นานานวัตกรรม ‘เอ็มเทค’ วิจัย-พัฒนาเพื่อผู้บริโภค สร้างคุณค่าเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ

นานานวัตกรรม ‘เอ็มเทค’ วิจัย-พัฒนาเพื่อผู้บริโภค สร้างคุณค่าเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ : โดย ชนากานต์ ปานอ่ำ
ต้นแบบเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ

“ในอดีต นักวิจัยจะเป็นจำเลยประมาณหนึ่งว่า เมื่อสร้างผลงาน ได้องค์ความรู้ออกมา ได้รับการตีพิมพ์ จดสิทธิบัตร จากนั้นก็ขึ้นหิ้ง แต่ปัจจุบันนี้ที่เอ็มเทคขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญและดำเนินตาม พ.ร.บ.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2534 นั่นคือ การสร้างองค์ความรู้ที่มองกลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้ง เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดการลงทุน ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ลดการสูญเสีย สามารถช่วยชีวิตคน เพิ่มโอกาสการสร้างธุรกิจใหม่ อันจะตีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้”

คือเสียงของ จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค ที่เอ่ยถึงอัตลักษณ์องค์กรได้เป็นอย่างดี

สำหรับ “ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ” จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2529 เพื่อเป็นหน่วยงานเฉพาะทางที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านโลหะและวัสดุ จากนั้นในวันที่ 29 ธันวาคม 2534 ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (หรือกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ในขณะนั้น)

มุ่งเน้นพัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ เพื่อให้ตอบโจทย์ 5 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 2.ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต 3.เกษตรกรรม 4.อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม และ 5.อุตสาหกรรมการผลิตและการบริหารทางวิศวกรรม ครอบคลุมถึงกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายอีก 2 กลุ่มคือ พลังงาน และเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่

Advertisement

โดยมีหน่วยวิจัยที่อยู่ในการกำกับดูแลหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุ และการผลิตอัตโนมัติ, กลุ่มวิจัยเทคโนโลยี โพลิเมอร์ขั้นสูง, กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ, กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ, กลุ่มวิจัยนวัตกรรม การแปรรูปยาง

ร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจำนวนมหาศาล

 

นานานวัตกรรม ‘เอ็มเทค’ วิจัย-พัฒนาเพื่อผู้บริโภค สร้างคุณค่าเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ : โดย ชนากานต์ ปานอ่ำ
วัตถุดิบสำหรับใช้ในงานวิจัยสีธรรมชาติในการย้อมและพิมพ์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ

‘แป้งพิมพ์สีธรรมชาติ’ งานวิจัยตอบโจทย์ BCG Model

เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง หน่วยงานต่างๆ จึงนำเอา “BCG Model” หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้

“เอ็มเทค” ในฐานะองค์กรวิจัยที่ดำเนินงานตามพันธกิจในทิศทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ แผนงานระดับประเทศ และแผนกลยุทธ์ของ สวทช. จึงสร้างสรรค์ผลงานวิจัยนานาชนิดเพื่อมาตอบโจทย์ หนึ่งในนั้นคือ สีธรรมชาติในการย้อมและพิมพ์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ที่ ผอ.จุลเทพแนะนำว่าเป็นการนำหลัก BCG Model มาใช้อย่างตรงจุดประสงค์ที่สุด

กลวิธีเตรียมแป้งพิมพ์สีธรรมชาติในเฉดสีต่างๆ นั้น ทีมวิจัยเริ่มจากการสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่หาได้ในประเทศ ในรูปแบบสารละลายเข้มข้นหรือผง จากนั้นนำมาปั่นผสมกับส่วนประกอบอื่นๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนจะพิมพ์ลงบนผ้าและทดสอบสมบัติที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีแป้งพิมพ์สีธรรมชาติสำเร็จรูปพร้อมใช้อยู่ทั้งสิ้น 6 สี คือ แดงและชมพูที่ได้จากครั่ง เหลืองและน้ำตาลแดงที่ได้จากดอกดาวเรือง น้ำตาลเหลืองและเทาดำจากเปลือกผลชาน้ำมัน

นานานวัตกรรม ‘เอ็มเทค’ วิจัย-พัฒนาเพื่อผู้บริโภค สร้างคุณค่าเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ : โดย ชนากานต์ ปานอ่ำ
ผลิตภัณฑ์จากแป้งพิมพ์สีธรรมชาติ

