บทบาทหน้าที่และความยากลำบาก กว่าจะได้เป็นอัยการ : โดย ไพรัช วรปาณิ

กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี “บอส กระทิงแดง” ที่เป็นข่าวอื้อฉาวดังกระหึ่มอยู่ในสื่อต่างๆ และเป็นที่สนใจของผู้คนทุกภาคส่วนในขณะนี้…ถือเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาระบบกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีของอัยการอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การดำเนินคดีตามระเบียบกฎหมายอัยการได้กำหนดในเบื้องต้นว่า ให้อัยการส่งคำสั่งไม่ฟ้องแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในต่างจังหวัดที่อัตราโทษจำคุกต่ำกว่าสามปี และถ้าเกินสามปีให้เสนอแก่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ส่วนในกรุงเทพมหานครส่งสำนวนแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะเเย้งหรือไม่อันเป็นการถ่วงดุลอำนาจในตัว

การฟ้องคน ในคดีอาญา ในชั้นอัยการไม่ต้องมีประกันตัว แต่พออัยการฟ้อง ต้องพาตัวผู้ต้องหาไปศาลในชั้นนี้พออัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาจะตกเป็นจำเลยในทันที จำเลยจะต้องยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวที่ศาล ยกตัวอย่างเช่น คดีเช็คเด้งต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวหนึ่งในสามของยอดเงินที่ระบุในเช็ค ถ้าไม่มีเงินประกันตัวจำเลยจะต้องถูกขังยังเรือนจำ รวมกับนักโทษ โดยไม่แยกว่า อยู่ระหว่างต่อสู้คดี ณ จังหวัดนั้นๆ จนกว่าคดีจะสิ้นสุดในชั้นศาล ซึ่งหากการต่อสู้คดียาวนานหนึ่งปีสองปีสามปี ก็ต้องติดคุกเท่าจำนวนที่ต่อสู้

แม้ต่อมาศาลตัดสินว่าจำเลยบริสุทธิ์ ไม่มีความผิด เค้าก็ต้องถูกติดคุกแบบฟรีๆ ฉะนั้นลองนึกถึงหัวอกของคนเป็นจำเลยว่าเจ็บปวดแค่ไหน?

Advertisement

จำเลยบางคนถูกขังที่เรือนจำระหว่างต่อสู้คดี ขอต่อศาลว่าขอรับสารภาพเหตุผล เพราะอะไรท่านก็น่าจะนึกออกว่าอยู่ในเรือนจำบางคดีมีอัตราโทษน้อยนิด แต่ถ้าสู้คดีไปติดคุกเกินกว่าอัตราโทษที่ตัวเองจะได้รับเสียอีกสู้รับสารภาพเสียดีกว่า สามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเร็วขึ้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีที่อัยการฟ้องแล้วจำเลยปฏิเสธในชั้นศาลมีสถิติของผลคดีที่สืบพยานต่อสู้กันในชั้นศาลที่จำเลยให้การปฏิเสธคดีถึงที่สุดยกฟ้องจำเลยไม่มีความผิดประมาณ 50% คือในจำนวน 100 คดี มีคดีประมาณ 50 คดีที่จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์

ปัจจุบันมีนักศึกษานักเรียนที่สนใจสอบอัยการเป็นดอกเตอร์จบเมืองนอกมีความรู้ความสามารถมาเป็นอัยการกันมากมายเขาเหล่านั้นมีความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็น “ยกระบัตร” หมายถึงผู้รักษาผลประโยชน์ของรัฐเขาทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และต้องยอมรับว่า ทุกองค์กรมีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ย่อมมีความน้อยใจในบางโอกาส เพราะกว่าจะมาเป็นศาลและอัยการมีที่มาเหมือนกัน คือ หนึ่งต้องจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์บัณฑิต สองต้องจบเนติบัณฑิตฉบับภาษาไทย สามต้องเป็นทนายความอย่างน้อยสองปีและว่าความไม่ต่ำกว่า 20 คดี หากไม่เป็นทนายมาก่อนก็จะต้องผ่านงานราชการด้านกฎหมาย อย่างน้อยสองปีจึงจะมีสิทธิสอบเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาได้

