พณ. ผนึกผู้ส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ จัดขายผ่านออนไลน์พร้อมกันทั่วโลก 11-14 ส.ค.นี้

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปีนี้ กรมได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมเพื่อให้สอดรับกับมาตรการและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทั้งต่อการผลิตและส่งออก รวมถึงความกังวลของนักธุรกิจทั่วโลกในด้านความปลอดภัยและความยุ่งยากในการเดินทางระหว่างประเทศ กรมจึงนำงาน STYLE Bangkok ซึ่งเดิมกำหนดจัดเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรับเป็นช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อ-ผู้นำเข้าจากทั่วโลกได้เจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทย ในช่วงที่ยังต้องรักษาระยะห่าง ( Social Distancing) กันอยู่ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยไม่เสียโอกาสทางการค้า และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของไทย ที่มีความพร้อมในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ การจัดงาน STYLE Bangkok Telematching in Lifestyle Online Virtual Exhibition : LOVE จัดระหว่าง 11-14 สิงหาคม โดยเป็นกิจกรรมออนไลน์แบบไฮบริด ผสมผสานระหว่าง 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์แบบ One-on-One Online Business Matching พร้อมส่วนจัดแสดงสินค้าตัวอย่างเพื่อนำเสนอแก่ผู้ซื้อแบบ Live Streaming ควบคู่กับการนำเสนอสินค้า โดยผู้ซื้อ ผู้นำเข้า สามารถชมงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok เสมือนจริง หรือ Virtual Exhibition ผ่านเว็บไซต์ www.stayinstylebangkok.com และเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์ โดยกรมเตรียมอุปกรณ์ ระบบ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนล่ามแปลภาษาไว้ให้บริการ หรือสามารถเจรจาการค้าออนไลน์ ณ บริษัทของผู้ประกอบการตามความสะดวก

นายสมเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ มีผู้ซื้อและผู้นำเข้าลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ 118 ราย จาก 31 ประเทศ โดย 5 ประเทศลงทะเบียนสูงสุด ได้แก่ เมียนมา สหรัฐฯ อินเดีย จีนและญี่ปุ่น และยืนยันตอบรับจับคู่เจรจาแล้ว 103 คู่ จาก 14 ประเทศ และรอตอบรับนัดหมายอีก 134 คู่ ขณะที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของไทย แสดงความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม 187 บริษัท คาดจะสร้างมูลค่าการส่งออกทันทีและภายใน 1 ปี มากกว่า 1,000 ล้านบาท จากสินค้า 4 กลุ่มได้แก่ Host & Home เจาะกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหาร และโปรเจกต์ต่างๆ Gifts for All เจาะห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกประเภทคอนเซ็ปท์ สโตร์ ซีเล็คเต็ดช็อป Fashion in Love เจาะกลุ่มสิ่งทอ แฟชั่น เครื่องหนัง กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้ากีฬา และ The Niche เจาะตลาดเฉพาะกำลังซื้อสูง ได้แก่ สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง สินค้าผู้สูงอายุ และสินค้าแม่และเด็ก

“ผู้ประกอบการไทยจำเป็นปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด เตรียมพร้อมในการเข้าถึงลูกค้าและแสวงหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ การค้าออนไลน์กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับปรุงและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าสิ่งทอหันมาให้ความสำคัญกับการผลิต Functional Textile พัฒนาเสื้อผ้า ยูนิฟอร์มป้องกันเชื้อโรคให้บุคคลกรทางการแพทย์ ผู้ประกอบการเสื้อผ้าแฟชั่นที่ปรับตัวโดยนำวัตถุดิบ เครื่องจักร และฝีมือแรงงานมาผลิตหน้ากากผ้าป้องกันเชื้อโรคในภาวะที่สินค้าขาดตลาด หรือหันมาพัฒนาสินค้าตกแต่งบ้านที่มีฟังก์ชั่นตอบโจทย์การใช้ชีวิตในที่พักอาศัย หรือการ Work from Home มากขึ้น” นายสมเด็จ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image