ฝนตกหนักหลายที่แต่ไม่เข้า 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา น้ำน้อยกว่าปี 62 เท่าตัว เข้าขั้นวิกฤต

หวังพายุ เติมน้ำในเขื่อนเดือนสิงหา ฝนตกหนักหลายที่แต่ไม่เข้า 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา น้ำน้อยกว่าปี 62 เท่าตัว เข้าขั้นวิกฤต 

ฝนตกแต่ยังแล้ง วันที่ 20 กรกฎาคม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) รายงานสถานการณ์น้ำฝนทั่วประเทศ ดังนี้ คาดการณ์น้ำฝน ช่วงวันที่ 20 – 22 กรกฎาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยทะเลอันดามัน ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนักได้ในบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ ตราด จันทบุรี ระนอง พังงา ช่วงวันที่ 23 – 26 กรกฎาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับลมตะวันออก เฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักได้ในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ระบบสถานีโทรมาตรตรวจวัดฝน ของสสน. ได้รายงานปริมาณน้ำฝนในช่วง วันที่ 20 กรกฎาคม พบว่า ภาคกลางปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่งในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดขอนแก่น 126 มิลลิเมตร ศรีสะเกษ 98 มิลลิเมตร นครศรีธรรมราช 98 มิลลิเมตร ยโสธร 87 มิลลิเมตร นครราชสีมา 80 มิลลิเมตร สุราษฎร์ธานี 65 มิลลิเมตร อุตรดิตถ์ 62 มิลลิเมตร หนองบัวลำภู 54 มิลลิเมตร ประจวบคีรีขันธ์ 52 มิลลิเมตร น่าน 51 มิลลิเมตร กาญจนบุรี 49 มิลลิเมตร ลพบุรี 48 มิลลิเมตร ตราด 48 มิลลิเมตร กระบี่ 46 มิลลิเมตร เพชรบุรี 45 มิลลิเมตร พิษณุโลก 45 มิลลิเมตร สุโขทัย 45 มิลลิเมตร สกลนคร 44 มิลลิเมตร ยะลา 42 มิลลิเมตร กรุงเทพมหานคร 41 มิลลิเมตร เพชรบูรณ์ 41 มิลลิเมตร นครพนม 40 มิลลิเมตร สระบุรี 40 มิลลิเมตร เลย 37 มิลลิเมตร พัทลุง 37 มิลลิเมตร ราชบุรี 36 มิลลิเมตร แต่กลับพบว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง กลับมีน้ำน้อยมาก น้ำกักเก็บคงเหลือ 30,093 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 42% ของความจุ โดยเป็นปริมาณน น้ำใช้การ 6,824 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม มีปริมาณกักเก็บรวมทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 43 โดยมีเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยดังนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 29 เป็นน้ำใช้การได้จริง 115 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 34 เป็นน้ำใช้การได้จริง 417 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 15 เป็นน้ำใช้การได้จริง 98 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 10 เป็นน้ำใช้การได้จริง 90 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 13 ใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 273.37 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 30 เป็นน้ำใช้การได้จริง 11 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนขุนด่าน และเขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันแค่ 720 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 ที่ในเวลาเดียวกันนี้ที่มีน้ำ 1,514 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาเท่าตัว ซึ่งนับจากวันนี้ไปอีกแค่ 104 วันเท่านั้น ที่จะสิ้นสุดฤดูฝน โดยมีการประมาณการว่า ในช่วงฤดูแล้งของปี 2564 นั้น ความต้องการน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และสำหรับเกษตรกรรม รวมไปถึงการมีไว้ซึ่งรักษาระบบนิเวศน์ จำนวน 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหมายความว่า เขื่อนหลักขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องมีน้ำเพิ่มอีก 11,280 ล้านลูกบาศก์เมตร

Advertisement

ข้อมูล จากสสน. ยังระบุด้วยว่า แม้หลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนัก แต่ฝนจะตกบริเวณใต้เขื่อน เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ แม้บางส่วนจะตกเหนือเขื่อนแต่จากที่แล้งยาวนานติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ทำให้ดินแห้งมาก ปริมาณฝนจึงซึมลงดินไปเกือบหมด แทบไม่เกิดเป็นน้ำไหลลงเขื่อน อย่างไรก็ตามคาดหวังไว้ว่า ช่วงเดือนสิงหาคม น่าจะมีพายุพัดเข้ามาในประเทศไทย 1-2 ลูก ที่จะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มมากขึ้นได้

ทั้งนี้ แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของ สสน. ระบุว่า ในเวลานี้ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล มีลักษณะเช่นเดียวกับ พื้นผิวน้ำทะเลในปี 2538 คือ ลักษณะเช่นนี้ จะมีพายุอย่างน้อย 1 ลูก พัดเข้าประเทศไทย ในช่วงเดือนสิงหาคม หากมีพายุเข้ามาตามคาดการณ์ ก็จะสามารถเติมน้ำใน 4 เขื่อนหลัก รวมทั้ง เขื่อนอุบลรัตน์ ด้วย เพราะเวลานี้เขื่อนอุบลรัตน์ถือว่า มีปริมาณน้ำน้อยที่สุดในประวัติกาล

รายงานจากวาฟ-รอม ระบุด้วยว่า โดยปกติแล้ว พื้นที่ทะเลแปซิฟิกฝั่งตะวันตก ในช่วงเดือน มกราคม ถึง กรกฎาคม จะมีพายุปีละประมาณ 10 ลูก แต่จนถึงขณะนี้ เข้าสู่เดือนที่ 7 แล้ว มีพายุเกิดขึ้นในแปซิฟิกฝั่งตะวันตกแค่ 2 ลูกเท่านั้น และยังไม่มีพายุเข้าประเทศไทยเลย ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าเกิดจากอะไร ตามปกติแล้ว ในเดือนสิงหาคมเดือนเดียว แปซิฟิกตะวันตกจะเกิดพายุ 7-8 ลูก และในจำนวนนี้จะเข้ามาในประเทศไทย 1-2 ลูก แต่ในปีนี้ ยังไม่มีพายุเข้ามาเลย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image