ดังนั้นกระบวนการข้างต้น จะต้องใช้เวลาประมาณ 8 ปี กว่าจะมีสิทธิสอบอัยการหรือผู้พิพากษาใน 8 ปีนี้ ผู้สมัครสอบจะต้องอ่านหนังสือทุกวันและอีกทั้งคุณสมบัติต้องครบถ้วน จึงมีสิทธิสอบ ทั้งนี้ 8 ปีหมายถึงสอบแบบไม่ตกเลย ไม่ซ้ำ แต่ถ้าสอบแล้วตก ในระยะเวลา 8 ปี เพื่อให้คุณสมบัติครบถ้วน ก็ต้องขยายออกไปจากนั้นอีก และต้องรอจังหวะผู้พิพากษาและอัยการเปิดสอบใหม่

หน้าที่ของอัยการอย่างหนึ่ง คือหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ หมายถึงดูแลการทำงานของ อบต. เทศบาล อบจ. การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ เช่น ในกรณีที่มีการจะทำกิจกรรมต่างๆ ของการปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีข้อหารือมายังอัยการ เรื่องการเงินเรื่องการทำสัญญากับเอกชน เช่น การฟ้องเรียกเอาเงินจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกฯ ที่ไม่นำเงินมาคืนกองคลัง ซึ่งมีปริมาณคดีมหาศาล ที่จะต้องคืนคลังของประเทศและคดีเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในกรณีที่จบออกมาต้องคืนทุนให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เงินกู้ กยศ. ก็เป็นหน้าที่ของอัยการที่จะต้องตามเงินให้กับรัฐ จนมีปริมาณคดีที่มหาศาลเช่นเดียวกัน เหล่านี้คนน้อยคนที่จะรู้ว่าบทบาทหนักหนาสักแค่ไหน แล้วการที่คนมาพูดว่า เงินเดือนอัยการไม่ควรเท่าผู้พิพากษาคุณเอาอะไรมาวัด

อีกทั้ง มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเช่นรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของชาวบ้านที่มีต่อกันการบรรยายและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนทั่วประเทศ หน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในการร้องจัดการมรดกขของผู้ตายเป็นอาทิ

กล่าวคือ อัยการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ถ้าหากอัยการสังกัดหน่วยงานของรัฐแล้วการปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำการปกครองส่วนท้องถิ่น หากเป็นปลายสายของฐานการเมืองหรือนักการเมืองเบื้องบนก็จะมีคำถามกลับไปว่าถ้าอัยการสังกัดกระทรวงฯ ก็ไม่ต่างกับตำรวจ ซึ่งมีนักการเมืองเป็นรัฐมนตรีฐานก็มาจากการเป็นนักการเมือง จะแน่ใจหรือว่า อัยการจะไม่ถูกแทรกแซง?

คดีอาญาหนึ่งคดีมีคู่กรณีสองฝั่งคือผู้เสียหายฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งเป็นผู้ต้องหา หากต้องฟ้องเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจก็มีคำถามกลับไปว่า ถ้าหากผู้เสียหายเป็นคนกว้างขวางรู้จักอัยการแล้ว ผู้ต้องหานี้ ไม่ได้กระทำผิดหรือพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง แต่ต้องฟ้องเอาใจดังนี้ จะมั่นใจหรือว่า จะไม่มีการขอให้ช่วยฟ้องโดยผู้เสียหาย เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า อัยการสั่งไม่ฟ้องเพื่อช่วยผู้ต้องหา อัยการสั่งฟ้องเพื่อช่วยผู้เสียหาย อาจทำได้ ผลร้ายก็จะตกแก่ ผู้ต้องหา ดังนั้น จงอย่ามองอะไรด้านเดียวดีชั่วอยู่ที่ตัวบุคคล อย่าเอาองค์กรหรือเงินเดือน มาเป็นประเด็น

อัยการนอกจากมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของรัฐแล้ว ยังมีหน้าที่ด้านคดีอาญาที่ไม่ต้องขึ้นสู่ศาล หรือให้จบในชั้นอัยการได้อีกมากมายมหาศาล เช่น คดีฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีการจับกุมคนผู้พบสารเสพติดในร่างกายแล้วมีการส่งเข้าฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา หากผู้นั้นการฟื้นฟูประสบผลสำเร็จ อัยการก็จะต้องสั่งไม่ฟ้อง หรือยุติการดำเนินคดี ไม่ต้องขึ้นสู่ศาลได้

