เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 โจ ไบเดน VS โดนัลด์ ทรัมป์ โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 โจ ไบเดน VS โดนัลด์ ทรัมป์ โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 ได้ใกล้เข้ามาทุกขณะ หาเสียงกันอย่างคร่ำเคร่ง โต้คารมกันชนิดถึงพริกถึงขิง เผ็ดร้อนและรุนแรงตามลำดับ

วันที่ 21 สิงหาคม “โจ ไบเดน” ได้กล่าวคำปราศรัยตอบรับการเสนอชื่อของพรรคเดโมแครต เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงกลายเป็นผู้ท้าชิงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดทั่วสหรัฐ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจตกต่ำถึงที่สุด

Advertisement

พรรคเดโมแครตจึงหวังขับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ให้ออกจากทำเนียบขาว

การที่ “โจ ไบเดน” เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง หากพิจารณาในทางตรรกะ สถานการณ์ทั่วไปอำนวยสูงยิ่ง และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกภายในพรรคอย่างล้นหลาม

แต่ “ไบเดน” ส่วนตัวก็มีจุดอ่อน บวกกับปฏิบัติการประชานิยมของ “ทรัมป์”

จึงกลายเป็นการแข่งขันชิงชัยของ “ผู้สูงวัยที่สุด” ในประวัติศาสตร์ของอเมริกัน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 จึงเป็นวันที่คนทั่วโลกรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ

เชื่อว่าคงไม่มีผู้ใดมองข้ามการพลิกล็อกของ “แฮร์รี่ ทรูแมน” อดีตประธานาธิบดีคนที่ 33 เมื่อปี 1948 จากเป็นรองคู่แข่งจนกลายเป็นประธานาธิบดีอีก 1 สมัย

คืออุทาหรณ์

จึงมีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า “ทรัมป์” อาจย่ำรอยประวัติศาสตร์ของ “ทรูแมน”

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐดูเหมือนการวิ่งแข่งระยะทางไกล

เมื่อใดการประชุมของ 2 พรรคใหญ่มีมติอย่างเป็นทางการให้ผู้ใดเป็นตัวแทนพรรคเพื่อชิงตำแหน่ง เมื่อนั้นย่อมเป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอกว่าเข้าทางตรงของ “โค้งสุดท้าย”

“ไบเดน” ในวัย 77 โลดแล่นบนถนนการเมืองเกินกว่าครึ่งศตวรรษ หากสามารถชนะการเลือกตั้งเข้าไปทำเนียบขาว ก็จะกลายเป็นผู้สูงวัยที่สุดที่ได้รับเลือกของประวัติศาสตร์อเมริกา

ส่วน “ทรัมป์” ซึ่งเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน คือเกินกว่า 70

ฉะนั้น การแข่งขันครั้งนี้จึงไม่เกี่ยวกับความแข็งแรงหรือความมีชีวิต

หากต้องเป็นผู้ที่สามารถนำพาสหรัฐให้ออกจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสแห่งศตวรรษ

ปัจจุบันเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสในสหรัฐเข้าขั้นรุนแรงที่สุด ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและเสียชีวิต คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับเศษ 1 ส่วน 4 ของโลก

“วัคซีน” คือความหวังสุดท้ายของอเมริกันชน

ความรุนแรงของไวรัสระบาดครั้งนี้ ไม่ต่างไปจากสมัยอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ เมื่อทศวรรษ 1940 โดยต้องประสบพบพานกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซ้ำร้ายยังต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2

จึงไม่แปลกที่การปราศรัยของ “ไบเดน” ได้เน้นหนักความสมานฉันท์ของอเมริกันชน และต้องการผู้นำที่ทรงพลัง จึงจะสามารถแก้ปัญหา “วิกฤตที่สุด” ในปัจจุบันได้

“ไบเดน” จึงหวังอย่างยิ่งให้ผู้ใช้สิทธิเชื่อมั่นในความสามารถของเขาเหมือนกับเชื่อมั่น “รูสเวลต์” คือ กอบกู้สหรัฐอเมริกา