หนึ่งในทีมวิจัยสิ่งทอเล่าให้ฟังว่า งานวิจัยนี้ได้ถ่ายทอดความรู้สู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นเวลานานแล้ว โดยสอนให้นำวัตถุดิบที่มีในธรรมชาติมาใช้ในงานย้อม งานฝีมือต่างๆ รวมทั้งใช้ในงานพิมพ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในการถ่ายทอดแต่ละครั้งจะดูจากความรู้พื้นฐานของแต่ละกลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มมีความรู้อยู่แล้วทีมวิจัยจึงเข้าไปช่วยเสริม พร้อมๆ กับอยากให้แต่ละกลุ่มเข้าถึงเอกลักษณ์ของตัวเอง เพื่อให้ทั้งหมดไปด้วยกันได้

ความโดดเด่นของแป้งพิมพ์สีธรรมชาติอยู่ที่การพิมพ์ลงบนผ้าได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าลินิน ผ้ากัญชง อีกทั้งอาศัยแม่พิมพ์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ไม้แกะสลัก ผักผลไม้แกะสลัก แม่พิมพ์ซิลก์สกรีน โดยวิธีผนึกสีหลังการพิมพ์ลงบนผ้าด้วยเครื่องมือที่เหมาะกับธุรกิจเอสเอ็มอีและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาทิ เครื่องอบด้วยไอน้ำ เตารีด เครื่องรีดร้อน

“งานวิจัยนี้สะท้อนวิธีคิด BCG Model อย่างชัดเจน ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจปลูกพืชเหล่านั้นขึ้นมา แต่มันมีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรืออย่างเปลือกผลชาน้ำมันก็เป็นของเหลือทิ้งจากภาคการผลิต โดยทั้งหมดนี้จะต้องมีหลักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี บวกกับการบริหารจัดการให้เกิดวงจร ก่อนจะบวกลบคูณหารเพื่อให้ไปต่อได้” ผอ.จุลเทพกล่าว

วัสดุศาสตร์อาหาร พัฒนาเพื่อคนทุกเพศ-วัย

หลายคนอาจไม่รู้ว่า “อาหาร” นับเป็น “วัสดุ” อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถรับประทานได้

ประเด็นนี้ ศิริกาญจน์ วิเศษสุวรรณภูมิ ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ให้ข้อมูลว่า ทีมวิจัยเริ่มต้นดำเนินงานตั้งแต่ปี 2558 โดยยึดโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก งานวิจัยชิ้นแรกที่ทำกับภาคอุตสาหกรรมอย่าง “เบทาโกร” คือไส้กรอกแฟรงเฟอร์เตอร์หมูไขมันต่ำ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้อาหารมีไขมันลดลง แต่ทานแล้วยังรู้สึกนุ่มกรอบ สัมผัสอาหารยังเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา “มายองเนสปราศจากน้ำมัน” ทว่า ยังให้เนื้อสัมผัสดี นุ่มลิ้น และคุณสมบัติเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์สูตรไขมันปกติ

สำหรับโจทย์ล่าสุดเกี่ยวข้องกับ “ผู้สูงอายุในไทย” ที่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวและการกลืน ผู้ที่กำลังจัดฟัน และผู้มีปัญหาด้านสุขภาพฟัน ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “เนื้อสัตว์ที่ปรับเนื้อสัมผัสให้บดเคี้ยวและกลืนง่าย”

แต่ด้วยอาหารประเภทเนื้อสัตว์สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการบริโภคมักอยู่ในลักษณะบดหรือปั่นละเอียด ดูไม่น่ารับประทาน ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงใช้เทคโนโลยีกระบวนการปรับโครงสร้างอาหาร ร่วมกับการใช้ตัวปรับเนื้อสัมผัส เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม สามารถบดเคี้ยวง่ายด้วยฟัน และ/หรือเหงือก กลืนง่าย มีความฉ่ำน้ำสูง และยังคงรูปร่างได้ จึงสามารถหั่นหรือตัดเป็นชิ้นได้

นานานวัตกรรม ‘เอ็มเทค’ วิจัย-พัฒนาเพื่อผู้บริโภค สร้างคุณค่าเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ : โดย ชนากานต์ ปานอ่ำ
“ลาบหมู” เมนูที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ที่ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารปรับเนื้อสัมผัสให้บดเคี้ยวและกลืนง่าย

