ห้องเรียนของพรุ่งนี้ เมื่อโลกเรียกร้อง‘ทักษะ’ มากกว่าใบปริญญา?

ห้องเรียนของพรุ่งนี้ เมื่อโลกเรียกร้อง‘ทักษะ’ มากกว่าใบปริญญา?

เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับวงการศึกษาไทยโดยบุกยึดพื้นที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการแล้วถึง 2 ครั้ง เป่านกหวีดเรียนเชิญรัฐมนตรีมานั่งคุยในบรรยากาศจี้รีสตาร์ตเอดูเคชั่น ระบายความอัดอั้นที่ชีวิตต้องเผชิญ ไม่เพียงกฎระเบียบมากมาย หากแต่รวมถึงความหวั่นใจต่ออนาคตจึงต้องออกมาต่อสู้เพื่อตัวเอง

ประถม มัธยม อุดมศึกษา คือแพตเทิร์นมาตรฐานที่ต้องเดินเรียงแถว ทว่าในเทรนด์โลกอนาคต ใบปริญญาอาจไม่สำคัญเท่าทักษะในการทำงานจริง

‘เด็กที่เกิดวันนี้อาจจะประกอบอาชีพที่ยังไม่มีอยู่จริงในวันนี้ก็ได้’

“การศึกษาอาจไม่เป็นแพตเทิร์นเดิมๆ ที่จบจากประถมแล้วต่อมัธยม แล้วก็เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพราะเด็กจำนวนหนึ่งมองว่าสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยการฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานจริงกับภาคธุรกิจ

Advertisement

คนจะให้คุณค่ากับทักษะ กระบวนการความคิดมากกว่าปริญญา หรืออย่างอาชีพในอนาคตก็จะเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่คนยุคเก่าไม่รู้จัก เด็กที่เกิดวันนี้อาจจะประกอบอาชีพที่ยังไม่มีอยู่จริงในวันนี้ก็ได้ นี่คือโจทย์ที่ท้าทาย และการศึกษาต้องปรับให้เท่าทัน” คือความเห็นของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในบทบาทนำหรือเป็นต้นแบบของการนำสถาบันการศึกษามารับใช้สังคมในยุคโควิด-19

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ

รศ.เกศินี ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ทั่วโลกให้น้ำหนักไปที่ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” เพราะการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้เห็นทิศทาง เทรนด์ ทักษะ และความต้องการในโลกอนาคต โดยเฉพาะสายงานด้านการบริหารธุรกิจ

“ในโลกอนาคต คนอาจไม่ได้ต้องการปริญญา แต่ยังต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยต้องให้ทางเลือกและเครื่องมือแก่ผู้เรียน เช่น ในช่วงแรกให้เขาเรียนในภาพกว้างอย่างรอบด้านก่อน เมื่อผู้เรียนชัดเจนในตัวเองขึ้นอาจค่อยลงลึกในบางสาขาวิชา

Advertisement

“เด็กบางคนเขายังไม่รู้หรอกว่าต้องการเรียนอะไร เขาขอแค่สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ธรรมศาสตร์ก็เลยเปิดหลักสูตรที่เรียกว่า frontier school คือนักศึกษายังไม่ต้องเลือกคณะหรือหลักสูตร เราเปิดโอกาสให้เรียนไปก่อน 3-4 ภาคเรียน แล้วค่อยเลือกว่าตัวเองจะเรียนคณะใด ซึ่งจะช่วยให้เขาค้นพบตัวเอง ค้นพบความถนัด และต่อยอดไปในอนาคตได้” รศ.เกศินียกตัวอย่าง

เลิกซอยสาขา ‘ยิบย่อย’ ต้องปรับโครงสร้างยุบรวม ‘ผสมผสาน’

นอกจากนี้ ยังเทียบเคียงให้เห็นภาพอีกว่า โลกอนาคตเป็นโลกที่ต้องมีความยืดหยุ่นสูง นักศึกษาบางคนอาจจะเรียนแล้วหยุดชั่วคราว หรือเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มหาวิทยาลัยต้องเข้าใจธรรมชาตินี้และปรับตัวให้สอดคล้อง

