เดินหน้าชน : ทางออก‘หนี้ครู’ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เดินหน้าชน : ทางออก‘หนี้ครู’ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ช่วงประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างอภิปรายสนับสนุนตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านการศึกษา (การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู)” เป็นญัตติของ ปรีดา บุญเพลิง ส.ส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

“ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม” ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย พูดในสภาว่า สมัยเป็นครูได้ 6 เดือน ต้องกู้เงินเพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์ใช้ขี่ไปโรงเรียน และมองว่า “การปลดหนี้ครูเป็นไปไม่ได้ แต่ช่วยลดภาระได้”

ครูมานิตย์บอกอีกว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ใครๆ ก็กู้ หากจิ้มเฉพาะครูที่ตกเป็นหนี้วิกฤตจริงๆ เชื่อว่ามีไม่มาก เหตุที่สถาบันการเงินชอบจัดกู้เงินให้ครู เพราะเชื่อเครดิตในอาชีพนี้จึงฝากไปยังรัฐบาล อยากให้จัดเงินก้อนเหมือนเงินฟื้นฟูโควิด ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศนำไปปล่อยกู้ครูด้วยดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน เหมือนกับมาตรการซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ ปล่อยกู้ให้สถาบันการเงิน ช่วยกระจายเงินสินเชื่อไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้

“นางอนุรักษ์ บุญศล” ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เคยเป็นครูมาก่อน มองเห็นปัญหาทำไมครูมีหนี้ท่วมหัว ยกตัวเลขว่า ครูทั่วประเทศ 4 แสนคน มีหนี้สินในระบบ 1.2 ล้านล้าน เท่ากับครึ่งหนึ่งของงบประมาณของประเทศปีนี้

Advertisement

นางอนุรักษ์เสนอแก้ปัญหาที่น่าสนใจคือ ทุกครั้งที่ตั้งรัฐบาลไม่ว่าพรรคการเมืองไหน ขออย่าเปิดนโยบายเปิดทุกช่องทางให้ครูเข้าไปกู้ ที่ผ่านมาและทุกวันนี้จะพบครูที่เกษียณไปแล้ว ยังมีหนี้สิน 3-6 ล้าน เป็นไปได้ไหมครูก่อนเกษียณสัก 5-10 ปี ให้จัดการรวมหนี้ทุกสถาบันการเงินมาเป็นหนี้ก้อนเดียว ผ่อนจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยในที่เดียว ก็จะมีเงินเหลือในแต่ละเดือน พอเกษียณตัวจะได้เบาลง

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เผยแพร่งานวิจัย “แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” สำรวจข้าราชการครู สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการในเขตภาคเหนือตอนล่าง 10 จังหวัด กลุ่มตัวอย่างเป็นครูสายผู้สอน 398 คน พบว่า

ข้าราชการครูเริ่มมีหนี้สินหลังจากเข้ารับราชการ คิดเป็น 68.5% จาก 3 สาเหตุลำดับแรกๆ คือ 1.ซื้อหรือผ่อนรถยนต์หรือจักรยานยนต์ 2.นําไปใช้จ่ายในชีวิตประจําวัน และ 3.ซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย โดยการเข้าไปกู้ยืมใน 3 แหล่งเงินหลักต้นๆ คือ 1.สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 2.ธนาคารของรัฐ และ 3.สวัสดิการคุรุสภา มีภาระหนี้สินจากทุกแหล่งทุนระหว่าง 1 แสนถึง 1 ล้าน ระยะเวลาการผ่อนชําระหนี้ 16-20 ปีขึ้นไป

Advertisement

ส่วนครูที่ค้างชำระหนี้ คิดเป็นร้อยละ 3 มีสาเหตุ คือ 1.มีหนี้สินอื่นหลายทาง 2.ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงเกินไป และ 3.รายได้ต่อเดือนลดลง แต่มีระยะเวลาการมีภาระหนี้ค้างชําระส่วนใหญ่ 1-10 ปี

บทสรุปของวิจัยระบุว่า หนี้ครูเกิดจากการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น การขาดการวางแผนทางการเงิน นำไปสู่ภาระหนี้สินล้นพ้นตัว มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับในทุกๆ ปี

ขอหยิบยกข้อความของ นางสาวปิยาณี ประสงค์วรรณะ ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงินของแบงก์ชาติ ที่เขียนในบทความ “รู้จักและเข้าใจมาตรการดูแลหนี้ครัวเรือน” ผ่านเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า “การก่อหนี้ไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่หากหนี้ที่ก่อเพิ่มขึ้นไม่ใช่เพื่อสร้างรายได้ แต่เน้นเพื่อการบริโภค โดยขาดการออมและการวางแผนทางการเงินที่ดี ก็อาจนำมาสู่ปัญหาหนี้เกินตัวในที่สุด”

มีหลายคนตั้งคำถามว่า ครูที่เป็นหนี้แต่บริหารจัดการหนี้ได้ มีเครดิตที่ดี ทำไมไม่ได้รับการดูแลบ้าง

ข้าราชการครูเข้าไปกู้ที่ธนาคาร ต่างใช้สัญญาเงินกู้ฉบับเดียวกัน เงื่อนไขผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ต่างกัน แล้วเป็นหนี้เหมือนกัน ทำไมครูหลายคนถึงรักษาวินัยการเงินได้ ถ้าคิดจะปลดหนี้หรือบรรเทาหนี้ก็น่าเริ่มที่ตัวเองก่อน กล้าเข้าไปขอความรู้จากเพื่อนครู โดยมีหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นตัวกลาง ผ่อนหนี้โดยไม่เดือดร้อนนั้นทำอย่างไร

การเปิดใจระบายความรู้สึกหนี้ให้ครูด้วยกัน ให้กำลังใจกัน น่าจะช่วยสะท้อนปัญหาในลำดับต้นๆ ก่อน เพื่อจัดการหนี้อย่างมีแบบแผนต่อไป

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image