ข้อเสนอ “นโยบายสาธารณะ” ภายใต้สถานการณ์สงครามการค้ารอบใหม่

แฟ้มภาพ

ข้อเสนอนโยบายสาธารณะภายใต้สถานการณ์สงครามการค้ารอบใหม่ ความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมและความเป็นนิติรัฐ

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สงครามการค้ารอบใหม่จะปะทุขึ้นอีกรอบหนึ่งก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา การกล่าวหาไทยและไต้หวันว่า ปั่นค่าเงินเพื่อเอาเปรียบทางการค้าเป็นส่วนหนึ่งของการกีดกันทางการค้าต่อสินค้าส่งออกของไทยและไต้หวัน สงครามการค้ารอบใหม่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธการเอาชนะในการเลือกตั้งของพรรครีพับรีกันและทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าอาจจะไม่มีการดำเนินการใดๆ ถึงขั้นที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการค้าโลกแต่สร้างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อการเจรจาการค้าเฟสแรกของสหรัฐฯกับจีน รวมทั้งคงไม่มีการเจรจาเฟสสองก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความเสียหายต่อระบบการค้า ผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจของจีนจะมีในระดับหนึ่ง

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ความรุนแรงของการกีดกันทางการค้าจะไม่มากถึงจุดที่จะย้อนกลับไปกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดแรงงานภายในของสหรัฐฯ เอง เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งระบบการค้าโลกที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งมีความซับซ้อนเกี่ยวพันกันมากเกินกว่าที่แนวความคิดแบบชาตินิยมสุดขั้วจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะมีมาตรการแข็งกร้าวทางการค้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้นตามลำดับเมื่อผนวกเข้ากับปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในที่อ่อนแอของไทย 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจทรุดตัวลงได้อีก และในเบื้องต้นจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้นอีก

พร้อมกับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาทองคำแม้นปัจจุบันจะอยู่ในการระดับสูงมากจากการเก็งกำไรเกินขนาดแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย โดย “ประเทศไทย” อาจถูกจับตาและถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อเอาเปรียบทางการค้าสหรัฐอเมริกาได้ โดยประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการปั่นค่าเงินดังกล่าว ไทยไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปและ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ควรดำเนินการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจโดยไม่ฝืนกลไกตลาดต่อไป

แนวโน้มของค่าเงินบาทควรอ่อนค่าลงจากปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ของเศรษฐกิจมหภาคอยู่แล้ว ประเทศไทยมี “อธิปไตยทางเศรษฐกิจ” จึงสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินโดยเฉพาะนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามบริบทความจำเป็นของประเทศที่เผชิญอยู่ การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยประคับประคองการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งโดยไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันของเงินเฟ้อแต่อย่างใด ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาที่น่าวิตกมากกว่า คือ ภาวะเงินฝืด (Deflation) โดยประเทศไทยจะมีภาวะเงินฝืดยาวนานแบบญี่ปุ่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายสาธารณะว่าถูกทิศทางและตรงเป้าหมายหรือไม่ในระยะต่อไป การเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจพร้อมกับการเร่งรัดการลงทุนโดยภาครัฐที่ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากจะเป็นหลักประกันขั้นต้นของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้า

Advertisement

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้น รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และ ระบบการปกครองโดยกฎหมายเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย คือ เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐนิติธรรม (Rule of Law) อันเข้มแข็ง เนื่องจาก ระบบยุติธรรม ระบอบการปกครองที่ยึดถือกฎหมายและความเป็นธรรม จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เป็น Soft Infrastructure ทางเศรษฐกิจ เป็นความเข้มแข็งในเชิงสถาบัน ที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจภาคการลงทุนขับเคลื่อนได้ บางครั้งมากกว่า Hard Infrastructure ที่ต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลในการลงทุนโครงข่ายคมนาคมเวลานี้

ระบบนิติรัฐที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก แต่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติที่ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากได้ การทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เคารพกฎหมาย สัญญาสัมปทานต่างๆมีการดำเนินการตามมาตรฐานสากล หากไม่ทำเช่นนั้น คนจะเคารพกฎหมายน้อยลง นักลงทุนจะไม่มั่นใจในสัญญาสัมปทานต่างๆ จะเลือกใช้วิธีวิ่งเต้นด้วยทรัพย์สินเงินทองและติดสินบน ด้วยสายสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ มากกว่า แข่งขันกันด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพ ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและหลักธรรมาภิบาลอันนำมาสู่การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างรัฐ (ที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ) กับ นักลงทุนธุรกิจเอกชน (ที่ดำเนินโครงการต่างๆโดยได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้) ผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนได้รับการปกป้องและไม่เสีย “ค่าโง่” ด้วยเงินภาษีประชาชน การไม่มี “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” จะนำมาสู่ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองและสังคม อันเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับการบริหารประเทศและการบริหารนโยบายเศรษฐกิจต้องเริ่มต้นด้วยการมีระบบแต่งตั้ง (หากใช้ระบบแต่งตั้ง) ที่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล แต่งตั้งคนดีมีความรู้ความสามารถและซื่อสัตย์มาทำหน้าที่ หากตามระบบต้องใช้วิธีแต่งตั้ง หากเป็นระบบการได้มาซึ่งการทำหน้าที่เป็นระบบเลือกตั้งก็ต้องให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรี อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ใช้อำนาจเงินทุนหรือำนาจรัฐกำหนดผลเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งเกิดจากเจตจำนงอย่างเป็นอิสระของประชาชน หากตามระบบต้องใช้ระบบสรรหา ก็ต้องเป็นระบบสรรหาจริงๆไม่ใช่โดยเนื้อหาหรือความเป็นจริงเป็นการแต่งตั้งแต่เปลือกนอกหรือรูปแบบดูเหมือนประหนึ่งเป็นการสรรหา หากเราเริ่มต้นด้วยการมีระบบสรรหาที่น่าเชื่อถือและโปร่งใสเปิดเผย ความเชื่อมั่นต่อการบริหารนโยบายสาธารณะจะดีขึ้น และ เป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ หากการสรรหาเกิดข้อสงสัยในเรื่องกระบวนการว่าโปร่งใสเปิดเผยหรือไม่ ผู้ที่ได้รับการสรรหาจะทำงานด้วยความยากลำบาก ความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายจะลดลง และ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อนโยบายต่างๆว่าได้ดำเนินการตามหลักการที่ควรจะเป็นหรือเกิดจากแรงกดดันของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่อยู่แวดล้อมผู้อำนาจได้

Advertisement

นายอนุสรณ์ กล่าวถึง ระบบทุนนิยมแบบพวกพ้องและการบริหารงานแบบเล่นพรรคเล่นพวกในหลายประเทศรวมทั้งไทยจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมโลกซับซ้อนและรุนแรงขึ้นอีกในวิกฤตการณ์ทุนนิยมโลกครั้งนี้ การเล่นพรรคเล่นพวกในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆรวมทั้งระบบล็อบบี้ยิสต์ในหลายรัฐบาลทำให้การดำเนินนโยบายทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไม่ได้เป็นไปตามหลักการค้าเสรีที่เป็นธรรมแต่อย่างใด บริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติและกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่มักอาศัยเส้นสายทางการเมืองในการมีอิทธิพลเหนือการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและเครือข่าย บนต้นทุนของระบบการค้าเสรีของโลกและประชาชนโดยทั่วไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image