สถานีคิดเลขที่ 12 เกมอำนาจ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 เกมอำนาจ โดย ปราปต์ บุนปาน

การเมืองไทยเคลื่อนหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีจังหวะให้หยุดพักหรือชะลอตัว

จากที่หลายคนคาดคิดว่าการต่อต้านอำนาจรัฐที่นำโดยเยาวชน จะดำเนินไปเรื่อยๆ ผ่านการออกมาชุมนุมบนท้องถนนเป็นครั้งคราว สลับกับการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันและโซเชียลมีเดีย

โดยมีเพลงหรือกิจกรรมสันทนาการสนุกๆ เป็นอาวุธหลัก

Advertisement

ขณะที่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความเห็นของนักเรียน-นักศึกษา ในสภาผู้แทนราษฎร หรือการมีท่าทีที่พร้อมจะรับฟังคนรุ่นใหม่ของรัฐบาล

ก็น่าจะยื้อเวลาแห่งความขัดแย้งออกไปได้นานพอสมควร

แต่ในความเป็นจริงซึ่งปรากฏชัดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แทบทุกฝ่ายย่อมประจักษ์ว่าการต่อสู้ได้ “ขยับเส้น” ไปสู่อีกระดับหนึ่งเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

“การขยับเส้น” ของผู้ชุมนุมปรากฏผ่านการเปลี่ยนชื่อจาก “เยาวชนปลดแอก” เป็น “ประชาชนปลดแอก” ตลอดจนเนื้อหาการปราศรัย

ส่วน “การขยับเส้น” ของภาครัฐ ก็เคลื่อนไหวผ่านปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้นำเหล่าทัพบางราย รวมถึงการพลิกบทบาทจากการ “รับฟัง” ไปสู่การ “จับกุม” แกนนำการชุมนุม/ผู้ปราศรัยบนเวทีการชุมนุมบางคน

แน่นอน “การขยับเส้น” เหล่านี้ ได้นำไปสู่ผลลัพธ์สองด้าน ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องไปทำการบ้านและประเมินกันเอาเอง ว่าพวกตน “ได้” หรือ “เสีย” มากกว่ากัน เช่น

“การขยับเส้น” หลายๆ ด้าน ของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นส่งผลต่อการ “เพิ่มขึ้น” หรือ “ลดลง” ของจำนวนมวลชนผู้สนับสนุน? และการที่คนเบื้องหน้าบางส่วนถูกดำเนินคดีนั้นสร้าง “ผลบวก” หรือ “ผลลบ” ต่อการต่อสู้?

ขณะเดียวกัน คงต้องตั้งคำถามว่าการเร่งรัดจับกุมแกนนำการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการออกมาพูดจาเรื่อง “โรคชังชาติ” ของ ผบ.ทบ. นั้นคือการแสดงความได้เปรียบและการมีอำนาจเหนือกว่าของภาครัฐ หรือเป็นการพลาดท่าผลักดันให้การรวมตัวของประชาชนบนท้องถนนมีความเข้มแข็งกลมเกลียวยิ่งขึ้น?

การที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสองฝ่ายต่างออกมา “ขยับเส้น” พร้อมๆ กัน หรือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งกันและกัน หมายความว่าระยะการเผชิญหน้าระหว่างทั้งคู่จะเขยิบเข้าใกล้กันมากขึ้นไปอีก

ด้านหนึ่ง นี่อาจนำไปสู่การปะทะชนหรือเหตุการณ์รุนแรง ดังเช่นที่ปรากฏเป็น “หนังตัวอย่าง” ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่อีกด้าน นี่ก็อาจนำไปสู่หนทางของการต่อสู้/ต่อรอง/เจรจา บนเกมอำนาจระหว่างรัฐกับกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยในสังคม

ดูเหมือนว่า ณ ปัจจุบัน ความเห็นพ้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะกลายเป็น “ฉันทามติ” ที่หลายฝ่ายพร้อมใจขานรับ (แต่ต้องไปหาข้อตกลงร่วมกันว่าควรแก้ไขอย่างไร และ/หรือประเด็นไหนบ้าง)

ข้อตกลงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อาจขยายวงไปสู่การพิจารณาข้อเรียกร้องหลักอีกสองข้อ ที่ริเริ่มโดยกลุ่ม “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” ตลอดจนกระบวนการเจรจาต่อรองในประเด็นเกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีความสำคัญ

โดยต้องคำนึงว่าจะไม่มีฝ่ายไหนได้อะไรไปหมดทุกอย่างบนเกมอำนาจกระดานนี้

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image