คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : สีนั้นสาดไปลงที่หัวใคร : โดย กล้า สมุทวณิช

ในเมื่อชุดที่เปื้อนสีก็ซักกันไป หรือถ้าซักไม่ออกก็ซื้อใหม่ได้แบบไม่เดือดร้อน คนที่ถูกสาดก็ไม่ได้ติดใจอะไรหนักหนา คดีความ ถ้าจะมีก็ว่ากันไป แต่เรื่องที่นักร้องดัง แอมมี่ บอตทอมบลูส์ สาดสีน้ำเงินสดใสใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อสายวันศุกร์ที่แล้วก็ยังเถียงกันต่อมาได้อีกหลายวัน

ซึ่งกลุ่มผู้คนที่ตั้งคำถาม อภิปราย ถกเถียง ไปจนถึงเสียดสี ก็คือฝ่าย “ประชาธิปไตย” ที่เป็นแนวร่วมกับฝ่ายผู้ประท้วง หรือพูดง่ายๆ คือ “ฝ่ายเดียวกัน” นั่นแหละ

ตัดประเด็นเรื่องความหมั่นไส้ส่วนบุคคลที่มีต่อนักร้องมือถังสีออกไปก่อน รวมถึงข้อเหยียดไร้สาระอย่างการหาว่านักร้องดัง “หิวแสง” ไปด้วย (ซึ่งก็น่าสงสัยว่านักร้องวัยรุ่นระดับที่มิวสิกวิดีโอของเขามีผู้กดชมนับล้านครั้งนี่จะยังต้องการแสงจากอะไรไหนอีก) ประเด็นก็น่าจะเหลือแต่ว่า การสาดสีใส่แถวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาตั้งกำแพงขวางประชาชนที่เดินมาพร้อมกับ ไผ่ ดาวดิน และบรรดาผู้ได้รับหมายเรียก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาสารพัดนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นควรรู้สึกอย่างไร เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็รู้สึกอิหลักอิเหลื่อพอสมควร ว่าการกระทำของเขานั้นยังอยู่ในขอบเขตของความชอบธรรมหรือไม่

ก่อนอื่นเราต้องตั้งหลักกันที่ว่า การชุมนุมกันทางการเมือง เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับทั้งไทยและสากล นับเป็นหนึ่งในสิทธิในทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากการเลือกตั้ง ลงประชามติ หรือเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ภายใต้หลักการว่า “เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธย่อมได้รับความคุ้มครอง”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางภาษานั้นก็มีความกำกวมอยู่ เพราะภาษาไทยใช้คำว่า “สงบ” แต่ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Peaceful” ซึ่งใกล้เคียงกับการมี “สันติ”

ซึ่งคำว่า “สงบ” กับ “สันติ” นั้นแม้จะแทนที่กันได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้เหมือนหรือตรงกันเสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ในงานปาร์ตี้ หรือแข่งกีฬา คงไม่มีใครคาดหวังว่าบรรยากาศในงานแบบนั้นมันจะ “สงบ” แต่ก็ไม่มีใครเถียงเช่นกันว่ามันไม่ “สันติ”

เพราะถ้าเราถูกคำว่า “สงบ” ครอบงำ “การชุมนุม” เอาไว้ ขอบเขตความเป็นไปที่การชุมนุม
เรียกร้อง หรือต่อสู้ทางการเมืองใดจะถือว่าชอบธรรมและยอมรับได้ก็จะแคบลงมาก