“ธรรมศาสตร์จะมีหลักสูตร Gen Next Academy ที่เรียนผ่านออนไลน์ ผู้เรียนสามารถเรียนแล้วเก็บหน่วยกิตเป็นเครดิตแบงก์เอาไว้ได้ ไม่ต้องเรียนต่อเนื่องจนจบทีเดียว นี่เป็นตัวอย่างของการให้เครื่องมือและทางเลือกแก่ผู้เรียน

ท้ายที่สุด การศึกษาในโลกอนาคตคงหนีไม่พ้นความเชื่อมโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันนี้ โดยการนำ AI เข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างขั้นพื้นฐานทั้งหมด ตลอดจนจัดตั้งศูนย์เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนเข้ามาเรียนรู้ในด้านนี้ ซึ่งเป้าหมายในระยะสั้นของธรรมศาสตร์ก็จะก้าวไปสู่การเป็น AI University ด้วยเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้สอดรับกับกรอบแนวคิด Defining the Future ในการบริหารตลอดมา” อธิการบดีธรรมศาสตร์กล่าว

แน่นอนว่า เพื่อให้สอดคล้องกับโลก ในส่วนของมหาวิทยาลัยย่อมจำเป็นต้อง “ปรับโครงสร้าง” ทั้งการบริหารและการเรียนการสอนใหม่

รศ.เกศินีมองว่า เนื่องจากโลกปัจจุบันเรียกร้องทักษะที่รอบด้าน การศึกษาจึงไม่ควรซอยเล็กซอยน้อยเป็นสาขายิบย่อยแบบทุกวันนี้ แต่จะต้องให้ภาพที่เป็นองค์รวม เป็นภาพ macro ฉะนั้นแต่ละภาคแต่ละคณะอาจต้องมีการยุบรวม หรือผสมผสานกันมากขึ้น

“สำหรับวิธีการเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การอ่านจากตำราหรือเรียนรู้ด้วยตัวเองอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการปฏิบัติงานจริง ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนทั้งโลก ที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ lifelong learning”

ลุยเชิงลึก ออกแบบหลักสูตรใหม่ เครือข่ายอาเซียน เชื่อมโลก

มองเทรนด์โลกอนาคตแล้ว ต้องหันมองสถาบันชั้นนำของโลกที่เกี่ยวข้องด้วย ดังเช่น องค์กรรับรองมาตรฐานการศึกษาสหภาพยุโรป หรือที่รู้จักกันในชื่อ EFMD (European Foundation for Management Education) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับโลกด้านบริหารธุรกิจ เคียงคู่มากับ AACSB มาตรฐานจากสหรัฐอเมริกา และ AMBA มาตรฐานจากสหราชอาณาจักร โดยยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 องค์กรนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็น หรือ 3 มงกุฎ หรือ Crown ด้าน Business School

และเมื่อไม่นานมานี้ EFMD ก็เพิ่งแต่งตั้งให้ รศ.เกศินี เป็น EFMD Fellow หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญ ที่จะนำมาสู่ความเข้มแข็งของภาคธุรกิจในประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ว่าใครจะเข้าเป็นสมาชิกของ EFMD ได้ เพราะทาง EFMD จะเป็นผู้คัดเลือกจากมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพและสามารถทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันในระดับโลกได้เท่านั้น ส่วนการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ก็จะยิ่งได้ทำงานร่วมกันในเชิงลึก ช่วยกันออกแบบหลักสูตรและองค์ความรู้ทางธุรกิจเพื่อนำไปปรับใช้ทั่วโลก

ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปิดกว้าง และการจัดการเรียนการสอนโดยสถาบันชั้นนำทั่วโลก กลับมีไม่ถึง 1% ที่ได้รับการรับรองทั้ง 3 มาตรฐาน ทว่า Business School ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้าทั้ง 3 มงกุฎ (Triple Crown) มาครอบครองซึ่ง EFMD ก็คาดหวังให้ธรรมศาสตร์เป็นเครือข่าย หรือเป็น Hub ของอาเซียน ที่จะไปเชื่อมโยงกับองค์กรภาคธุรกิจ ตลอดจนสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านการบริหารธุรกิจ เพื่อให้ก้าวไปสู่คุณภาพในระดับนานาชาติด้วยกัน

