ไม่ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นผู้ใดพรรคใด นโยบายแข็งกร้าว ที่มีต่อ จีน ก็คงดำรงอยู่ โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ไม่ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นผู้ใดพรรคใด นโยบายแข็งกร้าว ที่มีต่อ จีน ก็คงดำรงอยู่

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน คงจะได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2020

โจ ไบเดน ก็จะกลายเป็นผู้ท้าชิงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ปฏิเสธมิได้ว่า หลายเดือนที่ผ่านมา คะแนนความนิยมของไบเดนเป็นต่อทรัมป์หลายขุม

Advertisement

หากมิได้หมายถึงไบเดนจะชนะการเลือกตั้ง เพราะจากนี้ไปถึงเดือนพฤศจิกายน ไม่สามารถทราบได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อันอาจส่งต่อผลการ
เลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

ดูอย่างปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนิยมนำหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ ไปมาก ทิ้งห่างกันชนิดมองไม่เห็นฝุ่น แม้กระทั่งนาทีที่ผู้ใช้สิทธิหย่อนบัตร โพลก็ยังบอกว่านำอยู่

ในที่สุดก็แพ้

Advertisement

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ตราบใดที่บัตรยังไม่อยู่ในหีบเลือกตั้งก็ยังเชื่อมิได้

เวลา 3 ปีที่ผันผ่าน ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ นับวันดุเดือดและรุนแรง

ประธานาธิบดีคือประมุขของสหรัฐ เป็นตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

ประชาคมโลกจึงมองว่าการที่สหรัฐมีนโยบายที่แข็งกร้าว ก็เพราะเกิดจากทรัมป์แต่ผู้เดียว

ทว่าเป็นข้อสรุปในเชิงจินตนาการ

และก็มีคำกล่าวว่า หาก “ทรัมป์” แพ้การเลือกตั้ง “ไบเดน” ขึ้นแทนตำแหน่ง สหรัฐก็จะอำลาความแข็งกร้าวต่อจีน ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐก็จะดีขึ้นและกลับมาร่วมมือกันอีกวาระหนึ่งนั้น

ล้วนเป็นประเด็นที่สร้างความสับสนโดยปราศจากหลักแห่งตรรกะ

ความจริงปรากฏว่า เวลา 2 ปีที่ผ่านมา อันนโยบายที่แข็งกร้าวที่มีต่อจีนนั้น ล้วนเป็นมติของสภาคองเกรส โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรค
เดโมแครตและพรรครีพับลิกัน

แม้พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคมีความขัดแย้งกันรุนแรง กฎหมายภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการรักษาพยาบาล ตลอดจนงบประมาณต่างๆ

ผลการลงมติปรากฏว่า 2 พรรคใหญ่มีความเห็นตรงกันข้าม กล่าวคือ ร่างกฎหมายที่ผ่านการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีเดโมแครตครองเสียง
ข้างมาก แต่หลายครั้งที่ไม่ผ่านมติจากวุฒิสภาซึ่งมีรีพับลิกันครองเสียงข้างมาก

แต่กฎหมายที่มุ่งเป้าต่อปักกิ่ง ไม่ว่าร่างกฎหมายท่องเที่ยวไต้หวัน ไม่ว่าร่างกฎหมายนโยบายมนุษยชนของชาวอุยกูร์ ไม่ว่าร่างกฎหมายเกี่ยวแก่มนุษยชนและประชาธิปไตยของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้ผ่านการลงมติทั้งสองสภาอย่างเป็นเอกฉันท์

ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ และเป็นที่ประจักษ์ว่า การที่สหรัฐมีนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนนั้น เป็นเรื่องที่พรรครีพับลิกันและเดโมแครตรับรู้และเห็นพ้องร่วมกัน

หากมิใช่เป็นบัญชาของประธานาธิบดีหรือพรรคหนึ่งพรรคใด

การเลือกตั้งปี 2016 ไม่ว่าฮิลลารี คลินตัน พรรคเดโมแครต ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ พรรครีพับลิกัน ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า ควรต้องประกาศว่าจีนคือประเทศที่ครอบงำค่าเงิน และจะต้องปรับขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอันเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจีน

สื่อในสหรัฐและจีนต่างพยากรณ์ในขณะนั้นว่า ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือก นโยบายต่อจีนน่าจะมีความจริงจัง และได้ผลประโยชน์ในทางการค้าโดยมิต้องได้รับการแทรกแซงจากคตินิยมต่างๆ และยังมีข่าวว่าครอบครัวโดนัลด์ ทรัมป์ มีธุรกิจในจีน

โดนัลด์ ทรัมป์ คงมิอาจแข็งกร้าวต่อปักกิ่ง

หลังจากทรัมป์รับตำแหน่ง 1 ปี ยังมิได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา คือปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน พรรคเดโมแครตจึงกดดันให้ทรัมป์ดำเนินการโดยด่วน

มีนักวิเคราะห์เห็นว่า ทรัมป์อาจจะให้จีนเป็นคนกลางเจรจากับคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อทำการประนีประนอมกับสหรัฐในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น จึงชะลอเรื่องการค้าไว้ก่อน

ต่อมาปี 2018 สหรัฐได้ปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเป็นการใหญ่ อีกทั้งทำการเชือดธุรกิจไฮเทคโนโลยีของจีน