Advertisement

เราอาจจะต้องยอมรับเช่นกันว่า การชุมนุมประท้วงนั้นคือการ “ก่อกวนความสงบ และรบกวนความสะดวก” ในตัวของมันเองอย่างแน่นอน เพราะมันคือการรวมตัวกันของผู้คนเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ ความเดือดร้อน หรือความทุกข์ยากของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกมาให้สังคมได้เห็น และแน่นอนว่ามันจะต้องก่อให้เกิดความ “ระคาย” บางอย่างให้แก่ส่วนรวมบ้าง เช่น อย่างน้อยที่สุดการชุมนุม หรือเดินขบวน ก็จะรบกวนการเดินทาง หรือการใช้พื้นที่สาธารณะ หรือในรูปแบบที่นิยมในหลายประเทศอย่างการประท้วงนัดหยุดงาน ที่ถ้าเป็นบริการสาธารณะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น การขนส่งมวลชนก็ก่อความเดือดร้อนอย่างเบาถึงหนักให้แก่ผู้ใช้บริการ

เรื่องนี้ใครเคยอยู่ในประเทศที่นิยมการประท้วงด้วยวิธีนี้ เช่น ฝรั่งเศส คงระลึกถึงวันที่ต้องไปธุระสำคัญแล้ว รถเมล์ หรือรถไฟเหลือชั่วโมงละเที่ยวละคันได้อย่างซาบซึ้งใจเป็นอย่างดี

แต่เมื่อเรายอมรับว่า การชุมนุมประท้วงนั้นเป็น “เสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ที่ต้องยอมรับแล้ว จึงต้องมีกติกาเพื่อให้การชุมนุม หรือการนัดหยุดงานนั้นสามารถทำได้ แต่ลดทอนความเดือดร้อนให้สังคมส่วนรวมให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

สิ่งที่กำหนดขอบเขตของเรื่องนี้คือ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะจึงต้องกำหนดให้ต้องแจ้งต่อทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้ทราบล่วงหน้า ประกาศให้ผู้คนที่จะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมนั้นได้รู้ไว้ก่อน เพื่อวางแผนจัดการชีวิต ซึ่งตามกฎหมายนั้นเป็นการ “แจ้ง” ไม่ใช่ “การขออนุญาต” เพราะการได้ชุมนุมประท้วงนั้นต้องเป็น “หลัก” ส่วนการจำกัดไม่ให้ชุมนุมต้องเป็น “ข้อยกเว้น” เช่นเดียวกับการนัดหยุดงานประท้วงในกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ นอกจากการแจ้งล่วงหน้าแล้วต้องจัดให้ยังมีบริการขั้นต่ำสุดเพื่อรองรับให้ด้วย

เคยถามผู้คนในประเทศแม่บทแห่งการประท้วงว่า รู้สึกอย่างไรเวลาที่มีการนัดหยุดงานจนไม่มีรถเมล์วิ่ง ต้องใช้เวลาในการเดินทางจนเหน็ดเหนื่อยมากกว่าปกติอย่างสะบักสะบอม ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่เป็นไร ทนได้ เพราะในตอนที่เราประท้วงนัดหยุดงานเช่นนี้ หรือที่เราอาจจะทำบ้างในอนาคต พวกเขาก็จะต้องเป็นฝ่ายอดทนกับเราบ้างเช่นกัน และเพราะต่างคนต่างอดทนเช่นนี้ จึงทำให้สังคมได้สัมผัสความเดือดร้อนของแต่ละฝ่ายร่วมกัน รวมถึงได้เห็นว่างานของพวกเขามีความสำคัญอย่างไร เมื่อขาดพวกเขาเราเดือดร้อนขนาดไหน เราจึงควรเอาใจช่วยให้เขาได้รับในสิ่งที่เรียกร้อง

แม้เหมือนจะสรุปได้ง่ายๆ ว่ามันคล้ายกับประโยค “ทีเอ็งตูไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย” ก็ได้ แต่มันอยู่ภายใต้ความคิดที่ว่า เสรีภาพในการชุมนุมประท้วงนี้ เป็นเรื่องของการผลัดกันว่าผลัดกันโวยของทุกคนในสังคมนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อการประท้วงนั้นถึงอย่างไรก็ไม่มีทาง “สงบ” สิ่งที่เราเรียกร้องมาตรฐานต่อการประท้วงนั้น จึงน่าจะหมายถึง “ความสันติ” เช่นที่เราถือว่าการชุมนุมที่สันติอย่างน้อยต้องปราศจากอาวุธ เพราะแสดงให้เห็นถึงเจตนาตั้งต้นว่าไม่ได้มุ่งหมายจะประทุษร้ายต่อกัน นอกจากกระทบกระทั่งกันบ้าง
ตามสภาพ