“เราเห็นความสำคัญของสังคมผู้สูงอายุ จึงพัฒนาอาหารประเภทเนื้อสัตว์ขึ้นมาให้สามารถบดเคี้ยวง่าย ซึ่งงานวิจัยนี้ยังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนไม่มากนัก ต่อไปจะพัฒนาให้กลืนง่าย นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีโรคต่างๆ มากขึ้น บางคนไม่สามารถทานอาหารได้เอง ต้องทานอาหารปั่นผสมทางสาย ทีมวิจัยจึงพัฒนา อาหารปั่นผสม พร้อมคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย บรรจุอยู่ในถุงรีทอร์ตที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้ มีคุณสมบัติความหนืดและการไหลที่เหมาะสมสำหรับให้ทางสายยาง

“ช่วงหลังๆ จะเห็นว่าเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาออกกำลังกายมากขึ้น ทีมวิจัยและพัฒนาจึงมีผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ คือ อาหารพลังงานสูงแบบแท่งสำหรับพกพา หรือ เพาเวอร์บาร์ เหมาะสำหรับทหาร ผู้ที่ต้องเดินทางไกล นักกีฬาที่ไม่สามารถพกอาหารที่มีน้ำหนักเยอะได้ แต่ยังต้องการสารอาหารที่ให้พลังงานสูง อีกชนิดหนึ่งคืออาหารให้พลังงานเร็ว หรือเอเนอร์จี้เจล เป็นอาหารที่ปรับวัตถุดิบให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการใช้พลังงานอย่างรวดเร็ว เช่น นักวิ่ง ผู้ออกกำลังกายแบบคาดิโอ โดยอาหารชนิดนี้ประกอบด้วยส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตหลายชนิด เพื่อลดความเสี่ยงของเบาหวาน หากบริโภคกลูโคสเพียงอย่างเดียว”

เติมเต็มคุณภาพชีวิต ด้วย ‘อุปกรณ์ทางการแพทย์’ ทรงประสิทธิภาพ

นอกจากคนเราจะต้องการอาหารในการดำรงชีพแล้ว “อุปกรณ์ทางการแพทย์” ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูแล รักษา เสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง เพิ่มระดับคุณภาพชีวิตคนให้สมบูรณ์

กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพของเอ็มเทค ซึ่งมีภารกิจวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมเทคโนโลยีวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ที่ช่วยป้องกัน รักษา ซ่อมแซม และฟื้นฟูสภาพร่างกายให้เหมาะแก่การใช้งานในประเทศและกายวิภาคของคนไทย ทดแทนการนำเข้าวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศ พร้อมเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ โดยเน้นสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยี และบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ จึงคิดค้นผลงานออกมามากมาย

อาทิ วัสดุอุดหลุมร่องฟัน, ลูกตาเทียมที่มีรูพรุนจากพอลิเอทิลีน, 3D Sole Designed for You, แผ่นรองนอนป้องกันแผลกดทับ, รถเข็นนั่งปรับนอนสำหรับการถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วย, ตู้เก็บกล้องเอ็นโดสโคป หรือล่าสุดอย่าง ต้นแบบเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ ซึ่งได้รับโจทย์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยทีมวิจัยเอ็มเทคได้ออกแบบเปลเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤตดังกล่าว

ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ผู้พัฒนาต้นแบบเปลดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ได้ออกแบบเปลเป็นแคปซูลสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้ออันตราย สามารถติดตั้งบนเตียง เตียงเข็น และเปลได้ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้สะดวก เหมาะสำหรับใช้ทั้งในโรงพยาบาลและรถพยาบาล ปัจจุบันมีการทดสอบการใช้งานต้นแบบ พร้อมเก็บข้อมูลปัญหาด้านการใช้งานอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่เดิมจากผู้ใช้ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงต้นแบบต่อไป

นานานวัตกรรม ‘เอ็มเทค’ วิจัย-พัฒนาเพื่อผู้บริโภค สร้างคุณค่าเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ : โดย ชนากานต์ ปานอ่ำ
นวัตกรรม “3D Sole” แผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลด้วยระบบคอมพิวเตอร์

สำหรับ 3D Sole Designed for You โดยกลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ คือสูตรโพลิเมอร์เฉพาะที่เอ็มเทคพัฒนาขึ้นมาสำหรับขึ้นรูปแผ่นรองในรองเท้า ด้วยเทคนิค 3D printing (FDM) โดยออกแบบให้มีความเฉพาะกับสรีระเท้าของแต่ละบุคคล ช่วยเพิ่มพื้นที่สัมผัสของเท้าได้มากขึ้น ซึ่งแผ่นรองในรองเท้ามีความบางเบา สามารถถอดเปลี่ยนรองเท้าได้ และไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง

