เรื่องเล่าในโรงเรียน ‘ความรุนแรง ทรงผม กระโปรงสั้น คำดุด่า’ นักเรียนไทย ไม่ไหวแล้วโว้ย!

เรื่องเล่าในโรงเรียน 'ความรุนแรง ทรงผม กระโปรงสั้น คำดุด่า' นักเรียนไทย ไม่ไหวแล้วโว้ย!

เรื่องเล่าในโรงเรียน ‘ความรุนแรง ทรงผม กระโปรงสั้น คำดุด่า’ นักเรียนไทย ไม่ไหวแล้วโว้ย!

ออกตัวว่าไม่ได้มาเพื่อ “ล้มรัฐบาล” เหมือนหลายๆ ม็อบเยาวชน แต่มารวมตัวเพื่ออยากสะท้อนปัญหาในโรงเรียน เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยดูแลแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็น “การเคารพสิทธิมนุษยชน”

จึงเป็นที่มาของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการเชิญให้ผู้คนที่ผ่านไปมาย่านสยามสแควร์วัน ลงโทษตัดผมนักเรียนที่ไว้ผมยาวผิดระเบียบ จนเป็นกระแสดังในโซเชียลมีเดีย

ต่อมาได้รวมกลุ่มไปยื่นหนังสือต่อ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความชัดเจนการบังคับใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ที่อนุญาตให้นักเรียนชาย “ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม” ส่วนนักเรียนหญิง “ไว้ผมสั้น หรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย”

แต่นักเรียนชายและหญิงในหลายภูมิภาค ก็ยังถูกบังคับตัดผมสั้น จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่าระเบียบใหม่ใช้ไม่ได้จริง!

Advertisement
กลุ่มนักเรียนเลวเชิญตัดผมลงโทษนักเรียนทรงผมผิดระเบียบ ย่านสยามสแควร์วัน
กลุ่มนักเรียนเลวเชิญตัดผมลงโทษนักเรียนทรงผมผิดระเบียบ ย่านสยามสแควร์วัน
กลุ่มนักเรียนเลวยื่นหนังสือเรียกร้อง ปลัด ศธ.

ล่าสุด กลุ่มนักเรียนเลวได้รวมตัวไปเรียกร้อง ศธ.อีกครั้ง และแสดง 3 จุดยื่นให้ ศธ.ดำเนินการแก้ไข คือ 1.ครูต้องไม่ทารุณกรรมนักเรียน 2.กฎระเบียบต้องไม่ละเมิดสิทธินักเรียน และ 3.นักเรียนต้องสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ

ภายในงาน แกนนำกลุ่มนักเรียนเลวได้สะท้อนเรื่องเล่าในโรงเรียน ผ่านการปราศรัย และขับร้องเพลง “ลามะลิลา” เสียดสีปัญหาการศึกษาไทย ไล่ตั้งแต่ประเด็น “ทรงผมตัดสั้น เครื่องแบบบังคับ ครูใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชา การสอบคัดเลือกหลายรอบ”

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ อายุ 17 ปี ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว เล่าสะท้อนปัญหาทรงผม ที่เขาได้เผชิญและต่อสู้มา 2 ปี ว่า ปัญหาทรงผมเรื้อรังมาหลายสิบปี แม้ ศธ.จะออกระเบียบปี 2563 ที่อนุญาตให้นักเรียนไว้ผมสั้นหรือยาวได้ แต่สำนักนิติการ สำนักงานปลัด ศธ. ก็ตีความภายหลังว่า คือการให้โรงเรียนสามารถออกระเบียบได้ แต่ไม่มากกว่าหรือแย้งกับระเบียบ ศธ.ที่ออก ฉะนั้น สถานศึกษายังสามารถออกระเบียบเรื่องทรงผม ให้นักเรียนตัดผมสั้นเกรียนได้เหมือนเดิม ทำให้โรงเรียนยังคงจำกัดสิทธิของนักเรียน

