ชป.6 ชี้ ‘ซินลากู’ ส่งผลดีต่อภาคอีสาน ช่วยเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ

ชป.6 ชี้ ‘ซินลากู’ ส่งผลดีต่อภาคอีสาน ช่วยเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้ออกประกาศพายุระดับ 3 หรือพายุโซนร้อน ซินลากูซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งจากการติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะสำนักงานชลประทานที่ 6 (SWOC 6) พบว่าตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 9.22 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 4.08 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 0.29 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 69 แห่งที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกัน 10.79 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนใหญ่ยังมีน้ำอยู่ในปริมาณน้อย ทำให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาค่อนข้างมาก

“อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดภาคอีสานตอนกลาง ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกประมาณ 4,200 ล้าน ลบ.ม. หากฝนตกลงมาบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำหรือพื้นที่ที่สามารถรองรับน้ำฝนได้ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติได้พอสมควร ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 6 จะบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำสายหลักให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาตามนโยบายของกรมชลประทาน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน” นายศักดิ์ศิริ  กล่าว

นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่อว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยตามมาตรการของกรมชลประทาน ทั้ง 3 ส่วน ประกอบด้วย การกำหนดพื้นที่ กำหนดผู้รับผิดชอบ และการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งขณะนี้ทั้ง 5 จังหวัดและ 7 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้กำหนดแผนป้องกันก่อนเกิดอุทกภัย แผนเผชิญเหตุ และแผนพื้นฟูหลังน้ำลด ไว้พร้อมแล้ว นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว

“โครงการชลประทานทั้ง 12 แห่งได้ระดมกระสอบทรายจำนวน 12,000 กระสอบ ไปประจำไว้ที่จุดเสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยัง ,ขนย้ายเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 8 ชุด ไปที่ประจำไว้ที่โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ,ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า อ.เมืองร้อยเอ็ด และบริเวณเรือนจำ จ.ร้อยเอ็ด อีก 1 เครื่อง ที่ จ.กาฬสินธุ์ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณปากหนองเปือยน้อย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ด้าน จ.ชัยภูมิได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณชุมชุนขี้เหล็กน้อย ถนนบายพาส อำเภอเมืองชัยภูมิ ส่วนที่ขอนแก่นได้ติดเครื่องเครื่องสูบน้ำจำนวน 11 เครื่องไว้ตามพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นจุดเสี่ยงในเทศบาลนครขอนแก่น อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ได้ที่เว็บไซต์ http://rio6.rid.go.th/new/ หากต้องการความช่วยเหลือท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านท่าน ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย” นายศักดิ์ศิริ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image