ส่วน “ทรัมป์” ได้สนับสนุนให้ทุกรัฐทำการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปรากฏว่าได้ผลระดับหนึ่ง ดัชนีตลาดเป็นที่ประจักษ์ว่า หุ้นสหรัฐสูงขึ้นจนทำลายประวัติศาสตร์อเมริกา

กรณีจึงฟังได้ว่า การกอบกู้ตลาดหุ้นมาก่อนแก้วิกฤตโรคระบาดไวรัส

ส่วนอัตราคนตกงานก็ยังสูงกว่าร้อยละ 10 สาหัสกว่าเมื่อคราวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสึนามิ

คนว่างงานระยะยาวนั้น มีจำนวนนับล้านคน จึงจำเป็นต้องอาศัยเงินกู้มาประทังไปก่อน

ย้อนมองประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ที่ได้รับอีก 1 สมัย ล้วนมีจุดเด่น

ตั้งแต่ปี 1916 สหรัฐมีประธานาธิบดีเพียง 3 คนเท่านั้นที่มิได้รับเลือกอีก 1 สมัย

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ปีเลือกตั้ง เศรษฐกิจตกต่ำคือสาเหตุทำให้ “สอบตก”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย “ไบเดน” ท้าชิง “ทรัมป์” ย่อมต้องถือว่ามีส่วนได้เปรียบ ได้เปรียบที่สถานการณ์อำนวย ความสมานฉันท์ในพรรคเดโมแครต “ไบเดน” เหนือกว่า “ฮิลลารี คลินตัน” เมื่อ 4 ปีก่อน เพราะเธอถูกมองว่าคือ ผู้ที่มีความสามารถ แต่ไม่ติดดิน

จึงไม่แปลกที่ “ฮิลลารี” มิได้รับการสนับสนุนจากพวกหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย

ส่วน “ไบเดน” ถือว่าเป็นนักการเมืองชั้นยอดที่ติดดินของพรรค

เมื่อเปิดการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อกลางเดือนสิงหาคม “ไบเดน” ได้กวักมือกับฝ่ายหัวรุนแรง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีในพรรค เพื่อต้องการเอาชนะทรัมป์

อย่างไรก็ตาม ดูประหนึ่งว่าพรรคเดโมแครตเองก็ไม่มีความมั่นใจว่า จะล้มทรัมป์ได้

ท่ามกลางภาวะวิกฤตไวรัสระบาด มีผู้ใช้สิทธิจำนวนมากของเดโมแครต จะลงคะแนนโดยส่งทางไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ทรัมป์พยายามหาทางขัดขวาง เดโมแครตก็มีความกังวล

ถ้าพินิจให้ดี จุดอ่อนของ “ไบเดน” ต่างหากคือประเด็นสำคัญในการตัดสินชนะหรือแพ้

“จุดอ่อน” ของไบเดนคือ บุคลิกภาพส่วนตัว คุณสมบัติในการ “เรียกแขก” ยังไม่เพียงพอ

เพียงแค่อาศัยคำขวัญ “Anything But Trump” (ข้าพเจ้ามิใช่ทรัมป์) ยังไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้สิทธิประเภทที่ยังมิได้ตัดสินใจจะเลือกผู้ใด (Swinging voters)

ซึ่งแตกต่างกับ “ทรัมป์” ที่ชอบใช้มาตรการประชานิยมเรียกแขก เปรียบเสมือนยาสารพัดนึก อันสามารถปลุกเร้าอารมณ์คนผิวขาวขวาจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในสายตาของผู้ที่สนับสนุนทรัมป์เห็นว่า เหตุเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรนานั้น

ความผิดคือประเทศจีน มิใช่ทรัมป์ไร้ความสามารถ

“ทรัมป์” เคยถูกกล่าวหาบ่อยครั้งว่า ชอบกล่าวความเท็จ

ส่วน “ไบเดน” ยิ่งพูดมากก็ยิ่งผิดมาก

จากการสำรวจประชามติ ปรากฏว่า ความนิยมของทรัมป์ดีขึ้น ดีขึ้นเพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจและดัชนีตลาดหุ้นที่กระเตื้องขึ้น จึงเป็นเหตุให้ทรัมป์ตีตื้นขึ้นมาได้บ้าง

