‘เจ้าคุณทหารลาดกระบัง-ราชทัณฑ์’ ช่วยผู้พ้นโทษมีอาชีพเปิดโครงการ ‘Street Food’

‘เจ้าคุณทหารลาดกระบัง-ราชทัณฑ์’ ช่วยผู้พ้นโทษมีอาชีพเปิดโครงการ ‘Street Food’

 

“จอย” หญิงสาววัย 30 ปี ตื่นตั้งแต่เช้ามืดทุกวันเพื่อมาทำขนมเล็กๆ น้อยๆ อย่างแซนด์วิชทอด เกี๊ยวทอด ให้ลูกชายคนโตที่เรียนชั้น ม.1 หิ้วติดมือไปขายเพื่อนๆ ที่โรงเรียนในราคาชิ้นละ 10 บาท จากนั้นช่วงก่อนเที่ยง เธอจะคอยรับออเดอร์ขนมและน้ำปั่นจากโรงงานใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

ชีวิตประจำวันของ “จอย” เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เธอ “พ้นโทษ” ออกมาจากเรือนจำ หลังถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน ในข้อหาลักทรัพย์ เพราะเธอไม่ได้รับการเรียกตัวเมื่อไปสมัครงานตามที่ต่างๆ จึงต้องอาศัยการ “ขายของ” มีรายได้ตกวันละประมาณ 200-400 บาท เป็นหนทางเดียวเพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวที่มีลูก 2 คน

“ตอนนั้นหนูกับแฟนได้รับการเชื้อเชิญให้ไปเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ อ.สวนผึ้ง พอเปิดมาได้ 3 เดือน ปรากฏว่า เริ่มขายไม่ได้ ค่าเช่าที่ก็แพง เงินก็ขาดมือ แต่มีเรื่องต้องใช้เงินเร่งด่วน จึงนำแอร์ตัวหนึ่งไปจำนำกับญาติ ได้เงินมา 10,000 บาท พอผ่านไปสัปดาห์นึง มีลูกค้าต้องการแอร์ตัวนี้ ซึ่งมีอยู่ตัวเดียว หนูกับแฟนก็เลยไปขอคืน แต่ญาติบอกว่าเขาเอาไปติดที่บ้านภรรยาแล้ว เราไม่มีของมาคืน ทางบริษัทแม่จึงแจ้งความ และโดนจับข้อหาลักทรัพย์กับทั้งหนูและแฟน ติดคุกทั้งคู่ คนละ 8 เดือน ถึงจะไม่นานมาก แต่พอถูกตีตราว่าเคยติดคุก โอกาสต่างๆ ในการทำงาน ก็ไม่มีให้เราอีกต่อไป”

Advertisement

“จอย” เป็นหนึ่งใน “ผู้พ้นโทษ” จากเรือนจำกลางราชบุรี ที่สมัครและได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “Street Food สร้างโอกาส” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมราชทัณฑ์ และโครงการกำลังใจ ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษ หรือ ผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกน้อยกว่า 3 เดือน ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกฝนการทำอาหาร Street Food โดยมีนักวิชาการด้านโภชนาการ มาสอนการทำอาหารให้อร่อยและถูกหลักสุขอนามัย พร้อมจะสนับสนุนรถเข็น Hygiene แบบพิเศษที่ออกแบบโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ สจล.ให้เป็นทุนตั้งต้นในการออกไปประกอบอาชีพด้วย

โครงการ “Street Food สร้างโอกาส” เริ่มกระบวนการขึ้นจากการที่ สจล. ได้ทำโครงการ Street Food Academy ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกงานและขาดรายได้จากวิกฤต “โควิด-19” ที่ผ่านมา ทำให้ทาง TIJ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังในเรือนจำและผู้พ้นโทษได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ เพื่อไม่ต้องทำผิดซ้ำอีก มองเห็นว่า โครงการของ สจล. เป็นรูปแบบหนึ่งที่จะนำมาใช้สร้างอาชีพที่ดีให้กับผู้พ้นโทษได้ จึงประสานกับทาง สจล. กรมราชทัณฑ์ และโครงการกำลังใจ ให้มาร่วมกันสร้างโครงการนี้ขึ้น

TIJ กรมราชทัณฑ์ และโครงการกำลังใจ จึงนำแนวคิดของโครงการ “Street Food สร้างโอกาส” มาบอกกล่าวแก่ผู้พ้นโทษและผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษในเรือนจำกลางราชบุรีและเรือนจำกลางนครปฐมให้สมัครเข้าร่วมโครงการ ก่อนจะคัดเลือกเหลือ 9 คน ในระยะแรก เพื่อให้มาเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งสร้างทางเลือกและโอกาสในการออกไปประกอบอาชีพใหม่ ภายใต้การรับรองว่า ได้ผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า ทีมงานของ สจล. และ TIJ ได้ร่วมกันลงพื้นที่เรือนจำจังหวัดราชบุรีและนครปฐม จัดอบรมเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยและสำรวจความต้องการของผู้ต้องขัง ก่อนจะนำข้อมูลมาร่วมมือกับวิศวกร สจล. ออกแบบรถเข็นนวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพและความสะอาดปลอดภัยของอาหารสตรีทฟู้ดให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ

