทจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยมอบจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด เร่งเตือนภัยรูปแบบกลวิธีการหลอกลวงของสาย-นายหน้า และช่องทางแจ้งเบาะแสร้องเรียน

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การจ้างงานในประเทศชะลอตัว เป็นช่องทางให้ สายนายหน้าจัดหางานเถื่อนลงประกาศโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต และชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลกับกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ของกรมการจัดหางานพบว่ามีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก โดยประเทศที่คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และกาตาร์ ซึ่งปัจจุบัน (ตุลาคม 2562 – มิถุนายน 2563) ได้รับเรื่องร้องทุกข์ กรณีสาย/นายหน้า หลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 177 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 16,894,541 บาท ร้องทุกข์กล่าวโทษตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 แล้ว จำนวน 291 ราย อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด และทำรายงานการสืบสวน หากพบผู้กระทำความผิดจะดำเนินคดีตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 อย่างจริงจัง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่หลอกลวงคนหางานว่าสามารถหางานหรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศ จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000- 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสุชาติฯ กล่าว

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวย้ำว่า ผู้หางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ควรตรวจสอบว่า บริษัทจัดหางานดังกล่าวเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานจริงหรือไม่ หรือตรวจสอบข้อมูลประเทศและตำแหน่งงานจากเจ้าหน้าที่ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินให้ใคร เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง นอกจากนี้ การไปทำงานต่างประเทศ ต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่ 1) บริษัทจัดหางานจัดส่งไป 2) กรมการจัดหางานจัดส่ง 3) เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง 4) นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไทยไปทำงาน และ 5) นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไทยไปฝึกงาน เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี ไม่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ และได้รับการดูแล คุ้มครองตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image