สถานีคิดเลขที่12 : คุ้มค่า-ไม่สิ้นเปลือง โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่12 : คุ้มค่า-ไม่สิ้นเปลือง โดย นฤตย์ เสกธีระ

ดูเหมือนว่าสังคมเริ่มมีความเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เริ่มมีความเห็นว่าน่าลอง

แม้ว่าเส้นทางสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องใช้เวลานาน เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันสร้างกลไกกีดขวางเอาไว้อย่างหนาแน่น

ตามมาตรา 256 รัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในหมวดแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดไว้มากมาย

Advertisement

แม้การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะอยู่ในวิสัย เพราะมีช่องทางเปิดไว้ให้หลากหลาย

ทั้งรัฐบาล ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ในสภาผู้แทน สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของรัฐสภา

รวมทั้งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน ก็มีสิทธิยื่น

Advertisement

แต่สิ่งที่แลดูยากลำบากเห็นจะเป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3

ที่ระบุว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และลงคะแนนโดยเปิดเผย

ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา

ในจํานวนนี้ต้องมี ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน

ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่

ทั้งนี้ ในกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 15 ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

และแม้จะผ่านประชามติมาแล้ว แต่ถ้า ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาหรือของรัฐสภา ก็ยังมีสิทธิเข้าชื่อเสนอประธานแห่งสภาที่เป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดมาตรา 255 หรือไม่

ทั้งนี้ มาตรา 255 ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จบ

นี่เป็นแค่บทเริ่มต้นของการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

แต่แค่บทเริ่มต้นก็ต้องใช้เวลานาน

แม้จะเร่งเวลาให้เร็วอย่างไรก็ต้องใช้เวลา ดังนั้น ไหนๆ ก็ต้องใช้เวลานานแล้ว ก็ใช้เวลาเหล่านั้นให้คุ้มค่า

ข้อเสนอที่ให้ใช้สภาเป็นผู้ร่าง โดยบอกว่า ตั้ง ส.ส.ร.สิ้นเปลือง และใช้เวลานานกว่านั้น

อยากบอกว่า ถ้านานกว่าแล้วได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทำให้คนในชาติได้มีส่วนร่วมในการยกร่าง

แม้จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ หรือใช้เวลานานก็ถือว่าคุ้มค่า

เพราะกฎกติกาใหม่ที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม

ย่อมส่งผลให้ทุกคนยอมรับในรัฐธรรมนูญ

การยอมรับในรัฐธรรมนูญร่วมกันจะนำไปสู่ความสามัคคี

ถ้าประเทศไทยมีความสามัคคีได้

แม้จะต้องใช้เวลานานก็ถือว่าคุ้ม

แม้จะต้องใช้จ่ายงบประมาณมาก ก็ไม่ถือว่าสิ้นเปลือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image