ซีพีเอฟ ลั่น พร้อมสร้างความมั่นคงทางอาหารก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนเป็นวงกว้างทั่วโลก ไม่ใช่เพียงการสูญเสียทรัพย์สิน แต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนทุกระดับชั้น ทุกเชื้อชาติได้รับความเดือดร้อนทั้งสุขภาพ ความเป็นอยู่ รวมถึงเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าวิกฤตครั้งนี้มีความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มที่กระทบมาก เช่น สายการบิน โรงแรม และการท่องเที่ยว 2.กลุ่มที่กระทบไม่มากหรือเสมอตัว เช่น ธุรกิจอาหาร 3.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 เช่น กลุ่มที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย

ในส่วนของ ซีพีเอฟ ได้รับผลกระทบจำกัดจากการบริโภคที่ลดลงในช่วงแรกที่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ซีพีเอฟ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย เช่น Modern trade Supermarket ตลาดสด จึงช่วยลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ ซีพีเอฟ ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้ คือการบริหารในช่วงวิกฤตที่รวดเร็วและกล้าตัดสินใจ ซึ่งบริษัทฯ มีกระบวนการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานโควิด-19 มีคณะทำงานร่วมประชุมเพื่อรายงานผลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที อีกประเด็นคือ เรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทที่นอกจากต้องปกป้องดูแลพนักงานให้ปลอดภัยแล้ว จะปกป้องสังคมและประเทศชาติอย่างไร ซึ่งจากความคาดหวังของสัมคมกับภาคอุตสาหกรรมอาหารนั้น ซีพีเอฟจึงมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะมีอาหารคุณภาพปลอดภัยเพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการระบบขนส่งอาหารอย่างจริงจังเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ริเริ่ม โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ 200 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนผู้เฝ้าระวังที่กลับจากประเทศเสี่ยงอีก 20,000 คน และมี “โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาล และครอบครัวแพทย์-พยาบาล” จำนวน 20,000 ครอบครัว พร้อมทั้งมอบส่วนลดสุดพิเศษ ช่วยลดค่าครองชีพ สำหรับการซื้อสินค้าในร้านซีพี เฟรชมาร์ท จำนวน 1 ล้านใบ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ในโครงการ “คูปองส่วนลดจากใจ…ให้ อสม. #ฮีโร่ที่ลืมไม่ได้” โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงนำ CPF Food Truck ส่งมอบอาหารให้กับชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 100 ชุมชน ในโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ…สู่ชุมชน” โดยผนึกกำลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดแคมเปญ “ลดจริง..ไม่ทิ้งกัน ช่วยค่าครองชีพ” ในร้านซีพี เฟรชมาร์ท จำหน่ายข้าวกล่อง ในราคาเพียง 20 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของคนไทย ให้เข้าถึงอาหารอร่อย คุณภาพดีในราคาประหยัดด้วย เป็นต้น

Advertisement

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรน แนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารมีทิศทางดีขึ้น สำหรับมาตรการปลดล็อกในระยะที่ 6 นี้ มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับหลายภาคส่วน มีผลต่อต้นทุน ประสิทธิภาพ การผลิตฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเป็นลำดับ สำหรับความพร้อมในการรับมือหากโควิด-19 กลับมาระลอกสอง มองว่าจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก เนื่องจากทุกคนมีประสบการณ์และขีดความสามารถในการรับมือดีขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับสุขอนามัยทั้งประเทศ ซีพีเอฟ ได้เข้าไปช่วยในการปรับเปลี่ยนคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจหลายๆ ช่องทางตามความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางตลาดสดที่มีการยกระดับพื้นที่ขายสินค้าให้มีความสะอาดถูกหลักอนามัย” นายประสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เข้มแข็ง เช่น การร่วมมือกับกรมปศุสัตว์เรื่องการป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด ทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันโรค ASF ได้นานติดต่อกัน 2 ปี และเป็นประเทศเดียวในระดับภูมิภาคที่ยังไม่เคยเกิดโรค ASF สนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมั่นคงอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image