ศจย.จับมือภาคีเครือข่ายเดินหน้าโครงการธรรมศาสตร์ไร้ควันบุหรี่ปกป้องเยาวชน

ศจย.จับมือภาคีเครือข่ายเดินหน้าโครงการธรรมศาสตร์ไร้ควันบุหรี่ปกป้องเยาวชน

 

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ และโครงการสนับสนุนและสื่อสารการขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ (ทีมชวนช่วยเลิกบุหรี่) จัดโครงการธรรมศาสตร์เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่ปกป้องเยาวชนและคนรุ่นใหม่จาก “นิโคติน” หรือ TU No Tobacco โดยมี ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการ ศจย. เป็นประธานเปิดงาน

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ทีมชวนช่วยเลิกบุหรี่ โครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ภายใต้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการร่วมกันสร้างกระแสผ่านกิจกรรมของคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติที่จะถึง?ในวันที่ 20 กันยายน?ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสในวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2020 ขององค์การอนามัยโลกที่ว่า “ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ ป้องกันพวกเขาจากยาสูบและการใช้นิโคติน” รวมทั้งขยายเครือข่ายโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ และสร้างกระแสรณรงค์การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มนักศึกษา ??ให้สังคมรับรู้ถึงอันตรายและกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบในการแสวงหานักสูบหน้าใหม่ซึ่งมุ่งเป้าไปที่เยาวชน

การจัดงานในครั้งนี้ มีการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย อันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ขั้นตอนในการเลิกบุหรี่ โดยนางสาวชาลินี สุขสว่าง นักสุขศึกษา คลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนางสาวพร้อมพร พันธุ์โชติ จาก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายศุภวิชญ์ สันทัดการ จาก สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาววัชนันท์ นันทผาสุก จาก TUTV
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาวิชาการหัวข้อ ธรรมศาสตร์ปกป้องเยาวชนและคนรุ่นใหม่จากภัย นิโคตินในประเด็น บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการควบคุมบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า โดย ภก.คทา บัณฑิตานุกูล รองประธานเครือข่ายโครงการสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาวะ กลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบในการล่อลวงเยาวชน โดย ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ขาโจ๋นอกโรงเรียน เหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า โดย ผศ.ดร.วรรณภา นาราเวช อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พลังเยาวชนป้องกันวัยจ๊าบจากบุหรี่” โดย อ.ดร.สุภา วิตตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

Advertisement

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นที่สิ่งที่ดีมากในการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศจย. พร้อมสนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายนนี้ เป็นวันที่มีความสำคัญมาก เพราะเด็กและเยาวชนถือเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งจากการสำรวจเด็กและเยาวชนทั่วโลกขององค์การอนามัยโลกพบว่า เยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 และมีเด็กถึง 1 ใน 5 คนที่เริ่มสูบบุหรี่อายุก่อน 10 ปี ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ขณะที่ภัยอีกด้านคือบุหรี่ไฟฟ้าก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยบุหรี่ไฟฟ้านั้นผู้ที่สร้างเป็นบริษัทยาสูบ ไม่ใช่แพทย์ ดังนั้นจึงมองว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทำมาเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทบุหรี่ ไม่ได้ช่วยลดการเสพติดสูบบุหรี่ได้อย่างที่มีการอ้างไว้ ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่บ่งชี้ได้ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีสารเสพติดที่สำคัญคือ นิโคติน ส่งผลต่อสมองกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ดี และทำให้เกิดการเสพติดได้ เพื่อเกิดภาวะขาดสารนิโคตินก็จะมีอาการต่างๆ ต่อร่างกาย และส่งผลให้สมองตายในภายหลังได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ แม้ว่าจะมีผู้แสดงความอยากเลิกสูบบุหรี่โดยรวมถึงร้อยละ 30 แต่ในเด็กและเยาวชนกลับมีอัตราที่น้อยมาก เนื่องจากการโหมกระแสของบริษัทบุหรี่ที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น พร้อมขอให้เด็กและเยาวชนทุกคนช่วยกันสร้างกระแสให้เห็นถึงความสำคัญของการลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รู้เท่าทันถึงอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งกิจกรรมเสวนาในวันนี้จะทำให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของการงดสูบบุหรี่ต่อไป

