หวั่นโควิด-19 ระลอกสอง รมว.แรงงาน สั่งเข้มใบอนุญาตทำงานต่างด้าว 3 สัญชาติ

หวั่นโควิด-19 ระลอกสอง รมว.แรงงาน สั่งเข้มใบอนุญาตทำงานต่างด้าว 3 สัญชาติ

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เนื่องจากอาจเชื่อมโยงถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศได้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 ฉบับ และมีผลใช้บังคับแล้ว

“กระทรวงแรงงาน ขอย้ำ เตือนให้ นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าวตามมติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ได้แก่ กลุ่มที่ 1) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ซึ่งครบวาระการจ้างงาน 4 ปี กลุ่มที่ 2) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัวได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (TD) เอกสารรับรองบุคคล (CI) ที่ใบอนุญาตทำงานและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 กลุ่มที่ 3) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50 มาตรา 53 หรือมาตรา 55 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ออกจากนายจ้างรายเดิม แต่หานายจ้างรายใหม่ไม่ได้ภายใน 30 วัน เป็นต้น กลุ่มที่ 4) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาล โดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ซึ่งครบวาระการจ้างงาน และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุดนั้น รีบมาดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน” นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการว่า คนต่างด้าวกลุ่มที่ 1-3 สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 มีนาคม 2565 หลังจากนั้นคนต่างด้าวต้องตรวจสุขภาพ /ประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (กรณีไม่มีประกันสังคม) และยื่นขอรับการตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 และขั้นตอนสุดท้ายคือ การจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานด้านหลังบัตร กับกรมการปกครอง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 – 31 มีนาคม 2564 โดยแรงงานต่างด้าวสามารถทำงานกับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่มิได้มีประกาศห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น เดียวกับคนต่างด้าว MOU และไม่อนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง เว้นแต่การออกจากงานเป็นเพราะความผิดของนายจ้างหรือได้ชำระค่าใช้จ่ายให้นายจ้างรายเดิมแล้ว

ส่วนคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลบริเวณชายแดน ที่ถือบัตรบัตรผ่านแดน (Border Pass) สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 – วันที่ 31 ตุลาคม 2563 และคนต่างด้าวต้องตรวจสุขภาพ /ประกันสุขภาพ (กรณีไม่มีประกันสังคม) ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่สามารถขอต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565 และแรงงานต่างด้าวไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เว้นแต่การออกจากงานเป็นเพราะความผิดของนายจ้าง หรือได้ชำระค่าใช้จ่ายให้นายจ้างรายเดิมแล้ว โดยสามารถทำงานในตำแหน่งกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน และทำงานได้เฉพาะในท้องที่ที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิมเท่านั้น

Advertisement

“กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ตระหนักถึงความจำเป็นของแรงงานต่างด้าวในประเทศ ซึ่งเป็นกลไกหลักสนับสนุนภาคการผลิตของภาคธุรกิจ และเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงเร่งดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล ที่ได้ผ่อนคลายมาตรการในประเทศที่ให้กิจการและกิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินการได้มากขึ้น ซึ่งนายจ้างหรือสถานประกอบการที่จ้างงานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image