นักปวศ.ดัง แนะทลายวัฒนธรรม ‘ปู่โสมเฝ้าทรัพย์’ จี้หน่วยงานรัฐเอื้อประชาชนขอใช้ข้อมูล (ชมคลิป)

สืบเนื่องกรณีสมุดข่อย หรือ ‘หนังสือบุด’ เก่าแก่สูญหายจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ต่อมา พบว่าถูกโจรกรรมเพื่อจำหน่ายในตลาดมืด กระทั่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตั้งศูนย์บิณฑบาตคืนเป็นสมบัติชาติ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เตรียมขออนุมัติขอออกหมายจับ ซึ่งเบื้องต้นมีการเปิดเผยว่ามีบุคลากรภายในเกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนา ‘พลิกพับบุดสมุดข่อยโบราณ สมบัติชาติ และมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้’

ในตอนหนึ่ง นายภูธร ภูมะธน นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า ตนเป็นชาวนครศรีธรรมราช เหตุที่เมืองนคร มีหนังสือบุดเยอะ เพราะเป็นเมืองนักปราชญ์ ในอดีตมีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจใหญ่ ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ประกอบกับตั้งอยู่ใกล้ทะเล จึงได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลาย เพิ่มพูนประสบการณ์ เชื่อมโยงกับโลก เนื้อหาในหนังสือบุด มีทั้งศาสนา ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ตำรายา วรรณกรรม ตำราดาราศาสตร์ และอีกมากมาย บางเล่มเต็มไปด้วยภาพเขียน ทั้งแบบจารีต และแบบที่เขียนตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หนังสือบุดจากเมืองนคร ส่วนหนึ่งถูกนำเข้ามาในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งก่อตั้งหอสมุดวชิรญาณ ดังนั้น หนังสือบุดจำนวนมากที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ ล้วนมาจากนครศรีธรรมราช บางเล่มเก่าถึงยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน ‘สีมากถา’ ก็ยังมีอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติเช่นกัน และเชื่อว่ามีด้วยกันในหลายพื้นที่

สำหรับการรวบรวมหนังสือบุดโดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยครูทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีการจัดเก็บไว้จำนวนมาก ซึ่งทำให้สามารถรักษาต้นฉบับไว้ได้มากและถูกจัดเก็บเป็นระเบียบ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้หนังสือบุดถูกพรากไปจากชาวบ้านผู้ที่ใช้จริงในวิถีชีวิต

Advertisement

นายภูธร กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้บ้านและวัดที่ครองครองหนังสือบุดโดยยังไม่ได้จัดระเบียบต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป สำหรับหนังสือบุดที่ได้คืนมา ต้องมีการลงทะเบียน จัดเก็บ โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ มีการศึกษา ปริวรรต หรืออ่านแปลเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ ตีพิมพ์เล่มสำคัญ อย่าเก็บเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์

“ถ้าเจอเล่มสำคัญ ต้องจัดพิมพ์เผยแพร่ให้ความรู้ ให้หน่วยราชการที่มีหน้าที่ คือ หอสมุดแห่งชาติรวบรวม แต่ต้องทลายวัฒนธรรมการเก็บรักษาที่ไม่เอื้อเฟื้อผู้ใช้ประโยชน์ การเก็บเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ก็ไม่บังควร” นายภูธรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image