นอกนั้น ยังมีคดีที่ผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปีกระทำความผิดสถานพินิจและคุ้มครองเด็กร่วมกับอัยการให้เด็กมีการทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีกลับตนเป็นคนดีรู้สำนึกตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด มีการเยียวยาให้กับ
ผู้เสียหาย อัยการก็สามารถสั่งไม่ฟ้องได้

สําหรับ คดีอาญาเนื่องจากอัยการมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ สำนวนตำรวจทุกโรงพักทุกจังหวัดพนักงานสอบสวนทุกคนจะต้องสรุปสำนวนและส่งสำนวนยังอัยการประจำจังหวัดนั้นๆ จะสังเกตเห็นว่า ในการที่ตำรวจจราจรจับและปรับประชาชนบนท้องถนนใบเสร็จค่าปรับจราจรทุกใบจะต้อง ร่วมเพื่อส่งยังอัยการทุกใบทั่วประเทศ เพื่อให้อัยการพิจารณาว่าการเปรียบเทียบปรับนั้นชอบหรือไม่? ถ้าชอบด้วยกฎหมายอัยการก็จะสั่งยุติการดำเนินคดีโดยไม่ต้องนำคดีนั้นขึ้นสู่ศาล แต่ถ้าการเปรียบเทียบปรับไม่ชอบก็จะย้อนกลับไปให้ตำรวจเพิกถอนการปรับต่อไป

ทั้งนี้ ลองคิดดูซิว่าปริมาณคดีมันมากมายขนาดไหน ส่วนคดีอาญาทั่วไป ลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงปล้น ฆ่า ทำร้ายร่างกายอีกมากมาย กว่าที่คดีจะไปสู่ศาล มีเอกสารต่างๆ ที่จะต้องประสานกับพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นตำรวจ ทำเป็นแฟ้มเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมดในคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่จุกจิกและสลับซับซ้อนยิ่งทีเดียว

ความผิดพลาด ในการทำงาน หมายถึงอิสรภาพของจำเลยผู้ต้องหานอกจากการสั่งคดีแล้ว เมื่อฟ้องแล้วกระบวนพิจารณาในการสืบพยานในชั้นศาลจะต้องมีความชัดเจนรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการดำเนินคดี หากมีการผิดพลาดหมายถึงต้องถูกตั้งกรรมการสอบในหลายหลายกรณี อันการมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของศาล เช่น เมื่อศาลตัดสินแล้ว หากอัยการเห็นว่าไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน ทางอัยการจะมีคำสั่งอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกครั้ง และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมา หากอัยการเห็นว่าคำพิพากษายังไม่ถูกต้องยังไม่เป็นไปตามที่อัยการฟ้อง อัยการก็จะฎีกา ตามที่กฎหมายให้อำนาจ และการที่ไม่อุทธรณ์ไม่ฎีกาอันการต้องส่งสำนวนให้ผู้ว่า หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคพิจารณาเช่นเดียวกับการสั่งไม่ฟ้องว่าแย้งหรือไม่? หากแย้งก็เป็นอันต้องส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อชี้ขาดเหล่านี้มีการถ่วงดุลอำนาจอยู่ในตัว การเขียนฎีกา การเขียนอุทธรณ์มีความยุ่งยากซับซ้อนเช่นเดียวกันกับการทำคำพิพากษา ซึ่งถือว่าเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

โดยสรุป คดี “บอส กระทิงแดง” ผู้เขียนจะไม่ก้าวล่วง คงให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและยุติธรรม แต่มองว่า พนักงานอัยการมีบทบาทและหน้าที่อำนวยความยุติธรรม และมีความยากลำบาก กว่าจะได้เป็นอัยการ ต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างเข้มข้น

ดังนั้น องค์กรอัยการจึงต้องเป็นองค์กรที่เป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มอิทธิพลใดๆ …เป็นดีที่สุด

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image