‘กมธ.ดีอีเอส’ เรียก ‘บริษัทมือถือ’ แจงสัญญาณเน็ตขัดข้องในการชุมนุมของนศ. 16 ส.ค.

‘กมธ.ดีอีเอส’ เรียก ‘บริษัทมือถือ’ แจงสัญญาณเน็ตขัดข้องในการชุมนุมของนศ. 16 ส.ค.  กสทช. ระบุ ไม่มีอุปกรณ์ตัดสัญญาณใช้ได้เฉพาะหน่วยความมั่นคง ด้าน “ผู้ให้บริการ” ประสานเสียงเน็ตล่มเพราะคนใช้เยอะ ยัน ขยายช่องเต็มลิมิตแล้ว บอก นำรถโมบายเข้าพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องประสานผู้จัด-เจ้าของพื้นที่

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยมี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ในฐานะประธานกมธ.ดีอีเอส เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมไม่สามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารในบริเวณดังกล่าวได้ โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เข้าชี้แจง

น.ส.กัลยา กล่าวว่า กมธ.ได้รับการร้องเรียนว่าการชุมนุมวันที่ 16 ส.ค. ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารในบริเวณดังกล่าวได้ จึงอยากให้ทาง กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายชี้แจงถึงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เพราะตนเป็นห่วงเพราะการชุมนุมดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ซึ่งการติดต่อสื่อสารภายในการชุมนุมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากมีเหตุฉุกเฉินจะต้องติดต่อกันได้

นายนิคม บุญวิเศษ รองประธานกมธ. กล่าวว่า มีคนถ่ายรูปรถบางคันที่เชื่อว่าอาจจะเป็นรถตัดหรือรบกวนสัญญาณจึงอยากสอบถามทาง กสทช. ว่ามีหน่วยงานใดที่มีใช้บ้าง ตนเชื่อว่าหากไม่มีการตัดสัญญาณจะสามารถใช้งานได้ตามปกติไม่น่าจะมีปัญหา

Advertisement

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษากมธ. กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการต้องชัดเจน การประเมินจำนวนผู้มาร่วมชุมนุมอาจจะตำ่เกินไปจึงคิดว่าเครือข่ายที่มีอยู่สามารถรองรับได้ แต่ไม่ใช่แบบนั้น เมื่อคนที่ไปรวมตัวกันเยอะๆและติดต่อคนอื่นไม่ได้จะเกิดความอึดอัด อาจจะส่งผลเสียทำให้สถานการณ์ชุมนุมแย่ลงไปอีกด้วย ดังนั้น กสทช.และผู้ให้บริการต้องตอบคำถามของประชาชนในกรณีดังกล่าวให้ชัดเจน แต่ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า ทางผู้ให้บริการคงไม่ได้ไปลดสัญญาณอะไร เพราะคนยิ่งใช้มากยิ่งได้เงินมาก

Advertisement

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานกมธ. กล่าวว่า ปกติการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะมีคนเข้าร่วมงานจำนวนมาก เราจะสามารถรู้ล่วงหน้า ดังนั้นผู้ให้บริการควรจะมีการประเมินล่วงหน้าหรือไม่ และจะมีการนำรถขยายสัญญาณเข้าพื้นที่หรือไม่ ตนอยากทราบว่ากรณีที่ใช้เครือข่ายมือถือไม่ได้ เกิดจากการใช้งานที่มากเกินไปหรือเกิดจากการรบกวนสัญญาณ และการในการชุมนุมการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญ กสทช.ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการชุมนุม ควรจะประสานกับตำรวจ เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภับแก่ประชาชน

ตัวแทน กสทช. กล่าวว่า ในการชุมนุมวันดังกล่าวเราดูสถิติผู้ใช้บริการและมีการประเมินตลอด ซึ่งทาง กสทช.ถูกพาดพิงว่าไปทำอะไรเพื่อก่อกวนสัญญาณหรือไม่ จริงๆแล้วทาง กสทช.ได้มีการประสานผู้ให้บริการให้ควบคุณคุณภาพของสัญญาณให้ดี เพราะเราเข้าใจว่าประชาชนมีความต้องการใช้บริเวณนั้นสูง แต่ด้วยมีคนจำนวนมากมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ การวีดีโอคอลผ่านไลน์ ซึ่งเป็นการใช้งานแบบสตรีมมิ่งจำนวนมาก ทำให้สัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ตพีคจนถึงขีดสุดจนเเต็มทุกช่องสัญญาณ แม้ว่าทางผู้ให้บริการจะมีการขยายสัญญาณแล้วก็ตาม ทั้งนี้ทาง กสทช. ไม่เคยมีการสั่งการให้ตัดหรือรบกวนสัญญาณแต่อย่างใด และเราไม่มีเครื่องมือดังกล่าว อุปกรณ์การตัดสัญญาณนั้นจะมีใช้ในหน่วยงานความมั่นคง ที่ส่วนใหญ่จะขออนุญาตนำเข้าและใช้ใน3จังหวัดชายแดนใต้ หรือภารกิจด้านความมั่นคงเท่านั้น
“กรณีนี้ก็เหมือนกรณีช่วยกลุ่มหมูป่าที่ติดถ้ำ ตอนนั้นมีสื่อไปรายงานสด ไลฟ์สดจำนวนมาก จนทำให้คนแถวนั้นใช้โทรศัพท์ไม่ได้เลย การไลฟ์สดหลายๆคน และไลฟ์สดต่อเนื่องนานๆ ทำให้กินเน็ตเยอะมากๆ จนทำให้ติดขัดคนอื่นๆอาจจะใช้ไม่ได้บ้าง”

