นักวิชาการชี้ส่งออกไทยอ่วม ทั้งปีลบ10% อาฟเตอร์ช็อกโควิด-19 กลืนธุรกิจ-ใช้จ่ายชะงัก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2563 ว่า ครึ่งหลังปี2563 ส่งออกไทยน่าจะยังอาการหนักอยู่ เพราะผลกระทบวงกว้างจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลก โดยเฉพาะตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐ อเมริกาใต้ ลาตินอเมริกา หรือยุโรป จากปลายก่อนจนถึงปัจจุบันกระทบสะสมต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวอย่างหนัก ถือเป็นสัดส่วน 80% ของผลกระทบต่อการส่งออก อีก 20% จะเป็นปัญหาเรื่องข้อพิพากระหว่างสหรัฐกับจีน และความขัดแย้งระดับประเทศต่างๆ บันทอนอารมณ์การใช้จ่าย เพราะวิตกต่อปัญหาว่างงาน กำลังซื้อที่จะยังไม่ดีขึ้น ซึ่งแม้โควิด-19 คลี่คลายลงและแม้จะมีวัคซีนแล้วแต่ระยะแรกก็ยังเป็นการผลิตป้อนคนในประเทศก่อน ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็คงเป็นแบบตัวยู(U) และใช้เวลาฟื้นตัวอย่างต่ำ 1-2 ปี หลังจากปี 2565

” ดูจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด ที่จะคงปิดล็อกประเทศและระงับการเดินทางระหว่างประเทศคงเกิดได้น้อยในช่วง 6 เดือนจากนี้ ดังนั้นจึงเป็นผลกระทบต่อการส่งออกปีนี้ติดลบระหว่างลบ 9.6% ถึงลบ 13% แต่ความน่าจะเป็น70% ปีนี้น่าจะติดลบ 10% หรือมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นการติดลบต่ำสุดรอบ 10 ปี โดยทางศูนย์ฯจะมีการแถลงตัวเลขและปัจจัยบวกและลบต่อการส่งออกปีนี้ในวันที่ 29 กรกฎาคม ” นายอัทธ์ กล่าว

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ในครึ่งปีหลังนี้ แม้จะเริ่มคลายล็อกของธุรกิจในหลายประเทศและเปิดประเทศให้เดินทางบ้างแล้ว แต่ก็พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่เจออาฟเตอร์ช็อก อาจเห็นการปิดกิจการต่ออีกไตรมาส 3และไตรมาส4 ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ ก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาคนตกงานและขาดรายได้ กำลังซื้อหายไป ดังนั้นโอกาสนี้รัฐต้องร่วมมือกับผู้ประกอบการปรับวิธีการและคัดเลือกกลุ่มสินค้าที่มีอนาคตและศักยภาพในอนาคต เช่น ถุงมือยาง พบว่ามียอดซื้อมาถึงปี2565 แต่กำลังการผลิตของโรงงานในไทยจำกัด รัฐควรให้การสนับสนุนเรื่องการเพิ่มเครื่องจักรและหาแหล่งเงินทุนเพื่อการขยายธุรกิจ เพิ่มช่องทางเจรจาและการค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยตรงในแต่ละประเทศ

นายอัทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคการส่งออกนั้นถือว่าเครื่องดับนิ่ง ต้องฝากความหวังไว้กับภาคการบริโภคในประเทศ และภาคการลงทุนโดยเฉพาะภาครัฐ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาในประเทศให้มากที่สุด เหมือนรัฐบาลจีนกระตุ้นใช้จ่ายและลงทุนในประเทศทำให้จีดีพีไตรมาส2 กับมาเป็นบวก 3.2% น่าจะไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจเป็นบวก แต่ที่สิ่งอยากฝากคือรัฐจะออกมาตรการอะไรที่กระตุ้นใช้จ่าย ก็ควรควบคุมป้องกันการฉวยโอกาส ทั้งการขึ้นราคาสินค้า อย่างที่เกิดขึ้นจากค่าที่พักโรงแรมปรับขึ้นเมื่อเข้าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และอยากให้เน้นเรื่องการสร้างความมั่นใจให้เป็นจุดขาย โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ต่อการป้องกันและดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการดูแลเรื่องสุขอนามัยของสินค้าที่ส่งออก โปรโมตต่อเนื่องก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วย

Advertisement

” คณะรัฐมนตรีชุดใหม่(บิ๊กตู่2/2)ที่จะเข้ามา ระยะสั้นอยากให้ออกมาตรการเน้นเรื่องการลดภาระผู้ประกอบการและประชาชน โดยการลดหรือยกเว้นการเสียภาษี หรือทบทวนเรื่อวการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ลดลง เพื่อให้ธุรกิจหรือประชาชนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ระยะสั้นนี้ไม่แค่เติมเงินเข้าระบบและต้องช่วยลดภาระและค่าใช้จ่าย 6 เดือนจากนี้น่าจะช่วยลดความเดือดร้อนได้มาก ซึ่งหลายมาตรการกำลังหมดลงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ” นายอัทธ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image