Advertisement

ลภนพัฒน์ให้ความสำคัญกับเรื่องทรงผมมาก เขารู้ว่าทรงผมใดจะช่วยให้ใบหน้าเขาดูดี เป็นเหตุให้เขาไม่เรียนต่อชั้น ม.4 ที่เข้มเรื่องทรงผมสั้น จึงย้ายมาเรียนระดับ ปวช.ในสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่วายถูกบังคับตัดผมสั้น เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ตั้งแต่การยื่นจดหมายถึงครู และผู้บริหารสถาบันการศึกษา แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายต้องยอมลาออกมาเรียน กศน. จนถึงปัจจุบัน ก่อนมาเข้าร่วมในกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อผลักดันข้อเสนอดังกล่าว ทั้งในฐานะผู้ประสบเหตุและผู้รับฟัง

“การต่อสู้เรื่องนี้ โดดเดี่ยว ไม่มีใครช่วยหรอก ไปบอกครู ก็เจอคำพูดที่ว่า โรงเรียนอื่นเขาก็ทำกัน ผมซึ่งได้ยินเสียงบ่นมากมายในโลกออนไลน์ มีความเข้าใจ และไม่อยากส่งต่อการลิดรอนสิทธิอย่างนี้อีกต่อไป” ลภนพัฒน์กล่าว

กลุ่มนักเรียนเลวได้รวมตัวไปเรียกร้อง ศธ.
กลุ่มนักเรียนเลวได้รวมตัวไปเรียกร้อง ศธ.
กลุ่มนักเรียนเลวได้รวมตัวไปเรียกร้อง ศธ.
กลุ่มนักเรียนเลวได้รวมตัวไปเรียกร้อง ศธ.

แนวร่วมกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งมาจากโรงเรียนต่างๆ ใช้โอกาสหลังเลิกเรียนมาร่วมแสดงจุดยื่น แต่ละคนนำเทปสีดำมาปกปิดรายชื่อและตราสถานศึกษาบนชุดนักเรียน แต่พร้อมจะเปิดประสบการณ์นักเรียนไทยไม่ไหวแล้ว!

เริ่มที่ เอ (นามสมมุติ) อายุ 14 ปี นักเรียนชายชั้น ม.3 จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เล่าว่า ผมไม่อยากเห็นภาพระบบการศึกษาที่ล้มเหลวอีกแล้ว อย่างตอนนี้ที่ครูสั่งงานเยอะ แต่เอาจริงๆ พอส่งครูก็ไม่ตรวจด้วยซ้ำ เข้าห้องมาสอนก็เหมือนมาเฉลยเนื้อหา ไม่สอนให้เข้าใจถึงเนื้อหา ผมเจออย่างนี้มา 3 ปีแล้ว

เอร่วมสนับสนุนให้นักเรียนสามารถไว้ผมยาวได้ เพราะเรื่องทรงผมไม่ได้ผลมีผลต่อการเรียน อีกทั้งพยายามสะท้อนการใช้อำนาจในโรงเรียน ทั้งครูและรุ่นพี่ อย่างครูที่สั่งงานเยอะ งานด่วน โดยไม่สนใจตัวนักเรียนว่าได้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง และจะมีความสุขในชีวิตวัยเรียนหรือไม่ ส่วนรุ่นพี่ก็ใช้ความรุนแรงกับรุ่นน้องในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำไม่ทันตามสั่ง จะถูกสั่งวิ่งรอบสนาม ถูกทุบตี บางครั้งยังถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยอ้างว่ารับน้องเข้ากอง เออยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสนใจปัญหาการศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นพื้นฐานของปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

เช่นเดียวกับ บี (นามสมมุติ) อายุ 14 ปี นักเรียนชายชั้น ม.3 มาพร้อมเอ ในใจยังกล้าๆ กลัวๆ กับการออกสนามประท้วงครั้งแรก เล่าว่า แม้หลายคนจะกำหนดบทบาทนักเรียนต้องมีหน้าที่เรียน แต่ผมก็สนใจเรื่องการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ฉะนั้น เมื่อประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมและเพื่อนๆ ก็มีสิทธิออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ พวกเราไม่ได้เป็นเด็กก้าวร้าว เพียงแค่ต้องการออกออกมาแสดงความคิดเห็น

