ทำเนียบขาวเปิดศึกการทูตสหรัฐ-จีน  โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ทำเนียบขาวเปิดศึกการทูตสหรัฐ-จีน  โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เมื่อสหรัฐทำการคว่ำบาตรข้าราชการรัฐบาลจีนและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงรวม 11 คน ปักกิ่งก็ประกาศมาตรการตอบโต้โดยพลัน ทั้งนี้ ได้ทำการคว่ำบาตรนักการเมืองและเจ้าหน้าที่องค์กรสหรัฐรวม 11 คนเช่นกัน

เป็นครั้งแรกที่จีน-สหรัฐเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับปัญหาฮ่องกง

แม้จำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ไม่มาก

Advertisement

แต่มีความหมายทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ใหญ่ยิ่ง

เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า “ศึกทางการทูต” ระหว่าง 2 ประเทศได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังที่ฮ่องกง

ตั้งแต่การเดินขบวนประท้วงเกี่ยวกับแก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ สถานการณ์ทางการเมืองฮ่องกงได้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างทั้งในและนอก

Advertisement

การประกาศใช้กฎหมายของรัฐบาลจีนอันเกี่ยวกับ “กฎหมายความมั่นคงเขตปกครองพิเศษฮ่องกง” มีผลกระทบถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอก

หากเป้าหมายครอบคลุมทั้งนอกและใน

วอชิงตันเล่นเรื่องฮ่องกงแรงเท่าใด ปักกิ่งก็ตอบโต้แรงเท่านั้น

การคว่ำบาตรฝ่ายเดียว ถือเป็นพฤติกรรมก่อศัตรูทางการทูต

เป็นการอันขัดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ

การที่วอชิงตันทำการคว่ำบาตรฮ่องกงก่อนนั้น เป็นเพียงกระสุนนัดที่ 1 เท่านั้น จึงยังตัดประเด็นนัดต่อไปมิได้

อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงได้กลายเป็นสมรภูมิของประเทศใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว

ท่ามกลางสมรภูมิต้องเดือดร้อนกันทั่วหน้าและหลีกเลี่ยงมิได้

มรสุมทางการเมืองที่จะตามมาอีก เป็นเรื่องที่มองข้ามมิได้

บัดนี้ ความขัดแย้งจีน-สหรัฐดุเดือดและรุนแรง “เรื่องฮ่องกง” เริ่มขึ้นตั้งแต่หลังม่านจนถึงหน้าเวที ปัญหา
แก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ฮ่องกงทั้งภายในและภายนอก

รัฐบาลกลางเห็นว่าควรต้องอุดช่องโหว่ อันเกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อระงับพลังแทรกแซงฮ่องกงจากภายนอก กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงเขตปกครองพิเศษฮ่องกงจึงแจ้งเกิด โดยบัญญัติโทษหนักเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว 4 ประการ หนึ่งในนั้นคือพฤติกรรมการรวมตัวกับพลังภายนอกทำการแทรกแซงกิจการภายในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

เมฆหมอกการเมืองระหว่างประเทศผันแปรเปลี่ยนไปเวลาเกินกว่า 1 ศตวรรษที่ฮ่องกงได้เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมธุรกิจระหว่างตะวันออกและตก อีกทั้งเป็นศูนย์ข้อมูลทั่วโลกด้วย

ไม่ว่าสหรัฐจะมีพฤติกรรมอย่างใดในฮ่องกง สังคมโลกไม่มีโอกาสได้รับรู้ทั้งหมด แต่มีประเด็น 1 ที่สามารถยืนยันได้ก็คือ พลันที่กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงได้มีผลบังคับใช้ พฤติกรรมที่มิชอบด้วยกฎหมายของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยอาศัยฮ่องกงเป็นสรณ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง นั้น รัฐบาลจีนยอมมิได้เป็นอันขาด

