สธ.ไทย ลงพื้นที่ “คอนโดฯ” แห่งหนึ่งใน กทม. เร่งตรวจหาเชื้อครอบครัว “ชายมาเลย์ฯ” ติดเชื้อหลังกลับจากไทย

สธ.ไทย ลงพื้นที่ “คอนโดฯ” แห่งหนึ่งใน กทม. เร่งตรวจหาเชื้อครอบครัว “ชายมาเลย์ฯ” ติดเชื้อหลังกลับจากไทย

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีของผู้เดินทางชาวมาเลเซีย ที่เดินทางออกจากประเทศไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ทางกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ระบุว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ขณะนี้ ประเทศมาเลเซีย ทำการแจ้งข้อมูลมายังผู้ประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ(International Health Regulations : IHR) ของไทย เพื่อให้รับทราบและดำเนินการสอบสวนโรคแล้ว โดยจะต้องแจ้งข้อมูลกลับไปยังประเทศมาเลเซียอีกครั้ง

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นชายชาวกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อายุ 46 ปี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เดินทางออกจากประเทศไทยไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไม่มีอาการป่วย ตรวจหาเชื้อครั้งแรก ผลไม่พบเชื้อ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ด้วยวิธี RT-PCR ผลการตรวจพบเชื้อ อย่างไรก็ตามข้อมูลเบื้องต้น ระบุว่า ชายชาวมาเลเซีย ขณะอยู่ในประเทศไทย ได้เข้าพักที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค และ สำนักอนามัย กทม. ได้ลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดและการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว หากมีผลความคืบหน้าอย่างไรจะมีการรายงานให้ประชาชนรับทราบทันที

“ยืนยันว่าการทำงานระหว่างประเทศในการแจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อกลับไปกลับมา โดยประเทศไทยเป็นผู้รับและส่งกลับผู้เดินทาง ผู้ปฏิบัติงานมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อยืนยันว่า ชายมาเลเซียติดเชื้อจากที่ใด เนื่องจากเดินทางไปมาเลเซียแล้วเข้าสถานกักกันโรคฯ นานแล้ว และยังไม่ทราบประวัติการเดินทางที่ชัดเจน จึงยังไม่มีข้อสรุป” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ขอย้ำว่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคม มีข่าวว่ามีผู้เดินทางจากประเทศไทย 2 ราย ไปยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีแอนติเจน ซึ่งเป็นหาโปรตีนจากเชื้อไวรัส ให้ผลเป็นบวก แต่เมื่อตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธีการ RT-PCR ที่เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก(WHO)ให้ผลเป็นลบ ดังนั้น 2 รายดังกล่าวไม่ได้ติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็มีการลงพื้นที่สอบสวนโรคอย่างใกล้ชิด และในกรณีของชาวมาเลเซียก็จะต้องดำเนินการในเช่นเดียวกันนี้

ADVERTISMENT

เมื่อถามว่าชายมาเลเซีย อายุ 46 ปี มีประวัติการอยู่ในประเทศไทยอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบประวัติการเดินทางที่ชัดเจน และยังไม่ทราบว่าอยู่ย่านใดของ กทม. รวมถึงยังไม่ทราบรายละเอียดของครอบครัวผู้ป่วย แต่อาจอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนออกเดินทางไม่พบเชื้อ และเมื่อเดินทางไปถึงมาเลเซียก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน ทั้งนี้ ชายรายดังกล่าวเข้าสู่สถานกักกันโรคของมาเลเซียมากกว่า 10 วันแล้ว จึงไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นการติดเชื้อจากที่ใด แต่หากติดเชื้อในประเทศไทย ก็จะแสดงว่าในไทยยังมีเชื้อไวรัสอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ

“การตรวจหาเชื้อจะตรวจบุคคลเสี่ยงสูงก่อน คือ คนในครอบครัว และจะขยายผลต่อไปยังกลุ่มอื่น โดยผู้อาศัยร่วมกันในคอนโดฯ แทบจะไม่มีความเสี่ยง อย่างที่เคยบอกว่าผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมีโอกาสติดเชื้อไม่ถึง 1% และหากทุกคนสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า ป้องกันโรคก็จะป้องกันเชื้อได้ถึง 97% และถ้าผู้ป่วยเองสวมหน้ากากอนามัยด้วยก็จะมีความเสี่ยงแพร่เชื้อน้อยมาก ขณะนี้เราไม่ได้หาว่าเขาแพร่เชื้อให้ใคร แต่เราจะหาว่าเขาติดเชื้อจากใคร เพราะ ก่อนออกจากไทยก็ตรวจไม่พบเชื้อ เมื่อเดินทางถึงมาเลเซียก็ตรวจไม่พบเชื้อเช่นกัน” นพ.ธนรักษ์

ADVERTISMENT

เมื่อถามถึงการวิจัยในต่างประเทศ ว่า การเข้าสถานกักกันโรคฯ อาจจะลดระยะเวลาลงได้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตนก็ได้รับข้อมูลดังกล่าวในกลุ่มของนักวิชาการเช่นกัน ที่ประเทศอังกฤษมีการวิจัยว่า หากอยู่ในสถานกักกันโรค เป็นเวลา 14 วัน จะมีโอกาสหลุดของผู้ป่วยเมื่อครบ 14 วัน อยู่ที่ร้อยละ 2 และหากอยู่ในสถานกักกันโรคฯ ที่ลดลงอยู่ที่ 10 วัน จะมีโอกาสหลุดอยู่ที่ ร้อยละ 4 แต่จะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีดับเบิ้ลเทส เพื่อความมั่นใจ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการหารือถึงเรื่องนี้เป็นข้อเสนอในการปรับมาตรการกักกันโรคของไทย

เมื่อถามต่อถึงที่มีการแพร่เผยข้อมูลเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า D614G ว่าจะมีความสามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเชื้อตัวเก่า โดยพบการกลายพันธุ์ของเชื้อมากที่ชายแดนประเทศมาเลเซียที่ใกล้กับประเทศไทย นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การแพร่เชื้อได้เร็วนั้น ยังเป็นเพียงสมมติฐาน เนื่องจากการพบผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อด้วยไวรัส D641G มากกว่าเชื้อไวรัสตัวเดิม จึงมีแนวคิดว่าอาจจะเป็นการแพร่เชื้อที่เร็วกว่า อย่างไรก็ตามการตรวจหาเชื้อของไทยยังสามารถตรวจจับเชื้อดังกล่าวได้ เนื่องจากรหัสพันธุกรรมของไวรัสมีมากกว่า 30,000 ตัว แต่การผลิตน้ำยาตรวจเชื้อ จะมีการเจาะเฉพาะจุดที่มีช่วงการกลายพันธุ์ที่น้อยที่สุด ดังนั้นการใช้ชุดตรวจเดิมจึงสามารถตรวจพบได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image