การช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย ธีรพันธ์ อินต๊ะปาน

 

โควิด-19 (COVID-19) หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ดังนั้น ในเดือนมีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศไทย เพื่อนำไปสู่มาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วนสำหรับจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรค

มาตรการสำคัญประการหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ คือ การช่วยเหลือประชาชน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งตามระเบียบดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด) สามารถช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จำเป็นมากที่สุด คือ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ และการช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

Advertisement

ประการแรก คือ การจะช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่
2) พ.ศ.2561 ได้ ต้องเป็นกรณีเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น จึงมีประเด็นพิจารณาว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสาธารณภัยหรือไม่ ถ้าเป็นสาธารณภัย ถือว่าเป็นสาธารณภัยในระดับใด ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งได้ให้ความหมายของ สาธารณภัยŽ ครอบคลุมถึงโรคระบาดในมนุษย์ ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทําให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ ประกอบกับเหตุผล การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีสาระสำคัญว่า การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนซึ่งต้องใช้มาตรการเข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้างŽ และตามนัยหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 0767 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า กรณีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกรณีสาธารณภัยฉุกเฉินŽ ดังนั้น สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นสาธารณภัย และเป็นสาธารณภัยในระดับฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วนด้วย อันทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่ของตนเองได้ภายในขอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ประการที่สอง ขอบเขตการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 กำหนดให้หากเป็นกรณีสาธารณภัยฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที โดยมิต้องเสนอคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาก่อน และโครงการ (ให้ความช่วยเหลือ) ไม่จําเป็นต้องอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์กรปกครองจึงสามารถดำเนินการ (โครงการ) ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อได้ แต่ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการประสานหรือสนับสนุนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ของตนเองเสียก่อน หากหน่วยงานผู้รับผิดชอบไม่สามารถดำเนินการได้หรือดำเนินการได้ไม่ครบถ้วน และหน่วยงานผู้รับผิดชอบนั้น มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการหรือร่วมดำเนินการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจะสามารถดำเนินป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ได้ โดยสามารถเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวกับยา เวชภัณฑ์ และวัสดุที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ เช่น ถุงมือยางหรือหนัง ผ้าปิดปากหรือปิดจมูก รองเท้ายางหุ้มส้นสูงใต้เข่า (รองเท้าบู๊ต) หรือเสื้อกันฝน เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ปฏิบัติงานได้ แต่ทั้งนี้ ตามระเบียบฯ ดังกล่าว ยังไม่มีอัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ชัดเจน อันทำให้มีปัญหาในการตีความถึงขอบเขตวัสดุที่ใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อว่าสามารถจัดซื้อวัสดุอะไรได้บ้าง และในอัตราเท่าใด

ส่วนการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในการดำรงชีพ เช่น การแจกจ่ายสิ่งของ การมอบเงินช่วยเหลือ หรือการจัดบริการสาธารณะ โดยเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราของกระทรวงการคลัง (ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562)

ประการที่สาม งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามหลักการแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องตั้งจ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น และข้อบัญญัติ (องค์การบริหารส่วนตำบล/องค์การบริหารส่วนจังหวัด) หรือเทศบัญญัติ (เทศบาล) รายจ่ายประจำปีงบประมาณ เพื่อรองรับสาธารณภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แต่กรณีการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เป็นกรณีเกิดสาธารณภัยฉุกเฉิน จําเป็นเร่งด่วน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายๆ แห่ง อาจไม่ได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้หรือตั้งงบประมาณไว้แล้ว แต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่คาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ดังนั้น หากงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนไม่เพียงพอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายจากงบกลางได้ (โดยโครงการช่วยเหลือประชาชนดังกล่าวไม่จําเป็นต้องอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น) และหากงบกลางยังไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่นก็สามารถพิจารณาอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัยหรือป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

ข้อสังเกต เกี่ยวกับการดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ผู้เขียนเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ในสองรูปแบบ คือ ดำเนินการเพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดแก่ประชาชน และดำเนินการเยียวยาและฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัย โดยการดำเนินการภายหลังเกิดสาธารณภัยนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกำหนดโครงการไว้ในแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเสนอคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยสามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือประชาชน และมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ทั้งนี้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ตลอดจนไม่มีหลักเกณฑ์ของกระทรวง
สาธารสุขที่ชัดเจนและครอบคลุมเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้พิจารณางบประมาณสำหรับช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ดีกว่าการต้องรักษาพยาบาลให้ประชาชนเมื่อติดเชื้อโรค หรือดีกว่าการต้องมาแก้ไขปัญหาเมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

จึงมีประเด็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้เพียงใด ผู้เขียนจึงหวังว่า บุคลากร/เจ้าหน้าที่ หรือองค์กร/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์นี้ เพื่อดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติต่างๆ ให้ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นสำคัญ อันจะทำให้การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่โรคระบาดหรือโรคติดต่อสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ธีรพันธ์ อินต๊ะปาน
นิติกรชำนาญการ
องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image