ทันทีที่กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงประกาศใช้ วอชิงตันก็ได้ประกาศยกเลิก “นโยบายพิเศษที่มีต่อฮ่องกง” ทันใด

ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรข้าราชการรัฐบาลกลางและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงรวม 11 คน ห้ามมิให้คนอเมริกันหรือนักธุรกิจมีความสัมพันธ์ในทางการเงิน การบริการหรือซื้อขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ กับบุคคลดังกล่าว

“ลั่ว ฮุ้ยหนิง” ผู้อำนวยการสำนักประสานงานจีน-ฮ่องกง และ “แคร์รี หล่ำ” ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ก็อยู่ในรายชื่อที่ถูกคว่ำบาตรด้วย

ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม รัฐบาลจีนก็ได้ทำการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่อเมริกัน 11 คน

เสมอกัน

รัฐบาลจีนตำหนิว่า พวกเขามีพฤติการณ์เลวร้ายอันเกี่ยวกับการแทรกแซงปัญหาฮ่องกง

เมื่อดูรายชื่อเจ้าหน้าที่สหรัฐ 11 คน สามารถแยกออกเป็น 2 ประเภท

1.นักการเมืองสภาคองเกรสที่ทำการผลักดันกฎหมายกิจการฮ่องกง

2.เจ้าหน้าที่องค์กรผู้ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนและปลุกระดมให้ต่างประเทศทำงานการเมืองเกี่ยวกับ “ปฏิวัติสี” (Colour Revolution)

ว่ากันว่า การตอบโต้สหรัฐในการคว่ำบาตรของจีนครั้งนี้เป็นไปในรูปแบบ “ฟันต่อฟัน” แต่ไม่ขัดต่อมาตรฐานทางการทูต และไม่เกินเลยไปกว่าที่สหรัฐได้กระทำก่อน

เป็นการสมควรแก่เหตุ

หากพินิจถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐนั้น เป็นเรื่องที่ได้ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้ว กรณีนอกจากนำมาซึ่งความไม่สะดวกบางประการแก่ข้าราชการจีนและฮ่องกง ยังมีผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย ส่วนการตอบโต้ของปักกิ่งนั้น ก็ไม่เกินความคาดหมาย

การที่สหรัฐ-จีนต่างได้ทำการคว่ำบาตรซึ่งกันนั้น

เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนในอดีต

บัดนี้ “ฮ่องกง” จึงกลายเป็นสนามรบที่แท้จริงของสหรัฐ-จีน

ดังนั้น คนฮ่องกงควรพินิจให้ดี ไม่ควรหลงประเด็นว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐคือ

“ความจริงใจต่อฮ่องกง”

สำหรับ “ฮ่องกง” ควรธำรงไว้ซึ่ง “หนึ่งประเทศ” และรักษาไว้ซึ่ง “สองระบบ”

เมื่อ “กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง” คลอดแล้ว มีคนฮ่องกงยังสงสัยคลางแคลงใจอันเกี่ยวกับปัญหาความเชื่อถือในทางการเมือง

คนฮ่องกงควรต้องทำความเข้าใจ “หนึ่งประเทศสองระบบ” จำต้องใช้เวลาในการประสมประสาน และเป็นเรื่องภายใน การที่สหรัฐก้าวก่ายแทรกแซง ก็รังแต่จะทำให้เหตุการณ์เลวร้าย

เพราะการแทรกแซงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้

แต่สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์คือ เป็นพฤติการณ์สกัดจีน อีกทั้งปลุกปั่นให้แตกแยกมากขึ้น

การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวดูเหมือนเป็นความเคยชินของสหรัฐ

เวลานานเข้า คนก็ลืมกันหมด ความจริงกฎบัตรสหประชาชาติไม่มีข้อใดหรือมาตราใดอนุญาตให้กระทำการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวได้โดยพลการ เว้นแต่สมัชชาใหญ่ได้มีฉันทานุมัติให้ประเทศหรือภูมิภาคใดกระทำได้เท่านั้น