ภก.คทา บัณฑิตานุกูล รองประธานเครือข่ายโครงการสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า ได้ขับเคลื่อนโครงการสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีโครงการคณะนิติศาสตร์ปลอดบุหรี่ ที่เป็นการประสานงานระหว่างนักศึกษาและผู้บริหารคณะจนทำให้เกิดโครงการที่เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ จากข้อมูลในระบบการดูแลและติดตามการสูบบุหรี่ในสถานศึกษามากกว่า 37,000 แห่ง พบว่า มีนักเรียนนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด 62,807 คน หรือร้อยละ 1.33 ของจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับการสำรวจทั้งหมด แต่เมื่อจำแนกลงไปในถึงสารเสพติดแต่ละประเภทแล้วพบว่า เป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ 21,443 คน หรือ ร้อยละ 31.14 สูบบุหรี่ 27,220 คน หรือร้อยละ 43.33 และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ร่วมกับสูบุบหรี่ 14,144 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.51 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ประมาณร้อยละ 7-8 ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก ขณะที่การสำรวจนักศึกษา 330,018 คน ภายในมหาวิทยาลัย 35 แห่ง พบว่า เกี่ยวข้องกับสารเสพติด 35,933 คน คิดเป็นร้อยละ 10.89 เป็นเพศชายสูบบุหรี่ ร้อยละ 11.39 เพศหญิงสูบบุหรี่ร้อยละ 6.7
ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า เพศชายดื่ม ร้อยละ 32.71 เพศหญิงดื่มร้อยละ 35.21 และพบว่าเพศชายที่ทั้งสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกฮออล์ ร้อยละ 7.95 และเพศหญิงที่ทั้งสูบบุหรี่ดื่มและดื่มเครื่องดื่มแอลกฮออล์ร้อยละ 6.04 ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD มากขึ้น โดยมียาสูบเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดโรค ที่มีผู้ป่วยกว่า 70,000 คนต่อปี ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก ต้องตั้งเป้าหมายลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยในปี 2568 จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 15

ขณะที่สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะพบว่าเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 30.5 เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสูงถึงร้อยละ 61 ประเด็นเหล่านี้ทำให้ได้เห็นว่า บุหรี่ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวเยาวชน มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนในระยะยาว

ทั้งนี้ เครือข่ายได้พัฒนาโครงการมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ปลอดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะแรกโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ 2557-2559 มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 52 แห่ง ระยะที่สองคือ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน ปี 2559 – 2561 มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 124 แห่ง และสุดท้ายการโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ เพื่อสุขภาวะ 2561 – 2563 มีสถาบันเข้าร่วมทั้งหมด 164 แห่งแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้น โดยมียุทธศาสตร์ที่ทำตามแผนของการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ทั้งการเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมยาสูบ พร้อมๆกับการป้องกันไม่ให้เกิดผู้สูบรายใหม่ ร่วมกับการช่วยให้ผู้สูบเลิกใช้ยาสูบผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร และสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่ พร้อมแนะว่า การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อปลอดบุหรี่สำคัญอย่างมาก โดยต้องจัดพื้นที่เพื่อให้มีการสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ เขตสูบบุหรี่ต้องอยู่นอกอาคาร ไม่อยู่ในบริเวณทางเข้าออก เกิดพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน พร้อมกับการขยายแผนงานของนักศึกษาในการพัฒนาการเลิกสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง

“มองว่าการติดสารเสพติดที่มีมาจากหลายด้าน ทั้งติดจากสารในสมอง ติดจากความเคยชิน โดยมีข้อสำคัญคือการติดจากจิตวิญญาณ ที่บางคนขาดคุณค่าของตนเอง มองไม่เห็นถึงความสำคัญของตนเอง ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากการเสพติดสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ ซึ่งได้เสนอแนะให้มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ที่ให้คนที่อยู่เคียงข้างในฐานะต่างๆ ทั้งผู้ปกครอง เพื่อน แฟน เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือเพื่อเลิกสูบบุหรี่ ผ่านการให้กำลังใจและดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการศึกษาจากตุรกีมาแล้ว”ภก.คทา กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนางสาวชาลินี สุขสว่าง นักสุขศึกษาคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าว่า มีความอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา เพราะทั้งสองอย่าง เป็นการสิ่งที่นำสารแปลกปลอมเข้าสู่ปอด ดังนั้นก่อนที่จะมีอาการป่วยต่าง ๆ จากบุหรี่ จึงต้องมีคลินิกให้คำปรึกษา เพื่อให้กำลังใจในการเลิกสูบบุหรี่สำหรับผู้ที่อยากเลิก ซึ่งขณะนี้เริ่มมีคลินิกเลิกบุหรี่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดห้องให้คำปรึกษาในพื้นที่ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในวันและเวลาราชการ และพื้นที่ well being โดยให้ปรึกษาทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของเดือน ในเวลา 16.00 – 20.00 น.

 

 

 

นางสาวชาลินี สุขสว่าง นักสุขศึกษาคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

ภก.คทา บัณฑิตานุกูล รองประธานเครือข่ายโครงการสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาวะ

 

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการ ศจย.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image