ขั้นตอนการผลิตไม่ยาก เริ่มจาก 3D Scan เก็บข้อมูลรูปเท้า ซึ่งเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นใช้ 3D Design ออกแบบรูปเท้าเฉพาะบุคคลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ขั้นตอนสุดท้ายอาศัย 3D Printing ขึ้นรูปด้วยวัสดุที่พัฒนาขึ้น โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ

หรืออีกหนึ่งผลงานคือ อุปกรณ์ดูแลทางไกล (Telecare) เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการสื่อสารทั้งภาพวิดีโอและเสียงแบบทางไกลให้เป็นไปอย่างสะดวก ชัดเจน อีกทั้งยังสามารถเป็นอุปกรณ์ในการวินิจฉัยโรค เช่น โรคเส้นเลือดสมองแบบทางไกล อาศัยการทำงานด้วยกล้องวิดีโอ 2 ตัว ที่จะส่งภาพและเสียงไปพร้อมกัน โดยกล้องตัวแรกติดตั้งที่ด้านหน้า Telecare อีกตัวหนึ่งอยู่บน Handheld สามารถยกเคลื่อนไปได้ และจุดนี้เองที่ติดตั้งไมโครโฟนคุณภาพสูง พร้อมชุดปรับภาพวิดีโอเป็นภาพอินฟราเรดได้ด้วย

โดยผู้ใช้งานที่อยู่ทางไกล และผู้ใช้ Telecare สามารถติดต่อกันได้ผ่านอินเตอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ก็ได้ ซึ่งผู้ติดต่อเข้ามาจะสามารถควบคุมภาพและความชัดเจนที่ต้องการได้

นอกเหนือจากผลงานที่กล่าวมานี้ “เอ็มเทค” ยังมีงานวิจัยและพัฒนาอีกมาก ผู้สนใจสามารถคลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.mtec.or.th


 

“ไม่ได้ทำเพื่อยกวิทยฐานะเท่านั้น

แต่เพื่อขับเคลื่อนสังคม”

นานานวัตกรรม ‘เอ็มเทค’ วิจัย-พัฒนาเพื่อผู้บริโภค สร้างคุณค่าเศรษฐกิจ สังคม ประเทศ : โดย ชนากานต์ ปานอ่ำ
ผอ.จุลเทพ ขจรไชยกูล

ปัจจุบันนี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ผอ.จุลเทพ ขจรไชยกูล ดำเนินการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2559-2562) สามารถประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้เท่ากับ 36.1 พันล้านบาท

ที่มาของมูลค่าผลกระทบเหล่านั้นมาจากแต่ละห้วงเวลาของเอสเคิร์ฟต่างๆ โดยสะสมเป็นองค์ความรู้จำนวนมหาศาล บางอย่างเป็นความรู้ใหม่ระดับโลก บางความรู้ต่างประเทศรู้อยู่แล้ว แต่ไทยซื้อไม่ไหว จึงต้องพัฒนาและสร้างขึ้นมาเอง ภายใต้ต้นทุนที่สามารถบริหารจัดการได้ พร้อมๆ กับทำให้เกิดประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆ ตามกลุ่มเป้าหมาย ทั้งภาครัฐและเอกชน

“ปกติแล้วเอ็มเทคจะได้รับงบประมาณราว 60 เปอร์เซ็นต์ จากสำนักงบประมาณ ภายใต้กระทรวง อว. สัดส่วนที่เหลือจะต้องหางบประมาณข้างนอก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ปีหนึ่งเอ็มเทคใช้งบประมาณราว 600 กว่าล้านบาท ครอบคลุมค่าบุคลากร การดำเนินงาน เครื่องมือพื้นฐาน แต่สามารถจัดหารายได้กว่า 200 ล้านบาท แต่ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไร ทว่าการที่เราหารายได้นอกงบประมาณได้จำนวนมาก สะท้อนว่าเราทำงานตอบรับกับความต้องการของประเทศ

“กระบวนการทำงานที่สำคัญของเอ็มเทคคือการวิจัยและพัฒนา แต่เราไม่ได้วิจัยและพัฒนาอย่างเดียว ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือความรู้นั้นอย่างไร จึงจำเป็นต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายทำงานกับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยและพัฒนาไม่ได้เป็นไปเพื่อยกวิทยฐานะของนักวิจัยหรือนักวิชาการเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วภารกิจหลักของเราคือทำตาม พ.ร.บ.พัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ ที่เราได้รับความไว้ใจให้จัดตั้งขึ้นมาให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

“แน่นอนว่า เราไม่ได้ขับเคลื่อนอยู่เพียงลำพัง แต่เชื่อว่าการมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย พร้อมกับตอบรับความต้องการ จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้คน ตลอดจนความเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image