กรมชลประทาน ชูแนวทาง “RID No.1 Express 2020” เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางน้ำ ด้วยภารกิจเร่งด่วน 6 ด้าน

“กรมชลประทาน” เร่งสร้างความมั่นคงทางน้ำอย่างยั่งยืน ชูแนวทาง “RID No.1 Express 2020” เดินหน้าเร่งด่วน 6 ด้าน สู่เป้าหมายสูงสุด ชีวิตเกษตรกร -ประชาชนอยู่ดีกินดี เศรษฐกิจประเทศเติบโตต่อเนื่อง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเร่งเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการขับเคลื่อนแนวทาง “RID No.1 Express 2020” ซึ่งต่อยอดและพัฒนามาจากการดำเนินงานตามแนวทาง RID No.1 ที่กรมชลประทานได้ใช้มาแล้วก่อนหน้านี้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จากปี 2561 ถึงต้นปี 2563 สามารถพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 570 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ถึง 1.1 ล้านไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ 5 ล้านไร่ รวมทั้งหมดมีปริมาณน้ำรวม 82,659 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานรวม 33.9 ล้านไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 27 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากรและระบบงานให้ทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนและเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ดร.ทองเปลว กล่าวว่า การดำเนินงานตามแนวทาง “RID No.1 Express 2020” เป็นงานที่กรมชลประทานจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. เร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สนับสนุนงบประมาณในการศึกษา สำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง จำนวน 216 โครงการ โดยเร่งรัดให้เเล้วเสร็จภายในปี 2563

Advertisement

2. ส่งเสริมการร่วมทุนภาครัฐเเละเอกชนในการทำงานชลประทาน โดยพัฒนา ต่อยอด โครงการประชารัฐร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships : PPPs) การปรับปรุง พ.ร.บ.ชลประทาน พ.ศ.2485 ให้แล้วเสร็จ และต่อยอดระบบส่งน้ำและกระจายน้ำระดับแปลง การขุดลอกเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำทั้งประตูระบายน้ำ แก้มลิง อาคารบังคับน้ำ

3. ผลักดันการพัฒนาระบบแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุม โดยมุ่งการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งในปี 2563 ได้มีการกำหนดเป้าหมายเเละปรับปรุงพื้นที่จัดระบบชลประทานในไร่นา จำนวน 86,300 ไร่

4. ขับเคลื่อนแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยปรับปรุงเเหล่งน้ำเดิม 7 แห่ง พัฒนาเเหล่งน้ำใหม่ 4 แห่ง เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4 แห่ง สูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง การป้องกันน้ำท่วม 4 แห่ง

5.เร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทานให้เต็มพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ช่วยสะท้อนปัญหาในพื้นที่และเป็นกระบอกเสียงให้กับกรมชลประทาน โดยมีเป้าหมายจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน 26 คณะ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 581,435 ไร่ อาสาสมัครชลประทาน 844 คน ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 2,110,000 ไร่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ 1017 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 810,857 ไร่ เเละกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน 121 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 1,492,330 ไร่

และ 6. เร่งรัดการปรับโครงสร้างหน่วยงานและปรับปรุงระดับตำเเหน่งบุคลากรให้สูงขึ้น โดยปรับโครงสร้างการดำเนินงานให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เร่งแก้ปัญหางานหยุดชะงัก รวมไปถึงการเร่งพัฒนาบุคลากรให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“กรมชลประทานตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจให้บรรลุ จึงกำหนดแนวทาง RID No.1 ขึ้น และพัฒนาต่อยอดสู่ RID No.1 Express 2020 เป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรทุกพื้นที่ ภายใต้เป้าหมายสูงสุดคือการมุ่งมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ บรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ เพื่อที่จะให้พี่น้องเกษตรกร และประชาชนชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” ดร.ทองเปลว กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image