พัฒนาพื้นที่ รับใช้สังคม ไม่เลือกปฏิบัติ

นอกเหนือจากหลักสูตร วิธีคิด และโครงสร้างสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องโลกแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่กล่าวถึงกันมาก โดยมีมหาวิทยาลัยบางแห่ง หรือหลายแห่งประสบปัญหา หรืออยู่ใจกลางปัญหาก็คือ ‘การพัฒนาพื้นที่’ อันสืบเนื่องมาจากการเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อนของกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรที่แสนแออัด ถนนทุกสายแน่นขนัดไปด้วยการจราจรที่คับคั่ง ปัญหามลพิษ ฝุ่นละออง ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตผู้คน

ที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนมากได้ออกมาท้วงติงนโยบายรัฐ โดยเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะชะลอหรือหยุดการเติบโตของกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ “เมืองส่วนขยาย” หรือพื้นที่ชานเมือง (Sub-Urban) รับหน้าที่นี้แทน ดังเช่นในพื้นที่ตอนบนของ กทม.ที่พรั่งพร้อมด้วยโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชน และยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่มีทั้งทรัพยากร ตลอดจนพื้นที่ที่กว้างขวาง

รศ.เกศินี มั่นใจว่า ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับกิจกรรมขนาดใหญ่ของคนจากพื้นที่ภาคกลางตอนบน ทั้งปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฯลฯ ได้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของกรุงเทพฯชั้นในได้

“กิจกรรมขนาดใหญ่ในที่นี้ หมายถึงการจัดมหกรรมการประชุม นิทรรศการขนาดยักษ์ คอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ระดับประเทศ เทียบเท่าสเกลงานที่จัดในเมืองทองธานี”

อธิการบดีธรรมศาสตร์ระบุด้วยว่า จุดชี้ขาดที่ทำให้ธรรมศาสตร์มีศักยภาพในการรองรับคนจากภาคกลางตอนบน คือการบูรณะและสร้าง “กิติยาคาร” อาคารที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายในประกอบด้วยหอประชุมใหญ่ ขนาดความจุ 3,500 ที่นั่ง ห้องประชุมขนาดกลาง ห้องสัมมนาขนาดเล็ก นิทรรศการถาวร “ธรรมประภา” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทรงงานด้านความยุติธรรม การช่วยเหลือผู้ต้องหาให้เข้าถึงหลักนิติธรรม (Rule of Law) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของอดีตผู้ต้องขังหญิง โครงการกำลังใจเพื่อให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส

นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับ อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่มีทั้งลานขนาดใหญ่ Concert Hall ห้องสมุดประชาชน Co-working Space พื้นที่ urban farming ฯลฯ

ย้อนกลับไปในปี 2554 ท่ามกลางวิกฤตการณ์อุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ กิติยาคารซึ่งขณะนั้นยังเป็นอาคารยิมเนเซียม 2 ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเสมอหน้าโดยไม่เลือกปฏิบัติมาแล้ว ด้วยการเป็น “ศูนย์พักพิงชั่วคราว” บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยมากกว่า 1,500 ชีวิต ภายใต้ 2 แนวคิดหลักคือ ความยั่งยืนและความยุติธรรมซึ่งไม่อาจแยกขาดจากกันได้

รศ.เกศินีระบุว่า กิติยาคารมีความเป็นมา และสายสัมพันธ์ผูกโยงอย่างเป็นเนื้อเดียวกับประชาชน เป็นอาคารที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอหน้า เท่าเทียม

“ธรรมศาสตร์มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ ด้านหนึ่งเราตั้งใจจะสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ จ.ปทุมธานี-นวนคร เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศไทย อีกด้านหนึ่งเราเต็มใจที่จะใช้พื้นที่ของเราบรรเทาปัญหาของ กทม. เพื่อรับใช้สังคมในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”

ทั้งหมดนี้ คือแนวคิดน่าสนใจยิ่ง ส่วนความร้อนแรงในแวดวงการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองเรื่องกฎกระทรวงและอื่นๆ อีกมากมาย ยังต้องติดตามแบบเผลอกะพริบตาไม่ได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image