ส่วนคะแนนความนิยมของ “ไบเดน” ก็ลดลงตามสัดส่วนที่ทรัมป์ทำได้

เมื่อไม่นานมานี้ ทำเนียบขาวกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมากได้เกิดความขัดแย้งกันในประเด็นมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ถึงขั้นติดตาย (Deadlock)

จึงมีคนของพรรครีพับลิกันเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อโดนัลด์ ทรัมป์

ย้อนมองประวัติศาสตร์ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประธานาธิบดีได้รับเลือกอีก 1 สมัย

เสมือนงมเข็มในมหาสมุทร

แต่ปี 1948 “แฮร์รี่ ทรูแมน” อดีตประธานาธิบดี ได้รับเลือกอีก 1 สมัย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถือเป็น 1 เดียวในรอบ 100 ปี

กรณีเสมือน “แฮร์รี่ ทรูแมน” ทิ้งไผ่เด็ด 1 ใบ ไผ่เด็ดนั้นคือ กล่าวหาว่าพรรครีพับลิกัน “เตะถ่วงหน่วง” การกอบกู้เศรษฐกิจที่เลวร้าย จึงเป็นเหตุให้ชนะการเลือกตั้งอีก 1 สมัย

สำหรับครั้งนี้คงยากแก่การเดาว่าผู้ใดชนะหรือแพ้เพราะยังไม่ทราบว่าทรัมป์จะมาไม้ไหน

ทั้งนี้ ไม่ตัดประเด็นโจมตีอิหร่านหรือเวเนซุเอลา เพื่อก่อให้เกิดการปะทะกันในภูมิภาค

นอกจากนี้ทรัมป์อาจพุ่งเป้าไปที่จีน โดยใช้วิธีผลีผลามบุ่มบ่ามเพื่อให้ได้คะแนนเลือกตั้ง

เมื่อไม่นานมานี้ “ไบเดน” เคยบริภาษ “ทรัมป์” เกี่ยวกับนโยบายที่มีต่อจีน อันเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าและปรับขึ้นพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนนั้นว่า

ความจริงผู้ที่จ่ายเงินคือผู้บริโภคและธุรกิจอเมริกา คือการพูดเป็นนัย อันหมายถึงถ้าเขาได้เข้าทำเนียบขาว ก็จะพิจารณายกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าของจีน

จึงเป็นเหตุให้คนพรรครีพับลิกันวิพากษ์ว่า “ไบเดน” อ่อนข้อให้แก่จีน เป็น “คนของปักกิ่ง”

หากพินิจถึงการโฆษณาชวนเชื่อของทั้ง 2 ฝ่าย เห็นว่า

ลำพังนโยบายของพรรคเดโมแครตที่มีต่อจีน ยังมองไม่เห็นว่า หลังจากได้เข้าทำเนียบขาว มาตรการหลักเพื่อสกัดจีน จะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนคำว่า “เมดอินยูเอสเอ”คือแผนการที่ “ไบเดน” ได้ประกาศไว้ก่อน ความจริงก็ไม่แตกต่างไปจากมาตรการอนุรักษนิยมของ “ทรัมป์”

อันนโยบายของ “ไบเดน” และ “ทรัมป์” ที่มีต่อจีน ความแตกต่างมากที่สุดคือ

1 ไบเดนยึดระบบพหุภาคี (ลัทธิหลายฝ่าย)

1 ทรัมป์ยึดระบบเอกภาพนิยม (ลัทธิฝ่ายเดียว)

แม้ว่า “ไบเดน” ไม่ทำสงครามการค้า แต่มีแนวโน้มสูงที่จะกลับมาใช้ “ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP=Trans-Pacific Partnership)” เพื่อสกัดการพัฒนาเทคโนโลยีจีน ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและปัญหาฮ่องกงคงยังไม่ลดละ

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งจีน-สหรัฐก็คงดำรงอยู่ต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าเจ้าของทำเนียบขาวจะเป็นผู้ใด

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image