และการกระทบกระทั่งกันที่ยังพอจะพูดได้ว่ายังอยู่ในขอบเขตอัน “สันติ” อยู่ ก็น่าจะได้แก่ การกระทบกระทั่งที่แม้จะก่อความเสียหายบ้าง แต่ความเสียหายนั้นก็อยู่ในวิสัยที่แก้ไขทดแทน หรือชดใช้ให้กลับคืนได้ หรือเกือบเหมือนเดิม เช่น อาจจะมีการกระทบกระแทกกันจนฟกช้ำดำเขียว หรือเลือดตกยางออกบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ใครตาย พิการ สูญเสียอวัยวะ หรือบาดเจ็บถึงขนาดไม่สามารถรักษาหายให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอย่างเป็นปกติสุข หรือถ้ากระทบกระทั่งกันด้วยวาจา หรือการสื่อสารแสดงออก แต่ก็ไม่ใช่การเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย หรือปลุกเร้าเรียกร้องให้มีการใช้กำลังเข่นฆ่าสังหารกัน

เช่นนี้การใช้สีสาดใส่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ จึงอาจยังพอที่จะอยู่ในขอบเขตของการประท้วงอย่าง “สันติ” แม้จะ “ไม่ค่อยสงบ” ได้อยู่ และอย่างที่หลายคนคงได้เห็นว่าในต่างประเทศก็มีที่ใช้วิธีนี้ แต่จะมีติติงกันสำหรับกรณีนี้บ้างก็คือ สีที่ใช้นั้นเป็นสีทาบ้าน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่บ้าง หรือทำให้เสื้อฟอร์มชุดเครื่องแบบเสียหายแบบซักไม่ได้ล้างไม่ออกก็เท่านั้น

แต่ก็ปรากฏว่ามีมิตรสหายที่เห็นใจทั้งสองฝ่ายได้ระดมทุนกันไปช่วยคุณตำรวจจัดหาเสื้อผ้าเครื่องแบบชุดใหม่ทดแทนกันแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงด้วย คือ ข้อห่วงใยของหลายฝ่ายที่มองว่า การเอาสีไปสาดใส่เจ้าหน้าที่หน้างานนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เพราะพวกเขาเป็นเพียงเจ้าพนักงานชั้นผู้น้อย หรือระดับปฏิบัติการ เต็มที่ก็ระดับนายร้อยต้นๆ ที่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนำซ้ำการสาดสีที่ทำให้เครื่องแบบของเขา ซึ่งมีราคาสูงอยู่เมื่อเทียบกับระดับเงินเดือนค่าตอบแทนก็ทำให้เขาได้รับความลำบากเดือดร้อนเข้าเนื้อ เป็นการกดขี่ผู้ถูกกดขี่ด้วยกันซึ่งไม่เข้าท่าอะไร และยังไม่ต้องพูดถึงว่า เจ้าพนักงานชั้นผู้น้อยระดับปฏิบัติการหน้างานบางคนนั้นก็อาจจะมีใจให้เป็นฝ่ายเดียวกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เช่น ภาพถ่ายของหน่วยปราบจลาจลแอบชูสามนิ้วให้ผู้ชุมนุมก็เคยมีผู้ถ่ายมาให้เห็น

ข้อติติงนี้มีเหตุผลฟังได้ แต่ก็ไม่น่าจะใช่คำตอบว่า ทำไมการกระทำของนักร้องหนุ่มจึงเป็นเรื่องผิดหรือไม่ควรทำ