“TIJ จะผลักดันโครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบของสหประชาชาติ ที่เป็นการร่วมมือร่วมใจจากหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้โอกาสผู้ต้องขังตามแนวทาง “กำลังใจโมเดล” ในพระราชดำริของพระองค์ภา โดยหวังว่าโครงการนี้นอกจากจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อผู้พ้นโทษในการหางานและริเริ่มอาชีพของตนเองในช่วงวิกฤตโควิดแล้ว ยังจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สตรีทฟู้ดของไทยเพื่อเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นอีกด้วย” ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว

ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เล่าว่า “ผู้พ้นโทษส่วนมากไม่สามารถสมัครงานตามโรงงาน เพราะมีประวัติอาชญากรรม ดังนั้น อาชีพสุจริตที่ผู้พ้นโทษหลายคนมุ่งไป คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ใช้ต้นทุนไม่มาก หลายคนมีอาชีพขายอาหารริมทางอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ อาชีพนี้จึงยังมีพื้นที่ให้ผู้พ้นโทษได้มีที่ยืนและสร้างอาชีพของเขาได้ ร้านอาหารริมทางที่รสชาติดีและปลอดภัย จึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษนำไปประกอบอาชีพได้”

ผศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เมืองนวัตกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หัวหน้าทีมวิชาการด้านโภชนาการ ซึ่งนำคณาจารย์จาก สจล. มาสอนการทำอาหาร Street Food ถึงในเรือนจำกลางราชบุรี บอกว่า สจล. มีนโยบายที่จะยกระดับ Street Food ของไทย ซึ่งโด่งดังระดับโลกอยู่แล้วให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยในการบริโภค เมื่อได้คุยกับทาง TIJ ว่า กลุ่มผู้พ้นโทษ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการโอกาสเช่นนี้ จึงมีข้อตกลงร่วมกันที่จะเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ โดยการสอนสูตรทำอาหารริมทางที่สามารถนำไปขายได้จริง และเน้นว่าต้องเรียนเกี่ยวกับหลักสูตรอาหารสะอาดและอาหารปลอดภัยด้วย เพราะการนำไปขายก็ต้องมีคุณภาพ เพื่อการยกระดับ Street Food เช่นกัน

“เรื่องความปลอดภัยของอาหาร เราตามไปถึงบ้าน เพราะการก่อให้เกิดความสกปรก แต่ละบ้านไม่เหมือนกัน เราจะไปชี้ให้เห็นว่าอันนี้คือสิ่งที่จะทำให้อาหารไม่สะอาด คุณต้องปรับตรงนี้ เราต้องทำแบบนี้ ไม่อย่างนั้น การยกระดับร้านอาหาร Street Food ก็ไม่เกิด และที่สำคัญเวลาเขาขายจริง เราต้องไม่ทิ้งเขา อย่างวันนี้สอนเสร็จ ไปทำจริงที่บ้าน อุปกรณ์ไม่ใช่แบบนี้ เขาอาจแก้ปัญหาไม่ได้ เราอาจต้องไปช่วยเพื่อให้มันใช่สำหรับเขา มันน่าจะมีการต่อยอดตรงนี้อีก เช่น รถเข็น Hygiene ที่มีระบบทุกอย่างพร้อมให้เขาประกอบอาชีพ แต่เราต้องมาคุยว่ารถเข็นที่เราอยากให้เขาไปประกอบอาชีพต้องสะอาด ปลอดภัย หลังจากนั้นเขาจะโตเองได้”

หลังผ่านการอบรมในวันแรก ซึ่งเป็นการสอนทำ “ซอสหม่าล่า” และ “เกี๊ยวซ่า” หนึ่งในผู้เข้าอบรมอย่าง “จอย” บอกว่า เธอจะได้นำองค์ความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่พ้นโทษมา เธอก็รอมาตลอดว่าจะมีโครงการอะไรเข้ามาช่วยเหลือบ้างหรือไม่ จนกระทั่งทางเรือนจำติดต่อมา เธอจึงไม่ลังเลที่จะขอสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ทันที และได้วางแผนไปแล้วว่าหากได้รถเข็น Hygiene มา จะนำไปเปิดร้านที่ตลาดนัดแถวบ้าน

“โครงการ Street Food สร้างโอกาส” จะสามารถเพิ่มโอกาสให้กับผู้พ้นโทษที่มีศักยภาพอีกเป็นจำนวนมากถ้าสามารถผลิตรถเข็น Hygiene ได้ในจำนวนที่มากขึ้น มีทำเลการจำหน่ายสินค้าที่ดี ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย หรือได้รับการสนับสนุนในด้านอื่นๆ ผู้ที่เคยก้าวพลาด ก็จะมีโอกาส มีอาชีพที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ไม่ต้องวนกลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีก

โดยภาคเอกชนที่สนใจสนับสนุนโครงการนี้ สามารถติดต่อได้ที่ “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย”

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image