บีอยากให้ ศธ.มีกระบวนการคัดเลือกหรือส่งเสริมครู ให้รู้จักหลัก “จิตวิทยา” เขาสะท้อนว่าครูเดี๋ยวนี้พูดแรง ไม่คำนึงถึงจิตใจนักเรียน ทั้งยังพูดจาข่มขู่ ลงโทษก็รุนแรง นิดๆ หน่อยก็ตี และทำโทษทั้งห้องแล้ว

ส่วน ซี (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี นักเรียนหญิงชั้น ม.5 จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เล่าว่า โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่แห่งสิทธิและเสรีภาพ แต่สิ่งที่เจอมาตลอดคือ ความคิดของนักเรียนถูกจำกัด เสรีภาพก็ไม่มี อย่างเรื่องทรงผม ที่เป็นการตัดสินคนจากภายนอก อย่างดิฉันเคยเจอคำพูดครูท่านหนึ่งครั้ง ที่ตัดผมหน้าม้ามาโรงเรียน ว่า “จะมาหาผู้ชายเหรอ” ทั้งที่ตัดเพราะเราอยากตัด เป็นสิทธิของเรา ทำไมต้องให้ใครมาตัดสิน

“คิดว่าเรื่องทรงผมนักเรียน การใส่กระโปรงสั้นยาว กระทั่งใส่เสื้อซับใน ไม่สามารถตัดสินความเป็นคนและผลการเรียนได้ เพราะคนจะดีจะร้าย ขึ้นอยู่กับการปลูกฝังและได้รับการเอาใจใส่ของครอบครัวมากกว่า”

ซีมองระเบียบทรงผม การแต่งกายที่เคยปฏิบัติได้ที่ผ่านมา คือความเคยชินของคนรุ่นก่อนที่ยอมถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ แต่ไม่ใช่กับเด็กและเยาวชนรุ่นนี้ ที่จะไม่ทนอีกต่อไป เธอมองว่า “ในเมื่อบอกว่านักเรียนมีหน้าที่เรียน ครูก็ต้องมีหน้าที่สอน ไม่ใช่มาละเมิดสิทธิกัน โฟกัสเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการสอน”

เช่นเดียวกับ ดี (นามสมมุติ) นักเรียนหญิงชั้น ม.4 จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สังกัด สพฐ. สะท้อนว่า หากอยากเรียนหนังสือให้เก่งในสมัยนี้ แค่อ่านตำรามาอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ ต้องเรียนให้มากกว่าที่มีในตำรา หลายคนจึงต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่ม ส่วนการที่โรงเรียนเอาชื่อคนสอบติดแพทย์มาขึ้นป้ายเชิดชูนั้น มองว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับวิชาชีพนี้มากเกินไป ทั้งที่วิชาชีพอื่นก็ต้องใช้ความสามารถเข้ามาเหมือนกัน และไม่ว่าเรียนอยู่โรงเรียนหรือสถาบันใด ก็สามารถเป็นคนดีคนเก่งได้เช่นกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชื่อสถาบันถึงจะเป็นคนดีคนเก่งได้

ดีก็เป็นอีกคนที่มองระบบการศึกษาที่ดี คือการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนจริงๆ นักเรียนสามารถมีสิทธิเรื่องทรงผม การแต่งกายอะไรก็ได้ ที่ไม่ผิดกาลเทศะ เพื่อมีความสุขกับการมาเรียน

หลากเรื่องเล่าในโรงเรียน

กลุ่มนักเรียนเลว
กลุ่มนักเรียนเลว
กลุ่มนักเรียนเลว
กลุ่มนักเรียนเลว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image