นั่นก็เพราะข้อเท็จจริงอย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกัน ว่าในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือการใช้อำนาจมิชอบนั้น ก็คือการกระทำผ่าน “ฝ่ายปฏิบัติการชั้นผู้น้อย” ทั้งนั้น

ไอ้ที่ไปจับคนต่อหน้าลูกเมียทั้งๆ ที่มีที่อยู่เขาเป็นหลักแหล่ง กรณีออกหมายเรียกก่อนได้ก็ไม่เรียก ไปออกหมายจับเลย และที่มีหมายจับในมือครบแล้ว แต่ก็เลือกวันเวลาไปจับให้เขาเดือดร้อนที่สุด จับแล้วก็โยกโย้พาไปตระเวนตามโรงพักต่างๆ นั้นก็ชั้นเจ้าพนักงานผู้น้อยมิใช่หรือ

หรือกล่าวให้สุด ที่ไล่ยิงผู้ชุมนุมเสื้อแดงตายกันกลางเมือง นั่นก็น่าจะพลทหารชั้นผู้น้อยถึงไม่เกินระดับจ่าทั้งนั้นมิใช่หรือ

ในเมื่อพวกเขาปฏิบัติหน้าที่เป็นกลไกการละเมิดสิทธิให้ “รัฐ” เป็นด่านหน้าที่ปะทะกับประชาชน มันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ก็มีความเสี่ยง มีราคาที่ต้องจ่าย

แต่ถึงกระนั้นการเป็นผู้น้อยในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสสูงเช่นนี้จะไม่มีทางเลือกสักเท่าไร การได้เป็นตำรวจชั้นประทวน หรือสัญญาบัตรอาจจะเป็นผลของความพยายามถึงที่สุดของผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมที่ไม่ได้มีทางเลือก การปฏิเสธคำสั่งผู้บังคับบัญชา แม้ว่าคำสั่งนั้นจะเห็นๆ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นภัยอันตราย และอาจจะซวยได้ในทันที (และแม้ว่าปฏิบัติตามไปก็อาจจะไปรอลุ้นว่าจะถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบในอนาคตระหว่างอายุความหรือไม่) พวกเขาไม่อาจปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งนั้น แล้วหันหลังยื่นใบลาออกจากราชการไปได้ง่ายดายดังอุดมคติ

เราอาจจะยอมรับความจริงในแง่นี้ได้บ้าง เพื่อความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และอาจจะช่วยเหลือเพื่อลดความเดือดร้อนเสียหายที่เขาต้องได้รับเพราะปฏิบัติการเป็นตัวแทนอำนาจรัฐ หากก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าคนที่เลือกที่จะปฏิบัติตามคำสั่งนั้นอย่างเต็มใจ และเห็นด้วยก็มีอยู่เช่นกัน คนที่สามารถทำให้คำสั่งร้ายๆ ของผู้บังคับบัญชาเลวลงไปได้กว่านั้นอีกด้วยเจตจำนงของตัวเอง อย่างคนที่ลุแก่อำนาจ คนที่กราดยิงประชาชนด้วยความสะใจมันมือก็มี เช่นเดียวกับที่ลั่นไกไปร้องไห้ไปก็มี

ความเห็นอกเห็นใจ หรือแม้แต่ลงไปช่วยเหลือแบ่งเบาความเดือดร้อนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ อาจจะไม่ใช่อะไรไปมากกว่าการแสดงออกว่า เราคือประชาชน เป็นราษฎรเหมือนกัน เราเข้าใจและเห็นใจท่าน แต่ก็ขอให้ท่านทบทวนบ้างเช่นกัน ว่าตัวเองกำลังปฏิบัติตามคำสั่งที่มาจากการใช้อำนาจโดยชอบกฎหมาย หรือชอบธรรมแล้วหรือไม่ กับเป็นหน้าที่ซึ่งท่านไม่อาจจะเลี่ยง ผ่อน หรือแก้ไขอะไรได้เลยจริงหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image