ทางตัวแทนจาก CAT ชี้แจงว่า วันนั้นเราดูสถิติผู้ใช้บริการ ซึ่งเรามีฐานสัญญาณรอบบริเวณดังกล่าว 27 สถานี ในวันปกติจะมีผู้ใช้งานประมาณ 1,000 คน แต่ในวันดังกล่าวมีผู้ใช้พุ่งไปถึง 2,000 กว่าคนทำให้ความเร็วเฉลี่ยลดลง สปีดของเน็ตช้ามากเนื่องจากมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ตัวแทนจาก ทีโอที ชี้แจงว่า ทางทีโอที มี 21 สถานี ซึ่งมีคนใช้จำนวนมากเน็ตจะดร็อปลงตามปกติ เวลาที่มีคนมารวมทำกิจกรรมกันเยอะๆเราจะมีการเสริมรถโมบายเข้าไป แต่ทั้งนี้จะต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อของความร่วมมือผู้ร่วมงานอย่างไลฟ์สดแช่ยาวเพราะจะทำให้คนอื่นไม่สามารถใช้งานได้

ส่วนทางตัวแทนจาก ทรูมูฟเอช ชี้แจงว่า การจัดงานใหญ่ๆที่มีคนเยอะๆ ส่วนใหญ่โดยทั่วไปทางผู้จัดจะมีการประสานมาแจ้งให้เราทราบล่วงหน้า เพื่อประเมินผู้ร่วมงาน เพราะการจะนำรถขยายสัญญาณเข้าไปในพื้นที่จะต้องประสานขออนุญาติกับเจ้าของพื้นที่ เรายอมรับว่ามีการติดขัดในการนำรถโมบายเข้าไป เพราะถนนราชดำเนินจอดยากและไม่ใช่ไปจอดแล้วจะใช้ได้เลยต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง เช่นการต่อสายสัญญาณ การติดตั้งเครื่องปั่นไฟ ซึ่งจะต้องขออนุญาตจากกทม.และการไฟฟ้าด้วย และ บริเวณการชุมนุมนั้นมีผู้มาร่วมจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ใช้สื่อโซเชียลเยอะ ซึ่งผู้ใช้บริการมีมากกว่าปกติถึง 12 เท่า แน่นอนว่าทำให้เกิดการโอเวอร์โหลด ส่วนการจะใช้รถตัดสัญญาณนั้นถ้ามีจริงๆ สัญญาณตรงนั้นจะถูกตัดทั้งหมด แต่ในช่วงนั้นมีการใช้สัญญาณอินเอตร์เน็ตและโทรศัพท์จำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีการตัดสัญญาณ

ตัวแทนจาก AIS ชี้แจงว่า ในวันดังกล่าวเราได้ทำการขยายช่องสถานีจาก 68 เป็น 137 ช่องแต่อาจจะมีติดขัดบ้างเพราะไม่ใช่การออกแบบมาเพื่อสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ

ตัวแทนจาก ดีแทค ชี้แจงว่า การชุมนุมด้วยคนที่มากขนาดนี้ทำให้การใช้งานในเครือข่ายสูงมาก ซึ่งเราได้เพิ่มช่องสัญญาณ ให้ผู้ใช้บริการใช้งานได้ แต่ผู้ชุมนุมมีการใช้ เฟซบุ๊กไลฟ์ วีดีโอคอล ทำให้กินเน็ตสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่มีการไซด์ดาวน์ แต่มีการติดขัดของสัญญาณบ้าง และการใช้รถโมบายเข้าพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหาจุดจอดที่เหมาะสมและต้องมีการประเมินว่าจะใช้รถแบบไหนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image