เศรษฐกิจอีสานหดตัว ผลกระทบโควิด ใช้จ่ายลด-ห่วงหนี้พุ่ง

เศรษฐกิจอีสานหดตัว ผลกระทบโควิด ใช้จ่ายลด-ห่วงหนี้พุ่ง

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนจากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดในช่วงต้นไตรมาส รวมถึงมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนหยุดชะงักชั่วคราว ก่อนจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว

โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงตามการใช้จ่ายในทุกหมวดจากกำลังซื้อที่อ่อนแอและผลของมาตรการควบคุมการระบาด โรคโควิด-19 ด้านผลผลิตเกษตรหดตัวจากผลของภัยแล้ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน หลัง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2563 มีผลบังคับใช้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่หดตัวสูงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาตลาดโลก ประกอบกับค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาที่ลดลงตามมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก

นายประสาทกล่าวต่อว่าสำหรับภาคการเงิน (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563) ยอดเงินฝากคงค้างขยายตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากเงินเยียวยาภาครัฐ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเล็กน้อย จากสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวจากสินเชื่อครัวเรือน

“เศรษฐกิจอีสานมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดีทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น และการลงทุนภาครัฐและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่จะมีการเร่งเบิกจ่ายหลังงบประมาณได้รับการอนุมัติ ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ

Advertisement

และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เปราะบางจากการจ้างงานและรายได้ที่ลดลง ขณะที่ระดับหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของการค้าโลกด้วย”นายประสาทกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image