สสส.ปักหมุดแคมเปญ “ตามสั่ง-ตามส่ง” สู้โควิด-19 “วิน ลาดพร้าว101”

ช่วงวิกฤตโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศซบเซาลง แต่มีหนึ่งธุรกิจที่กลับเฟื่องฟูขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทุกคนต่างต้องรู้จัก บ้างก็เป็นขาประจำที่ใช้บริการ ธุรกิจส่งอาหารŽ ด้วยความสะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งมีบริษัทนายทุนกระเป๋าหนักพร้อมแสวงหาโอกาสจากช่องทางธุรกิจในกระแส ทว่ามีกลุ่มอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความเฟื่องฟูนี้คือ สมาชิกผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือที่ใครๆ ก็รู้จักในนาม วินมอเตอร์ไซค์Ž รายได้ลดลงกว่าครึ่ง

สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ซอยลาดพร้าว 101 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้านำร่องแผนงาน ตามสั่ง-ตามส่ง : บิดเมืองŽ ภายใต้โครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก ในทางวิชาการเรียกว่า ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพŽ เช่น รายได้ ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมรอบตัว สสส. จึงเห็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ช่วยให้คนในชุมชนมีความสามารถในการปรับตัวในภาวะวิกฤต (Resilience) และแก้ไขปัญหาสุขภาพของตนเองได้จริง จึงริเริ่มสร้างสรรค์ ชุดโครงการ พลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤตŽ 1 ใน 55 โครงการที่ร่วมกันลดผลกระทบจากโควิด-19 มีความแปลกใหม่ น่าสนใจ และเป็นโครงการนำร่องที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ คือ โครงการตามสั่ง-ตามส่ง พร้อมขยายผลต่อทั้งเชิงลึกในชุมชน และถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังชุมชนที่มีความพร้อมอื่นๆ

Advertisement

ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี หัวหน้าชุดโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต กล่าวว่า โครงการใช้แนวคิด Resilience คือ การใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีต่อสู้เพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอด โดยการบูรณาการนำเอาความรู้ ความเข้าใจพฤติกรรม และบริบทของชุมชน มาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการตอบรับกับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น การใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานความรู้เดิม (Cognitive resilience) กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน (Behavioral Resilience) โดยใช้ผู้คน เครือข่าย และทรัพยากรที่มีอยู่เดิม (Contextual resilience) มาสร้างทางออกในการดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤตและหลังวิกฤต ช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบ สามารถดำเนินชีวิตด้วยความต่อเนื่องได้


“ในช่วงโควิด-19 ที่ทุกคนจะต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเป็นวิถีใหม่ ก็มานั่งคุยกันว่า จริงๆ แล้วจะต้องเปลี่ยนเป็นแบบใหม่เสมอไปหรือไม่ ถ้าคนต้นทุนไม่ได้ เราจะเปลี่ยนเป็นแบบใหม่แบบของเราได้ไหม ออกได้อย่างไรบ้าง เราจึงเปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้แนวคิด Resilience ด้วยคำนิยามสั้นๆ ว่า การไปต่อ คือการทำอย่างไรก็ได้ในภาวะใดๆ ให้เราไปต่อได้ เพราะไม่มีใครอยากหยุด เราจึงต้องสร้าง 5 ยุทธศาสตร์หลักที่มีความจำเป็น ที่จะต้องเสริมองค์ความรู้ สามารถช่วยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเปลี่ยนสภาพบริบทแวดล้อมให้เราไปต่อ ได้แก่ 1.สร้างชุดความรู้ เกี่ยวกับโควิด-19 ให้นำมาใช้ได้ด้วยตัวเอง 2.การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อยุติการแพร่ระบาดไวรัส 3.การบรรเทาสุขภาพจิต 4.การดูแลกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ เช่น การให้ทำงานอยู่บ้าน แต่อาชีพวินมอเตอร์ไซค์ไม่สามารถทำได้ และ 5.การสร้างชีวิตวิถีใหม่ ที่อาจจะต่างจากมาตรฐานแต่เป็นสิ่งที่ใหม่ของเราแล้ว หรืออาจจะเป็นเหมือนเดิมที่ดีกว่า”Ž ดร.ศิญาณี กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ ศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงานฯ ในโครงการนี้เกิดจากการทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงแรงงานเมื่อปี พ.ศ.2562 ในการทำวิจัยให้สอดคล้อง สามารถขับเคลื่อนไปร่วมกันได้ ขณะเดียวกันจะต้องมีการผสานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน โดยจุดสำคัญคือ คนทำงาน อย่างมีคุณค่าŽ ในช่วงโควิด-19 ได้ผุดโครงการสร้างงานที่ได้ลงมือทำจริง เห็นผลจริง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นำเสนอเพื่อขอความร่วมมือกับ สสส. พร้อมทั้งนำศักยภาพของคนจากหลายกลุ่มอาชีพมาร่วมงานกัน งานการออกแบบโลโก้ แผนที่ โปสเตอร์ที่ดึงดูดตา เป็นผลงานของกลุ่มงานสถาปัตยกรรม การลงพื้นที่ด้วยกลุ่มทีมวิจัยแรงงาน จนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างอาชีพให้แก่ชุมชน แต่สิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนได้คือการร่วมมือกัน เพื่อก้าวข้ามไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด

ผู้มองเห็นปัญหาในวิกฤต นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ หัวหน้าโครงการตามสั่ง-ตามส่ง กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นที่วินซอยลาดพร้าว 101 เพราะมีความเข้มแข็ง ในช่วงแรกคิดเพียงการสร้างความมั่นคงในอาชีพ แต่เมื่อผ่านกระบวนการคิดหลายตลบ ก่อเกิดเป็นผลพลอยได้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น การสร้างมาตรฐานอาชีพที่มากขึ้น การหาข้อเสียและปรับปรุง การเรียนรู้ร่วมกันจากการกำหนดค่าบริการ เพื่อให้ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับ ทราบว่าความต้องการของแต่ละฝ่ายคืออะไร กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง เป็นกลุ่มที่เข้าถึงประชาชนในชุมชนได้ดีที่สุด ชำนาญเส้นทางในพื้นที่ พร้อมทั้งสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้ที่มากกว่าการรับส่งผู้โดยสาร เช่น การเฝ้าขี่รถตระเวนสอดส่องบ้าน ในขณะที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ การรับส่งนักเรียน บุตรหลานแบบประจำ รับจ้างซื้อของ ไปจนถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในชุมชน กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างมักจะเป็นหูเป็นตา และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นงานที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างทำมาตั้งแต่ก่อนจะมีวิกฤตโควิด-19

“ในระยะนี้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และร้านค้า ผู้บริโภคในชุมชนลาดพร้าว 101 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กลไกตลาดออนไลน์ปัจจุบันยังถูกทำให้บิดเบี้ยว ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารที่มากขึ้น จึงเกิดโครงการตามสั่ง-ตามส่งโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ชุมชนเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างบิดสิ่งที่เบี้ยวกลับมา โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย กว่า 50 ร้าน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กว่า 40 คน นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ให้เรียนรู้ พัฒนา และมีสำนึกร่วมในฐานะเจ้าของชุมชน พร้อมแสดงให้เห็นว่า คนตัวเล็กที่ด้อยอำนาจต่อรอง สามารถรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่เป้าหมายได้ ตามสั่ง-ตามส่ง เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีส่วนร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้นให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ช่วยยกระดับมาตรฐานอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมีขั้นตอนการทำงานที่ไม่ขัดกับมาตรฐานทางอาชีพ ชุมชนใกล้ชิดกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ผู้บริโภค ร้านค้า วินมอเตอร์ไซค์ได้ประโยชน์ร่วมกัน ความเป็นชุมชนกลับมา ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น”Ž นายอรรคณัฐ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ได้รับปัญหาจากวิกฤต นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย และประธานวินซอยลาดพร้าว 101 กล่าวว่า การวางแผนหลักคือ กระจายข้อมูลแพลตฟอร์มนี้ไปยังชุมชนให้มากที่สุด เพื่อการรับทราบข้อมูล โดยค่าใช้จ่ายเป็นไปตามกฎหมายการขับขี่รถสาธารณะกำหนด หากการออกนอกพื้นที่จะเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อกิโลเมตร อาจจะบวกค่าบริการเล็กน้อยเพราะวินไม่สามารถแวะรับ หรือส่งต่อเพื่อไปที่อื่นได้ จะต้องไปส่งปลายทางและกลับมายังวินของตัวเองเท่านั้น ซึ่งต่างจากแพลตฟอร์มอื่นที่สามารถรับบริการได้ทั่วไป และเป็นที่มาของปัญหาที่ทำให้ขัดแย้งกัน โดยการใช้แพลตฟอร์มนี้ ประชาชนจากพื้นที่ใดก็ตามที่สั่งสินค้าภายในซอยลาดพร้าว 101 ทางวินลาดพร้าว 101 ก็จะนำของไปส่งให้ แต่เมื่อส่งแล้วจะต้องกลับมาที่วิน ไม่สามารถไปรับบริการอื่นนอกพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นระเบียบที่กรมการขนส่งทางบกวางไว้ สมาชิกขับวินรับทราบกันดีอยู่แล้วว่าห้ามรับข้ามเขต ข้ามวิน

“ปกติรายได้วินก็พออยู่ได้ วันละ 700-800 บาท แต่เมื่อมีโควิด-19 ประชาชนก็สั่งของออนไลน์มากขึ้น รายได้ก็ลดลงมากกว่า 50% ตามร้านในซอยมีแต่เสื้อเขียว เสื้อส้ม เราเป็นวินในพื้นที่ก็ได้แต่มองว่าเมื่อไหร่เราจะได้รับสั่งบ้าง จึงมีความคิดว่าเราต้องหาแพลตฟอร์มที่ไม่ทำให้ทะเลาะกัน และสามารถอยู่เฉพาะวินตัวเองได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้มีหลายวินสนใจอยากทำแบบเรา คาดว่าอนาคตข้างหน้าทาง สสส.จะขยายโครงการนี้ไปให้กับวินอื่น และหากภาครัฐมองว่าเกิดประโยชน์กับคนในชุมชน ก็ควรต้องลงมาสนับสนุน ไม่ใช่รัฐนั่งดูเฉยๆ แล้วให้พวกเราต่อสู้กันลำพังอย่างนี้Ž” นายเฉลิม กล่าว

ตามสั่ง-ตามส่งŽ ความหวังของผู้ขับวินในช่วงวิกฤตโควิด-19 และเป็นความหวังว่าจะมีการพัฒนาให้เป็นบริการหลักของวินในชุมชนต่างๆ เพื่อให้มีช่องทางทำมาหากินได้ โดยไร้ข้อขัดแย้งกับบริษัทนายทุน และเพื่อบริการความสะดวกให้แก่คนไทยด้วยกันได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ตามสั่ง-ตามส่ง.com เฟซบุ๊กแฟนเพจ ตามสั่ง ตามส่ง และไลน์ @tamsangtamsong101

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image