ความฝันที่จะให้ทรัมป์ไยดีกับจีนนั้น จึงต้องลอยไปกับสายลม

การเปลี่ยนแปลงนโยบายสหรัฐที่มีต่อจีน โดยปกติจะต้องใช้เวลานานในการเจรจา

ยากที่จะกลับไปกลับมาในระยะเวลาอันสั้น

ทิศทางแข็งกร้าวของสหรัฐที่มีต่อจีนนั้น ความจริงเริ่มตั้งแต่สมัยบารัค โอบามา

ความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐเกิดขึ้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจสึนามิ 2008 ธุรกิจสหรัฐจำนวนไม่น้อยได้ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกว่า ประเทศจีนมิได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในระแรกเริ่มเข้าเป็นสมาชิก และจีนถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดต่อสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา

ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศจีน มีผลกระทบและท้าทายต่อสหรัฐมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดถึงสมัยที่ 2 ของ “บารัค โอบามา” จึงได้ผ่านช่องทางการทหารกลับคืนสู่เอเชีย (Pivot to Asia) ทั้งนี้ โดยใช้ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นอาวุธมาทำการล้อมประเทศจีน (Trans-Pacific Partnership = TPP)

ต่อมาสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยกเลิก TPP โดยการเปลี่ยนเป็นปรับเพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้า จีนและคว่ำบาตรเทคโนโลยีจีน

กล่าวโดยสรุปคือเป้าหมายสกัดจีนเหมือนกัน เปลี่ยนแปลงแต่วิธีการเท่านั้น

หรือกล่าวอีกนัย 1 คือ เนื้อเพลงเดิม เปลี่ยนแต่ทำนอง

ขอตัดกลับมาสมัยบารัค โอบามา โดยรับตำแหน่ง 2 สมัยคือตั้งแต่ 2009-2017

ตั้งแต่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ดำรงตำแหน่งปี 2009 จวบจนปีสุดท้ายของสมัยแรกสินทรัพย์รวมของสหรัฐลดลงถึงร้อยละห้าสิบ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่คืบหน้า ละม้ายกับการเต้นจังหวะ “สโล” จำนวนคนตกงานสูงถึง 14 ล้านคน ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 แน่นอน

รวมจำนวนสมาชิกครอบครัวและเครือญาติของผู้ตกงาน น่าจะเป็นเหตุให้ “โอบามา” อย่างน้อยต้องสูญเสียคะแนนเสียงถึงประมาณ 40 ล้านเสียง

เป็นสัญญาณแห่งความเสื่อมที่กำลังจะมาเยือน

เพื่อหาทางออก “โอบามา” จึงเปลี่ยน “เกม” เล่นโดยละทิ้งแผนการ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นงานหลักของรัฐบาล และวิ่งรอกปราศรัยหาเสียงตามรัฐต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ การกลับคืนสู่ฐานเอเชียแปซิฟิกอีกวาระหนึ่ง ตลอดจนปัญหาคุกคามจีน ฯลฯ

ล้วนเป็น “ทางเลือก” ของ “โอบามา” ในยามที่ “ไม่มีทางเลือก” กระทั่งประเด็นที่กระทบถึงสัมพันธไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐ เขาก็ทำเพื่อแลกกับบัตรเลือกตั้งที่จะมาถึงในสมัยที่ 2

จึงไม่แปลกที่ “ฮิลลารี คลินตัน” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่กำลังเล่นหมากล้อมกับจีนและหันมาเล่นบท “ต่อต้านจีน” อย่างแข็งกร้าว ซึ่งถือเป็นยา “ชูกำลัง” ของอเมริกันชน ทั้งนี้ เพื่อต้องการเรียกเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะว่า

ประชาธิปไตยแบบอเมริกันได้สอนคนอเมริกันว่า “ต้องเล่นละครระดับสากลเท่านั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงจะสนับสนุนให้เป็นประธานาธิบดี”

ฉะนั้น “ฮิลลารี” จึงกลายเป็น “เบี้ย” ที่ทำหน้าที่ป้องกัน “ขุน” เพื่อรักษาแชมป์ไว้อีกหนึ่งสมัย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้าทายจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสหรัฐจะกลับมาครองความเป็นเจ้าในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่อต้านคนจีนที่ต้องการ
ขับไล่สหรัฐออกจากแปซิฟิกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสหรัฐยังมีผลประโยชน์ที่ทะเลจีนใต้จึงได้สลับฉากเล่น เพราะเป็นงานถนัดของ “ฮิลลารี” จนเป็นเหตุให้สังคมโลกวิพากษ์กันว่าเป็นเรื่องที่เหลวไหลยิ่ง เพราะเป็นการมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยแท้

การที่รัฐบาลโอบามาต้องการจะกลับมาครองความเป็นใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกวาระหนึ่งนั้น เป็นพฤติการณ์ “ตอนจีน” อย่างเน็ตๆ

จากการสำรวจประชามติเมื่อไม่นานมานี้ปรากฏว่า ไม่ว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งพรรคเดโมแครต รีพับลิกัน หรืออิสระ ล้วนถือว่าจีนคือประเทศที่เป็นศัตรูต่อกัน สัดส่วนขึ้นสูงตามลำดับ

ไม่ว่าป้ายโฆษณาหาเสียงของไบเดน หรือของทรัมป์ต่างได้โจมตีซึ่งกันในประเด็นยอมอ่อนข้อให้จีน และประกาศว่าตนคือผู้ที่มีความแข็งกร้าวต่อจีนที่แท้จริง

ฉะนั้น ผู้ใดที่ฝันหวานว่าปีหน้าเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐจะกลับสู่สภาพสมานฉันท์เหมือนครั้งหนึ่งในอดีตนั้น

คราวนี้คงไม่มีวัน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image