“Alfred de Zayas” อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหประชาชาติและนักกฎหมายระหว่างประเทศได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวไม่สอดคล้องกับหลักการแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในและละเมิดอธิปไตยของประเทศนั้นๆ

ย้อนมองอดีต หลังสงครามเย็นยุติ สังคมตะวันตกเห็นว่าประเทศใหญ่มีหน้าที่ต้องปกป้องประเทศเล็กหรืออ่อนแอกว่า

การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวนั้น พฤติกรรมไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่รังแกเด็ก

หรืออาจกลายเป็นข้ออ้างในการทำสงคราม

ดังนั้น เมื่อต้นศตวรรษ สหประชาชาติจึงได้ยอมรับกฎหมายที่เรียกว่า “Responsibility of States for Internationally Wrongful Acts” อันหมายความรวมถึงหน้าที่ของแต่ละประเทศที่จะต้องช่วยกันดูแลปกป้องพฤติกรรมทำลายและคุกคามสันติภาพโลก การทำให้ชาติพันธุ์สูญสิ้น ตลอดจนพฤติการณ์การแบ่งแยกชาติพันธุ์ เป็นต้น

ล้วนถือเป็นความผิดระหว่างประเทศ

วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ นอกจากเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกประเทศมีหน้าที่ต้องช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน และยังมุ่งเน้นต่อประเทศใหญ่ที่ใช้อำนาจทำการคว่ำบาตรประเทศอื่นนั้น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ได้ผลหรือไม่ได้ผลย่อมเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการกำหนดขอบเขตแห่งคุณธรรมของมนุษยชาติ

ขอตัดกลับมาที่ฮ่องกง ความจริงตะวันตกมีผลประโยชน์ทางการค้าที่ฮ่องกงมากทีเดียว แต่วันนี้สหรัฐทำการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว อาศัยกลไกทางการเมืองกดดัน จีนก็ได้ตอบโต้อย่างสาสม

วันนี้กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองของ 2 ประเทศใหญ่ สลับฉากกันเล่น

วันที่ 10 สิงหาคม ตำรวจฮ่องกงได้จับกุมผู้กระทำความผิดหลายคน โดยกล่าวหาว่า กระทำละเมิดต่อกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกง มีเสียงนกเสียงกาจากฝ่ายโปรประชาธิปไตยและคนจีนในแผ่นดินใหญ่วิพากษ์ว่า กรณีน่าจะเกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรของสหรัฐ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีนักวิชาการเห็นว่า การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้เวลาวางแผนเป็นเวลาอันยาวนาน ส่วนการคว่ำบาตรได้ประกาศไปเพียงไม่กี่วัน จึงไม่น่าจะ
มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การประลองฝีมือของสหรัฐ-จีนที่ฮ่องกง คงต้องนับวันดุเดือดรุนแรงมากขึ้น

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้กระชับเข้ามาทุกขณะ เหลือเวลาอีกไม่มากก็จะถึงวันเลือกตั้งคือวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 คงไม่มีใครสามารถทราบได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับจีน ซึ่งทรัมป์ถือว่าการเล่นเรื่อง “จีน” คือการหาเสียงที่ “สุดยอด”

ก็เพราะอเมริกันชนส่วนใหญ่ถือว่า เรื่อง “จีน” คือละครฉากเด็ด

แต่เมื่อทำอะไรโดยตรงต่อจีนไม่ได้ ฮ่องกงย่อมกลายเป็นเป้า สอดคล้องสำนวน “ตีวัวกระทบคราด” ประเทศจีนก็ย่อมต้องตอบโต้แน่นอน เพราะ “หยิกเล็บย่อมเจ็บเนื้อ”

เหตุการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใดย่อมเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ

“เขตปกครองพิเศษฮ่องกง”

บัดนี้ได้กลายเป็นสมรภูมิสงครามการทูตไปแล้ว

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image